ภาระหนี้ครัวเรือนจากมุมมองข้อมูลการสำรวจครัวเรือน

ภาระหนี้ครัวเรือนจากมุมมองข้อมูลการสำรวจครัวเรือน

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประการหนึ่งของเศรษฐกิจไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายผ่านการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน

สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 51% ในปี 2551 มาอยู่ที่ 80% ในปี 2558 (รูปที่ 1) ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จนทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อผลกระทบที่อาจมีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ภาระหนี้ครัวเรือนจากมุมมองข้อมูลการสำรวจครัวเรือน

อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ได้ทยอยลดลงมาอยู่ที่ 78% ณ สิ้นปี 2560 โดยสินเชื่อภาคครัวเรือนยังขยายตัวเป็นบวกอยู่ แต่ในอัตราที่ต่ำกว่า GDP หรือที่เรียกว่า กระบวนการ passive deleveraging ซึ่งสะท้อนการปรับตัวของครัวเรือนที่มีหนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ผ่านกลไกการลดการใช้จ่ายและการก่อหนี้ และการเพิ่มการออมเพื่อชำระภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ กลไกการซ่อมแซมงบดุลของภาคครัวเรือนผ่านการลดหนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น เป็นการปรับตัวที่จำเป็นหลังจากที่หนี้ขยายตัวเร็วกว่ารายได้มาหลายปี และจะส่งผลดีต่อฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจโดยรวมในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การใช้สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP เพื่อเป็นเครื่องชี้สะท้อนพัฒนาการการปรับตัวของภาคครัวเรือนที่มีหนี้ของไทยนั้น อาจให้ภาพที่ไม่ครบถ้วนและคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่ใช้เป็นข้อมูลสินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนจากระบบสถาบันการเงิน แต่ไม่รวมหนี้ที่ถูก write off แต่ยังเป็นภาระหนี้ของลูกหนี้อยู่ รวมทั้งไม่รวมหนี้นอกระบบด้วย  ในส่วนของ GDP ก็จะรวมรายได้ของทั้งครัวเรือนที่มีและไม่มีหนี้ และที่สำคัญ สัดส่วนรายได้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยมีแนวโน้มลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จึงทำให้ตัวเลขการขยายตัวของ GDP อาจสูงกว่าการขยายตัวของรายได้ภาคครัวเรือนอีกด้วย ซึ่งเป็นไปได้ที่เราจะเห็นว่าแม้ GDP จะเติบโตดีและทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลง แต่แท้จริงแล้วหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือนอาจไม่ลดลงก็เป็นได้

ภาระหนี้ครัวเรือนจากมุมมองข้อมูลการสำรวจครัวเรือน

ในประเด็นนี้ อีไอซีได้นำข้อมูลระดับจุลภาคจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนทั่วประเทศในปี 2560 จำนวน 43,210 ครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลการสำรวจครั้งก่อนหน้าในปี 2558 เพื่อให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงด้านฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนไทยที่ชัดเจนขึ้น พบข้อสรุปที่น่าสนใจ ดังนี้ 

  1. ค่าเฉลี่ยสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือนที่มีหนี้ปรับเพิ่มขึ้นในภาพรวมและในทุกกลุ่มรายได้ค่าเฉลี่ยโดยรวมของกลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้เพิ่มขึ้นจาก 76% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 89% ในปี 2560 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของทุกกลุ่มรายได้ โดยเป็นผลจากทั้งการเพิ่มขึ้นของหนี้และการลดลงของรายได้ ในภาพรวม หนี้สินของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 13% ขณะที่รายได้ลดลง 1% โดยมีเพียงกลุ่มครัวเรือนรายได้สูงที่มีรายได้มากกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือนเท่านั้นที่มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ขณะที่ในกลุ่มครัวเรือนที่เหลือต่างมีรายได้เฉลี่ยน้อยลงทั้งสิ้น (รูปที่ 2)
  2. สัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวมของครัวเรือนที่มีหนี้ (ได้แก่ สินทรัพย์ทางการเงินบวกกับสินทรัพย์อื่นๆ เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เป็นต้น) โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก43% มาเป็น 59% ซึ่งยังต่ำกว่า 100% แสดงว่า โดยเฉลี่ย ครัวเรือนที่มีหนี้มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน แต่สัดส่วนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มรายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อยที่สัดส่วนสูงขึ้นมาก สะท้อนกันชนทางการเงินของครัวเรือนในการรองรับความเสี่ยงที่ลดลง (lower financial cushion)
  3. ฐานะทางการเงินของครัวเรือนกลุ่มรายได้สูงที่ไม่มีหนี้ปรับดีขึ้นกว่าทุกกลุ่มโดยครัวเรือนที่รายได้สูงกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือนและไม่มีหนี้มีรายได้และสินทรัพย์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นชัดเจนเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งมีรายได้และสินทรัพย์โดยเฉลี่ยลดลง  

ข้อมูลจากการสำรวจครัวเรือนชุดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ผลประโยชน์ของการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังกระจายตัวไม่ทั่วถึงนัก โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อยและปานกลาง เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติและราคาสินค้าเกษตรต่ำกว่าในอดีต หรือกลุ่มแรงงานที่รายได้จากทั้งค่าแรงและค่าจ้างล่วงเวลาที่ค่อนข้างซบเซา ซึ่งบางส่วนเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น การใช้หุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีแทนแรงงาน ทำให้ในกลุ่มนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เพิ่มเพื่อการใช้จ่ายเพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลง ขณะที่กลุ่มรายได้สูงยังมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และมีความเชื่อมั่นที่จะกู้เงินซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ ส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนรถเก่าที่ซื้อในช่วงโครงการรถคันแรก และเป็นสาเหตุที่ทำให้ยอดขายสินค้าคงทนเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ดังนั้น ภาวะการปรับลดภาระหนี้ต่อรายได้หรือ deleveraging อาจยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะกับครัวเรือนรายได้น้อย ซึ่งหมายถึง ภาระหนี้จะยังเป็นปัจจัยถ่วงของการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน รวมถึงภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้ต่อรายได้ในระดับสูงจะมีความเปราะบางต่อความผันผวนของเศรษฐกิจที่จะเข้ามากระทบในอนาคต อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องและในอัตราที่เร่งตัวขึ้น รวมทั้งสัญญาณการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ก็เป็นปัจจัยบวกที่น่าจะสนับสนุนให้ฐานะทางการเงินและการใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีหนี้ปรับดีขึ้นบ้างในระยะต่อไป

ในเชิงนโยบาย มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของภาครัฐในลักษณะมุ่งเป้าหมายไปยังครัวเรือนรายได้น้อยยังเป็นสิ่งจำเป็นในระยะสั้น แต่ปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหานี้ครัวเรือนที่ต้นเหตุ ก็คือ มาตรการที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน ผ่านการเพิ่มทักษะเพื่อยกระดับผลิตภาพในการผลิตของแรงงานและเกษตรกรไทย ควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงิน ตลอดจนกลไกการบริหารจัดการหนี้รายย่อย เพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ