อนาคตยูโรและยุโรป ตอนที่ 12

อนาคตยูโรและยุโรป ตอนที่ 12

Berlusconi ซึ่งเคยเป็นนายกฯ ที่นานที่สุดของอิตาลีแล้วไม่สามารถพลิกฟื้นอิตาลีให้กลับมายิ่งใหญ่ได้ กล่าวหลังจากที่เขาต้องถูกให้ออกแกมบังคับ

จากผู้นำ EU ในปี 2012 โดยอ้างจดหมายที่มุสโสลินีเขียนถึงกิ๊กว่า “Italy is ungovernable.” ใน 73 ปี อิตาลีมี 65 รัฐบาลมันบอกอะไรได้มากมายเกี่ยวกับความพิสดารของการเมืองอิตาลี ตามทฤษฎีเกมการต่อสู้ระหว่างประธานาธิบดี Mattarella ซึ่งเป็นคน ProEurope กับ 2 พรรคประชานิยม คือ พรรค M5S และ LEAGUE นั้นชัดเจนว่าที่ 2 พรรคนี้ในที่สุดต้องยอมไม่ตั้งรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่ต่อต้านยูโร เพราะเขาเป็นรองค่อนข้างมาก แม้จะได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ ประธานาธิบดี Mattarella นั้นเจ้าเล่ห์เจ้ากล Mattarella รู้ดีว่าถ้าจะต้องไปเลือกตั้งใหม่แล้วเป็นเรื่องของการทำประชามติ ถึงตอนนั้นคนอิตาลีอาจจะไม่เลือก 2 พรรคนี้ก็ได้ โดยเฉพาะข้อเท็จจริงเวลานี้ว่า เศรษฐกิจอิตาลีกำลังค่อยๆ ดีขึ้น การส่งออกเติบโตในอัตราที่สูง ดุลการค้าเริ่มเกินดุลและอิตาลีได้ประโยชน์จากการอยู่ในยูโร ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ต้องไม่ลืมว่าอิตาลีมีหนี้ภาครัฐเกิน 130% ของ GDP ถ้าอิตาลีออกจากยูโร ระบบธนาคารและเศรษฐกิจจะพังพินาศ Mattarella ใช้หลักของ Machiavelli ที่ว่า ทำให้คนกลัวดีกว่าทำให้คนรัก เพราะคนรักนั้นเปลี่ยนใจง่าย เขารู้ด้วยว่าทั้ง 2 พรรคนี้จริงๆ แล้วรู้ว่าอิตาลีไม่พร้อมจะออกจากยูโร ผู้เขียนเชื่อว่าตลาดการเงินในที่สุดก็จะอ่านเกมนี้ออก ว่าความยุ่งเหยิงในสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวิกฤติยูโรรอบใหม่ แม้บอนด์ยิลระยะยาวจะขึ้นไป 2-3%

ทั้งคนนอกและคนในอิตาลีต่างก็ยอมรับว่า อิตาลีมีระบบและสไตล์ทางการเมืองไม่เหมือนกลุ่มประเทศยุโรปเหนือ ก่อนทศวรรษ 90 แม้คนอิตาลีจะมีความไว้ใจค่อนข้างต่ำต่อสถาบันทั้งหลายของตนเอง ไม่ไว้ใจระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ รัฐไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างจริงจัง กระบวนการยุติธรรมมีความล่าช้าเป็นพิเศษ แต่อิตาลีก็มีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตมาได้ดีในช่วงหลังสงคราม อย่างน้อยก็ก่อนช่วงกลางทศวรรษ 1990 มีคนให้เหตุผลว่าคนอิตาลีทุกๆ ภาค ทุกๆ อาชีพมีวิธีหนีและเลี่ยงทุกอย่างที่เป็นอุปสรรคและต้นทุนสูงได้ โดยใช้กลไกนอกระบบ ตลาดนอกระบบ รวมไปถึงมาเฟีย ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล คนอิตาลีทั่วไปอาจจะอ่านหนังสือ The Prince ของมาเคียเวลลี แล้วดำเนินชีวิตแบบมีเล่ห์มีกลก็เยอะ ไม่ต้องดูอื่นไกลในเกมฟุตบอลยังมีวิธีเอาชนะคู่แข่งด้วยกลเม็ดหรือมายาเหมือนมีการล้มฟุตบอลได้ ขนาดทีมระดับท็อปอย่างยูเวนตุสยังเคยถูกลดระดับลงมาเล่นระดับล่างเพราะข้อหาการทุจริต

มาถึงวันนี้ผู้เขียนคิดว่า คนอิตาลีแม้ไปเลือกตั้ง ก็คงไม่ได้ให้น้ำหนักหรือความหวังแก่การเมืองอีกต่อไปแล้ว เพราะได้เปลี่ยนและลองของใหม่ๆ อยู่เรื่อยมาใน 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อพรรคเก่าที่เคยบริหารประเทศมากว่า 40 ปี ล้วนตายสาบสูญไปหมดหลังปี 1994 เช่น พรรค Christian Democrat และพรรคสังคมนิยม เป็นต้น คนอิตาลีลองมาทุกกระแสหรือขั้ว เช่นพรรคอนุรักษ์กระแสกลางเอียงซ้าย รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยม แรกๆ ก็ตื่นเต้นและมีความหวังกับพรรค Forza Italia ของ Berlusconi แต่กว่า 10 ปีก็พบว่าเขาไม่มีน้ำยา คนอิตาลีในอดีตได้เคยทดลองการเมืองเอียงขวาสุดขั้วแบบเผด็จการของฟาสซิสต์ และได้กำลังลองพรรค Populist ในขณะนี้การเมืองอิตาลีจึงเหมือนกระแสในยุโรปส่วนใหญ่ที่กระแส Populist เอียงขวากำลังรุ่งในหลายๆ ประเทศในยุโรป

ประวัติศาสตร์ของคนอิตาลีบอกเราว่า พวกเขาต้องแบกรับความทุกข์จากการกดขี่ของเจ้าที่ดิน ทุกข์ที่มากับความยากจน (โดยเฉพาะทางใต้ของ Rome ลงมา) ต้องทนทุกข์กับความอยุติธรรม ทุกข์กับการครอบงำของต่างชาติ (เช่น จักรวรรดิโรมัน อิสลาม พวก Norman ออตโตมาน ฝรั่งเศส สเปน เยอรมนี อังกฤษ Habsburg ออสเตรีย หรือแม้กระทั่งฝ่ายพันธมิตรช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1943-1945) มาเคียเวลลี ในช่วงรับราชการที่ Florence เขารักชาติและคงอดที่จะหดหู่ใจไม่ได้ที่อิตาลีซึ่งแต่ละเมืองมีศักยภาพ แต่ทั้งประเทศแตกแยกเป็นเบี้ยหัวแตก เพราะต้องอยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติ ในสภาพเช่นนี้เป็นเวลาหลายร้อยปี คนอิตาเลียนส่วนใหญ่คงเคยชินกับความคิดที่ว่าตัวเองไม่สามารถกำหนดชะตากรรมชีวิตของตนได้เอง ประชาธิปไตยของอิตาลียังต้องพึ่งระบบราชการค่อนข้างมาก คณะรัฐบาลอดีตบ่อยครั้งต้องแก้สถานการณ์โดยเอาคนนอกซึ่งมักเป็นเทคโนแครตมาเป็นนายก แม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังถูกเยอรมนียึดครองทางเหนือ โดยฝ่ายพันธมิตรเข้ามายึดครองทางใต้ แม้กระทั่ง Berlusconi ซึ่งเป็นนายกฯ ที่นานที่สุดของอิตาลีก็ยังไม่ใหญ่เท่ากับผู้นำของอียู ที่สามารถทำให้เขาออกจากนายกฯ ในปี 2012 เพื่อแก้วิกฤติของอิตาลี นี่เป็นเพียงบางตัวอย่าง

นอกจากครอบครัวแล้ว ไม่มีใครสถาบันไหนทั้งในและนอกที่คนอิตาลีจะให้ความไว้วางใจได้ ทุกอย่างจึงเหมือนเป็นวัฏจักรของความชั่วร้าย สถาบันไม่ได้รับการยอมรับก็ต้องใช้พระเดชมากกว่าพระคุณ ใช้อำนาจนิยม ผู้ปกครองมักต้องอ้างกฎหมายกำกับควบคุมมากเกินความจำเป็น ศาสนจักร (โรมและสันตะปาปา) กับรัฐ (กษัตริย์ เจ้าครองนคร หรือจักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) ขัดแย้งกันรุนแรงเรื่อยมาในประวัติศาสตร์ แม้อิตาลีรวมชาติได้สำเร็จในปี 1861 ทางใต้อยู่ในภาวะจำยอมเหมือนถูกมัดมือชกจะไม่เอาด้วย เพราะฉะนั้นการรวมชาติไม่ได้มีพื้นฐานของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มันนำโดยชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งจาก Piedmont ทางเหนือ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นอุปสรรคและปัญหาและประชาธิปไตยที่ไม่สามารถเติบโตไปอย่างเป็นธรรมชาติ เปิดโอกาสให้กระแสอำนาจนิยม ฟาสซิสต์โดยผู้นำมุสโสลินี ก่อนมุสโสลินีความพยายามที่จะสถาปนาประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม แต่ก็เผชิญกระแสต่อต้านคัดค้านจากองค์การศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งคนอิตาเลียนกว่า 90% นับถือ ต้องรอจนหลังสงครามโลกไปแล้วที่ศาสนจักรกลัวคอมมิวนิสต์มากกว่ากลัวประชาธิปไตย จึงยอมประนีประนอม (ในช่วงปี 1920 คนรวยและคนชั้นกลางก็เลือกเผด็จการฟาสซิสต์ เพราะเห็นว่าในเรื่องทรัพย์สินเป็นภัยน้อยกว่าคอมมิวนิสต์และสังคมนิยม) อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของศาสนาคาทอลิกไม่สามารถต้านทานพลังการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสมัยใหม่

อิตาลียอมให้มีการหย่า รวมทั้งการทำแท้งได้ตามกฎหมายในช่วงปลายทศวรรษ 70 แม้ว่าวันนี้โดยรวมยังคงมีความอนุรักษ์มากกว่าหลายประเทศ เช่น ยังไม่ยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน