สมาคมการค้า ที่เกี่ยวกับการค้าข้าว

สมาคมการค้า ที่เกี่ยวกับการค้าข้าว

ประเทศไทยปลูกข้าวมีผลผลิตเป็นข้าวสารประมาณ ปีละ 21-23 ล้านตันข้าวสาร บริโภคภายในปีละประมาณ 10-11 ล้านตันข้าวสาร

ที่เหลือส่งออกประมาณปีละ 9-11 ล้านตันข้าวสาร

วงจรการค้าข้าว ที่ไม่รวมถึงขั้นตอนการปลูกข้าวของชาวนา เริ่มจากโรงสีรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา สีเป็นข้าวสาร ขายให้ผู้ค้าปลีกที่ขายให้ผู้บริโภคภายใน ผู้ประกอบกิจการข้าวถุงที่ผลิตข้าวถุงขายให้ผู้บริโภคภายใน และผู้ส่งออกเพื่อส่งออก การขายข้าวของโรงสีให้ผู้ประกอบกิจการข้าวถุง แต่เดิมเป็นการขายตรงระหว่างโรงสีกับผู้ประกอบกิจการ แต่ปัจจุบันเริ่มมีการขายผ่านคนกลางคือ หยง มากขึ้น

การติดต่อซื้อขายข้าวระหว่างผู้ส่งออกและโรงสีผ่านหยง ยังคงมีอยู่ การที่มีข้อเรียกร้องจากบุคคลบางคน ให้ตัดหยงออกจากวงการซื้อขายข้าว เพื่อลดต้นทุนจากค่านายหน้า ณ สภาวะการค้าปัจจุบัน คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากวิถีปฏิบัติของการค้าข้าวที่มีมานาน เพราะการติดต่อซื้อขายผ่านหยงเกิดความสะดวกคล่องตัว มากกว่าการที่โรงสีหรือผู้ส่งออกจะติดต่อซื้อขายกันเองโดยตรง นอกจากนี้หยงยังเป็นแหล่งทุนให้โรงสี ยามจำเป็นต้องหาทุนซื้อข้าวเปลือกในบางช่วงบางเวลา และให้สินเชื่อค่าข้าวแก่ผู้ส่งออกมีเวลาชำระเงินหลังจากรับมอบข้าวเป็นเวลาหนึ่งถึงสองเดือน

จากวงจรขั้นตอนการค้าข้าวดังกล่าวข้างต้น อาจจำแนกผู้ประกอบการค้าข้าวได้เป็น 4 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มผู้ประกอบกิจการโรงสี 2.กลุ่มหยง 3.กลุ่มผู้ประกอบกิจการค้าข้าวเพื่อบริโภคภายใน และ4.กลุ่มผู้ส่งออก

ผู้ประกอบการค้าข้าวกลุ่มต่าง ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมการค้า คือ ผู้ประกอบกิจการโรงสี ได้รวมตัวกัน จัดตั้งสมาคมโรงสีข้าวไทย ผู้ประกอบกิจการเป็นนายหน้าค้าข้าว ระหว่างโรงสีและผู้ ค้าข้าวโดยเฉพาะผู้ส่งออก หรือหยง รวมตัวกันเป็นสมาคมค้าข้าวไทย ผู้ประกอบกิจการค้าข้าวถุง ที่มีลูกค้าคือผู้บริโภคข้าวในประเทศ รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมผู้ประกอบกิจการข้าวถุงไทย ผู้ส่งออกข้าวไปต่างประเทศ รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

สมาคมที่มีบทบาทในการส่งเสริมการส่งออกข้าวไทย ซึ่งก่อตั้งมานานที่สุดในบรรดาสมาคม การค้าที่เกี่ยวกับการค้าข้าว คือสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งมีประวัติการก่อตั้งคือ ในปี พ.ศ.2461 ผู้ประกอบกิจการค้าข้าว ได้รวมตัวกัน จดทะเบียนจัดตั้งสมาคมขึ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ชื่อ สมาคมค้าข้าวสยาม จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย (กรมตำรวจ) มีสมาชิกเป็นผู้ส่งออกข้าวและและค้าภายใน ในปีพ.ศ.2470 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมค้าข้าว ต่อมาในปี พ.ศ.2505เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมพ่อค้าข้าวแห่งประเทศไทย เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติสมาคมการค้าขึ้นบังคับใช้ ในปี พ.ศ.2509 ก็ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมการค้าตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 กับกระทรวงพาณิชย์ ชื่อสมาคมพ่อค้าข้าวแห่งประเทศไทย เช่นเดิม

ในปี พ.ศ.2523 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ (Rice Exporters Association) และเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2551 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย (Thai Rice Exporters Association)

เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ในการขออนุญาตส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้ออกระเบียบกำหนดเงื่อนไขประการหนึ่งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตส่งข้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมการค้าที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการค้าข้าว เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของทางราชการ ด้วยการให้สมาคมควบคุมดูแลสมาชิก ลักษณะควบคุมดูแลกันเอง ไม่ให้มีการกระทำที่เป็นผลเสียหายต่อการส่งออกข้าวของประเทศไทยโดยรวม จึงมีผลให้ผู้ส่งออกข้าวทุกรายต้อง สมัครเป็นสมาชิกของสมาคมสมาคมพ่อค้าข้าวแห่งประเทศไทย และที่เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ ในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ.2539 ฝ่ายการเมืองของกระทรวงพาณิชย์ เห็นว่า การสมัครเป็นสมาชิกสมาคมการค้าเป็นเสรีภาพที่บุคคลจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ ย่อมเป็นไป ตามความสมัครใจ การกำหนดเงื่อนไขกำหนดให้ผู้ส่งออกข้าวต้องเป็นสมาชิกของสมาคมการค้าที่ส่งเสริมการค้าข้าวเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงมีนโนบายให้แก้ไขระเบียบ ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ส่งออกข้าวต้องเป็นสมาชิกสมาคมการค้าดังกล่าวเสีย จึงมีผลให้ผู้ส่งออกข้าวที่จะขอรับใบอนุญาตให้ส่งข้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องเป็นสมาชิกสมาคมก็ได้ ทำให้ผู้ส่งออกหลายราย ลาออกจากการเป็นสมาชิกของสมาคมดังกล่าว เพื่อประหยัดค่าบำรุง สมาชิก

จวบจนบัดนี้ ปี พ.ศ. 2561 สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ตามชื่อในปัจจุบัน ก็มีอายุนับตั้งแต่วันก่อกำเนิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2461 ก็มีอายุครบ 100 ปี เป็นสมาคมการค้าที่มีอายุเกjาแก่อยู่ยงคงกระพันมาได้ ส่วนสำคัญคือความร่วมมือร่วมใจของผู้ส่งออกข้าว ที่เห็นความสำคัญของการส่งออกข้าว บุญคุณของข้าวที่ส่งออก ที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศชาติ และทำรายได้เกิดความมั่นคั่งแก่กิจการของผู้ส่งออก และครอบครัวของผู้ส่งออก

ที่ผ่านมาสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มีบทบาทมีส่วนสำคัญทั้งโดยลำพังตนเอง และที่ร่วมมือกับทางราชการโดยเฉพาะ กระทรวงพาณิชย์ในการส่งเสริมรักษา และเพิ่มตลาดการส่งออกข้าว

บทบาทสำคัญประการหนึ่งของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยในปัจจุบัน คือการได้รับมอบหมายจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นผู้ดำเนินการส่งมอบข้าวที่เป็นการซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ ที่เรียกว่าจีทูจี ของจริง ที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ทำความตกลงขายให้รัฐบาลต่างประเทศ เช่นจีน ฟิลิปปินส์ โดยสมาคมเป็นผู้จัดสรรตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ให้สมาชิกของสมาคมเป็นผู้ดำเนินการส่งมอบให้รัฐบาลต่างประเทศในนามของกรมการค้าต่างประเทศ โดยสมาคมจะเป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลให้สมาชิกที่ได้รับการจัดสรร ส่งมอบข้าวให้เป็นไปตามคุณภาพและเงื่อนไขตามความต้องการของรัฐบาลต่างประเทศดังกล่าว

สมาคมผู้ส่งออกข่าวไทย มีอายุครบ 100 ปี ตัวเลขหนึ่งร้อยปีไม่ใช่ตัวเลขที่แสดงถึงความชราภาพเฉกเช่นอายุของคน แต่เป็นตัวเลขที่แสดงถึงความยั่งยืนยาวนานของนิติบุคคลอันเกิดจากความร่วมมือร่วมใจรวมตัวกันของผู้เห็นความสำคัญของการส่งออกข้าวและบุญคุณของข้าวที่ส่งออก อันสั่งสมด้วยประสบการณ์ทีมีคุณค่า ซึ่งบริหารจัดการโดยผู้บริหารที่ทุ่มเท เสียสละ เอาใจใส่ ทันสมัยทันกาล กับยุคดิจิทัล ที่การค้าการส่งออกข้าวไทยฝากความหวังไว้ ว่าโดยลำพังสมาคมเอง และการร่วมมือกับทางราชการ ที่เกี่ยวข้องจะช่วยส่งเสริม ช่วยให้มีการปรับตัวในการค้าการส่งออกข้าวของไทยให้เจริญรุ่งเรืองเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยรวม