AOT สมบัติชาติ ที่ต้องโปร่งใส

AOT สมบัติชาติ ที่ต้องโปร่งใส

ความฝันของรัฐบาลที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง ยังห่างไกลจากความเป็นจริง

แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นมหาศาลและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับประเทศ แต่สนามบินสุวรรณภูมิกลับเทียบไม่ได้เท่ากับสนามบินชั้นนำของประเทศอื่นในเอเชียด้วยกัน อย่างสนามบินอินชอน ในเกาหลีใต้ หรือสนามบินนาริตะ ของญี่ปุ่น 

ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่คนไทยรอคอยให้รัฐประกาศให้ AOT เปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ การลงทุนที่ใช้เงินลงทุนมูลค่าหลายแสนล้านบาทเพื่อสร้างสนามบินที่น่าภูมิใจให้คนไทยไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง สร้างรายได้กว่าปีละ 3 ล้านล้านบาท แต่ในความเป็นจริง เมื่อมีการจัดอันดับสนามบิน สุวรรณภูมิกลับได้คะแนนที่ต่ำกว่าสนามบินอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น สนามบินนานาชาติ ชางฮี ของสิงคโปร์ และสนามบินอินชอน ทั้งที่มีจำนวนผู้โดยสารต่อปีเท่าๆ กัน และประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของสัดส่วนการท่องเที่ยวต่อ GDP ที่ +9.4% เป็นอันดับที่ 5 ของโลก

ผลประกอบการของ AOT ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินธุรกิจท่าอากาศยานของประเทศไทยทั้ง 6 แห่ง โดยมีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลัก มีรายได้ต่ำกว่าสนามบินอินชอนของเกาหลี 2 เท่า หากเราดูรายได้ของ AOT เราก็จะเห็นกว่า 1 ใน 3 ของรายได้มาจากรายได้จากสัมปทาน ซึ่งบริษัทที่ชนะการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ ฟรี จำกัด

หน้าที่ของ AOT คือการพัฒนาสนามบิน ซึ่งเป็นธุรกิจผูกขาด เพราะไม่เปิดให้เอกชนรายอื่นเข้าแข่งขันในการทำสนามบิน การท่าฯ จึงเป็นสมบัติของชาติไม่ใช่สมบัติของใคร กระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้นอยู่ถึง 70% และเป็นหน่วยงานที่ต้องเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นตัวตั้ง ควรกำกับดูแล AOT ในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และกำกับให้ AOT มีธรรมภิบาล การที่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ชนะการประมูลนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ผิด เพราะทำตามกฎกติกา…….

แต่คำถามที่กระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจทางธุรกิจควรจะตอบประชาชนให้ได้ว่า  หากมีโอกาสในการพัฒนา AOT ที่เป็นสมบัติของชาติโดยการเปลี่ยนรูปแบบการสัมปทานธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีตามกลุ่มสินค้าเพื่อประโยชน์สำหรับ AOT และ ผู้บริโภคนั้นทำไมถึงไม่ทำ ​

เพราะทำให้ยอดขายสินค้าดิวตี้ฟรีเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ดึงให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวไทยก็จะหันกลับมาใช้จ่ายสินค้าจากร้านดิวตี้ฟรีในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย นอกเหนือจากนี้ ทาง AOT ก็ควรที่จะบริหารจัดการสนามบินควรที่จะพัฒนาสนามบิน โดยคำนึงถึงผู้โดยสารทุกคนไม่ว่าจะมีรายได้ สภาพความเป็นอยู่ หรืออาชีพแตกต่างอย่างไรก็ตาม เพราะสนามบินนั้นเป็นสมบัติของชาติ ราคาของสินค้าที่ขายก็ไม่ควรจะเอาเปรียบประชาชน โดยเฉพาะเครื่องดื่ม อาหารหรือยารักษาโรคที่ควรจะเข้าถึงผู้โดยสารในทุกชนชั้น 

อีกทั้งร้านค้าปลอดภาษีที่ควรจะมีแบรนด์ระดับกลางให้มากขึ้นเพื่อเข้าถึงคนที่มีกำลังซื้อไม่มาก ไม่ใช่มีแต่แบรนด์ระดับบนเหมือนในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว ถ้าเราสามารถหาระบบสัมปทานที่สามารถหาผู้บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ดีขึ้น แล้วทุกคนได้ประโยชน์ AOT ก็ควรที่จะรับฟังความเห็นของประชาชนนำไปเป็นแนวทาง

ความฝันของรัฐบาลที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง คงไม่ไกลจากความเป็นจริง อีกทั้ง AOT ก็จะเป็นสมบัติชาติที่สร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สนามบินก้าวสู่อันดับ 1 ใน 5 ที่ใฝ่ฝันได้เพียงแค่เอื้อม

 

โดย... 

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์

ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย