แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำด้วยวิธีคืนภาษีให้ประชาชนโดยตรง

แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำด้วยวิธีคืนภาษีให้ประชาชนโดยตรง

การที่รัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยากจนด้วยโครงการ เช่น กองทุนให้กู้และช่วยเหลือ สงเคราะห์คนจนประเภทต่างๆ นั้น ใช้งบประมาณมากแต่ได้ผลน้อย

เช่นในปี 2557 ใช้งบส่วนนี้ถึง 144,030 ล้านบาท (เพิ่มจาก 5 ปีก่อน (2552) ราว 4 เท่าตัว) แต่เงิน 1.4 แสนล้านบาทนี้ถึงมือคนจนจริงๆ น้อยมาก ถ้าเราใช้สถิติคนจนหรือผู้ได้รับสวัสดิการมีรายได้น้อย (ต่ำกว่าปีละ 1 แสนบาท) 11.67 ล้านคน แล้วเอาเงินงบจำนวนนี้ไปจ่ายเข้าบัญชีให้ผู้มีรายได้น้อยโดยตรง ไม่ต้องจ่ายผ่านหน่วยงานของรัฐ ประชาชนกลุ่มนี้จะได้รับเงินคนละราว 12,342 บาทต่อคนต่อปี คิดเป็นเดือนราวคนละ 1,000 บาท อาจจะไม่มากนัก แต่ข้อสำคัญคือ (ถ้าตรวจสอบบัตรประชาชนและเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารให้ถูกต้อง) เงินถึงมือประชาชนจริงๆ และประชาชนได้ประโยชน์มากกว่าจ่ายผ่านหน่วยงานรัฐ

ถ้าจ่ายคืนภาษีให้ประชาชนกลุ่มยากจนโดยตรง รัฐบาลยังจะมีงบเพิ่มขึ้นจากการไม่ต้องใช้จ้างข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ งบดำเนินการในโครงการพวกนี้ได้อีกด้วย (งบ 1.4 แสนล้านบาทไม่รวมเงินเดือน สวัสดิการ) ได้อีกด้วย

เราสามารถปฏิรูประบบการเก็บภาษีและรายได้ของรัฐเพิ่มขึ้นได้อีกเกือบเท่าตัว ตอนนี้ไทยเก็บภาษีได้ราว 17% ของ GDP-ผลิตภัณฑ์มวลรวม ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญธนาคารโลกประเมินว่า ไทยน่าจะเก็บภาษีได้ราว 25% ของ GDP ผมเห็นเราควรจะเก็บภาษีจากทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงและที่ทำให้เกิดรายได้ เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล การขายที่ดิน ฯลฯ ในอัตราก้าวหน้า ซึ่งคนรวยสามารถจ่ายได้ รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก และถ้าเราตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหม มหาดไทย คมนาคม ฯลฯ ลงมาบ้าง เราจะมีงบมากพอที่จะจ่ายภาษีคืนให้ประชาชนกลุ่มยากจนคนละ 3,000 บาทต่อเดือน หรือ 3.6 หมื่นบาทต่อปีได้ ใกล้เคียงเส้นความยากจน (หรือรายได้พอจะยังชีพ มีอาหารที่ให้พลังงานได้พอเพียงที่จะไม่อดตาย) เราแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ/ยากจนในสังคมไทยอย่างได้ผลพอทันตาเห็นทีเดียว

การจ่ายคืนภาษีให้ประชาชนโดยตรงจะถึงมือและเป็นผลบวกต่อประชาชนมากกว่า การจ่ายทางอ้อมผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐมาก จะแก้ปัญหาต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบริหารจัดการสูง-ผลงานต่ำ และแก้ปัญหาทุจริตฉ้อฉลของหน่วยงานรัฐอย่างคุ้มค่ายิ่งกว่าการต้องมาคอยตรวจสอบลงโทษ ซึ่งเปลืองค่าใช้จ่าย เปลืองงบรัฐเข้าไปอีก แม้ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่ระบบข้าราชการมีประสิทธิภาพสูงกว่าและทุจริตฉ้อฉลน้อยกว่าไทย ก็ยังพบว่าจ่ายคืนภาษีให้ประชาชนโดยตรงที่เขาเรียกว่า Negative income tax ที่ให้ผลดีกว่าโครงการสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการทั้งหลาย ยกเว้นเรื่องบริหารทางการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งยังต้องพึ่งการจ่ายงบสนับสนุนหน่วยงานรัฐโดยตรง แต่หลายประเทศก็มีการจ่ายคูปองการศึกษาให้นักเรียน/นักศึกษาโดยตรง ซึ่งได้ผลดีด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันไทยมีการจ่ายเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผ่านเข้าบัญชีธนาคารของแต่ละคนโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีที่น่าจะทุจริตฉ้อฉลยากและเงินถึงมือประชาชนโดยตรง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (สำหรับคนอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และไม่ใช่ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้บำนาญอยู่แล้ว) มีอัตราเดือนละ 600-800 บาท แล้วแต่ว่าจะอาวุโสมากหรือน้อย แม้จะไม่มากนัก แต่ก็พอจ่ายเสริมรายได้คนจนได้พอสมควร การจ่ายคนที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ทุกคนแบบถ้วนหน้าโดยไม่ต้องมาหาข้อมูลว่าจนหรือไม่จน เป็นวิธีที่ง่ายตรงไปตรงมา ทุจริตได้ยาก ถึงจะจ่ายให้คนสูงอายุที่ไม่จนด้วย ก็ถือว่าเป็นการคืนภาษีให้ประชาชน

มีการจ่ายให้เด็กแรกเกิดถึง 3 ขวบ เดือนละ 600 บาทด้วยเช่นกัน แต่มีเงื่อนไขว่าพ่อแม่ต้องมีรายได้ต่ำ ต้องพิสูจน์ได้ ต้องมีคนรับรอง ต้องไปยื่นขออนุมัติ ซึ่งยุ่งยากทำให้เด็กที่พ่อแม่ก็จนพอสมควร ไม่ได้รับอุดหนุนเงินส่วนนี้ถึงราว 20% หรืออาจมากกว่าของเด็กกลุ่มที่ควรได้รับ ทางเครือข่ายองค์กรทำงานเรื่องเด็กพยายามเสนอให้จ่ายเด็กเล็กทุกคนแบบถ้วนหน้า จะได้ไม่มีใครตกหล่น คือเป็นการพัฒนาเด็กไม่ว่าจนหรือรวย ก็ควรที่รัฐจะช่วยพัฒนาเท่ากัน และควรจ่ายถึง 6 ขวบด้วย เพราะเด็กวัยนี้จะพัฒนาทั้งสมองและร่างกายได้เร็วที่สุด

นอกจากจะจ่ายอุดหนุนเด็กเล็กแล้ว ผมคิดว่าเราควรจ่ายเด็กโตและเยาวชนในเรื่องการศึกษาด้วย ปัจจุบันค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาของลูกหลานเป็นปัญหาใหญ่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ครอบครัวที่จนหรือมีรายได้น้อย ก็จะมีโอกาสได้เรียนน้อยไปด้วย แม้ว่ารัฐจะจัดให้บริการการศึกษาในระดับประถม/มัธยมแบบให้เปล่า แต่ก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น เรื่องการเดินทาง ค่าอาหาร ฯลฯ ด้วย ดังนั้นถ้ารัฐจะอุดหนุนเรื่องค่าใช้จ่ายการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนแบบจ่ายไปที่พวกเขาโดยตรง หรือจ่ายเป็นคูปองการศึกษาจนถึงวัยเรียนปริญญาตรีได้ ก็จะช่วยส่งเสริมความเป็นธรรมของโอกาสที่คนจนจะได้รับการศึกษาได้มากขึ้น การศึกษาเป็นหนทางสำคัญทางหนึ่งที่จะช่วยให้คนพัฒนาอาชีพ พัฒนาตนเองได้ดีขึ้น

เรื่องบริการของรัฐด้านการศึกษาและสาธารณสุข (การรักษาพยาบาล) เป็นเรื่องที่รัฐใช้งบประมาณเยอะมาก ประชาชนก็ต้องจ่ายสูงด้วยเช่นกัน ควรให้นักวิจัยที่เป็นกลางและไม่ใช่จากหน่วยราชการที่เป็นฝ่ายบริหารอยู่ มาวิจัยให้ลึกอย่างวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ว่าจะต้องปฏิรูประบบโครงสร้างการบริหารจัดการทั้งระบบอย่างไร ประชาชนจึงจะได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเป็นธรรมเพิ่มขึ้น

นอกจากการปฏิรูปเรื่องที่กล่าวมานี้แล้ว การจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ/ยากจนให้ได้ผลเพิ่มขึ้นจริง ยังจะต้องปฏิรูประบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมด้านอื่นๆ เช่น ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูประบบสหกรณ์ การเงิน การธนาคาร ปฏิรูปการศึกษา การฝึกอบรมและการจ้างงาน ปฏิรูปสาธารณสุข ปฏิรูประบบบริหารราชการ ปฏิรูประบบประกันสังคม สวัสดิการสังคม ฯลฯ ควบคู่กันไปอย่างเอาจริงเอาจัง อย่างเป็นระบบให้ครบวงจรอย่างเป็นองค์รวมด้วย ยังไม่เห็นรัฐบาล คสช.หรือพรรคการเมืองใดสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ได้แต่หาเสียงแบบลอยๆ ว่าจะปฏิรูปให้ประชาชนหายจน มีความสุขเพิ่มขึ้น แต่ไม่มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ที่เป็นรูปธรรมและมีหลักวิชาการที่น่าเชื่อถือว่าจะเป็นไปได้จริง