วิถีแห่งดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง (1)

วิถีแห่งดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง (1)

ปัจจุบัน ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมีบทบาทอย่างมากต่อแบรนด์ในการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายและลูกค้า

ดิจิทัลถูกนำมาใช้ในความหมายที่ต่างกันไปตามหมวดหมู่หรือลักษณะการใช้งาน อาทิ สมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ จนถึงนวัตกรรมที่ช่วยให้ชีวิตประจำวันของผู้คนสะดวกและง่ายขึ้น หรือคือสิ่งที่เชื่อม (Connect) ผู้คนเข้าด้วยกันเพื่อการขาย การผลิต การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ แม้กระทั่งนวัตกรรมหุ่นยนต์รวมถึง AI แต่หมวดหมู่ดิจิทัลสำคัญซึ่งมีการใช้และกล่าวถึงอย่างมากคือ “การตลาดออนไลน์” หรือ “ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง (Digital Marketing)” ซึ่งหมายถึงการทำการตลาดเพื่อการขายหรือการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มอย่างโซเชียลมีเดีย เสิร์ชเอ็นจิน วีดิโอ แชท อีเมล วอยซ์ (Voice) ตลอดจนมาร์เก็ตติ้งออโตเมชั่น (Marketing Automation)

ปัจจุบัน ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมีบทบาทอย่างมากต่อแบรนด์ในการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายและลูกค้า เพื่อการขายและการให้บริการ นวัตกรรม AI และแพลตฟอร์มดิจิทัลได้เพิ่มความชาญฉลาดให้กับข้อมูลที่มีอยู่และช่วยให้ปฏิบัติการในเชิงการตลาดและการขายแม่นยำและแยบยล

Digital Marketing Strategy

ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมีหลักการตลาด (Marketing) เป็นหัวใจโดยมีดิจิทัลเป็นเครื่องมือ (Tool) ในการทำงานผ่านแพลตฟอร์มที่นักการตลาดเลือกใช้ การวางกลยุทธ์ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่เหมาะกับแบรนด์จึงเป็นการกำหนดเครื่องมือต่างๆ ทางดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งตามจังหวะการตัดสินใจของลูกค้า (Customer Journey) เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ จังหวะเหล่านี้ได้แก่ “Aware”, “Engage”, “Convert” การตัดสินใจซื้อหรือเข้าร่วม, “Buy More” และการกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ “Advocate”

ก่อนเริ่มสื่อสารหรือทำกิจกรรมกับลูกค้า นักการตลาดควรกำหนดกลยุทธ์และวางเครื่องมือที่เหมาะสมตามช่วงจังหวะการตัดสินใจเพื่อขยับลูกค้าไปยังจังหวะต่อไป โดยการวางแผนตั้งแต่สร้างลีด (Lead) หรือเส้นทางการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้รู้จักแบรนด์ สร้างความสนใจและผูกพันกับแบรนด์ เปลี่ยนจากผู้สนใจให้เป็นลูกค้า จนกลายเป็นแฟน

นักการตลาดปัจจุบันจะมีความคุ้นเคยกับเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์มากขึ้น แต่ด้วยนวัตกรรม Big Data, Analytics และ AI ได้เสริมให้การเข้าถึงและการให้บริการลูกค้าตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพอย่างมาก จนเป็นที่โจทย์ท้าทายของแบรนด์เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบจากข้อมูลและการวิเคราะห์ (Analytics)

Content Strategy

การวางกลยุทธ์ด้านคอนเทนท์นับเป็นสิ่งสำคัญมากแต่มักถูกมองข้าม ปัจจุบันนักการตลาดมักมุ่งไปยังการสร้างคอนเทนท์เพื่อหาลูกค้าใหม่ (Lead Generation) หรือสร้างความนิยมเพื่อผูกใจลูกค้า (Engage) ผ่านโซเชียลมีเดียและอินโฟกราฟฟิก โดยมักมองข้ามความสำคัญของคอนเทนท์ภายในเว็บไซต์หรือแอพซึ่งเป็น Contact Point ที่สำคัญในการหาข้อมูลก่อนการตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะเมื่อมีการขายออนไลน์ซึ่งแบรนด์ต้องการให้เกิด Conversion หรือการขายขึ้นมากที่สุด

การวางกลยุทธ์การตลาดที่ใช้คอนเทนท์จึงควรครอบคลุมและตรงกับทุกจังหวะการตัดสินใจของลูกค้า ตั้งแต่ในช่วงจังหวะที่ลูกค้ายังไม่รู้จักสินค้าซึ่งแบรนด์ควรสื่อสารให้รู้จักและสนใจผ่านการใช้สื่อ (Online Media) ที่สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ (Target) ตลอดจนการสร้างคอนเทนท์ที่มีความเฉพาะ (Personalized Content) ในจังหวะที่ลูกค้ากำลังหาข้อมูลหรือเปรียบเทียบสินค้าที่สนใจในฟอร์แมต กราฟฟิก วีดิโอ แอนิเมชัน หรือวอยซ์ จนถึงคอนเทนท์ในเชิงแคมเปญหรือโปรโมชั่นที่กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อ

Search Strategy

เสิร์ชเอ็นจินยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 57% ทั่วโลกเปลี่ยน Search Algorithm กว่า 500 ครั้งต่อปี ซึ่งการเปลี่ยนแต่ละครั้งอาจมีผลต่อลำดับ (Rank) และ Traffic ที่มายังเว็บไซต์ ทำให้แบรนด์ต่างต้องรักษาลำดับต้น ๆ ในผลการเสิร์ช (SERP) ของ Keyword ที่ต้องการ โดยอาศัยการทำงานแบบ Search Engine Optimization (SEO) ที่ขึ้นอยู่เทคนิคการพัฒนาและโครงสร้างของเว็บไซต์ซึ่งควรคำนึงถึงการออกแบบให้ Mobile Friendly และการสร้างคอนเทนท์ที่มีคุณภาพ (White Hat) เพื่อให้ได้รับลีดจากเสิร์ชมายังเป้าหมายปลายทาง ซึ่งหมายถึงการผลิตคอนเทนท์ที่ตอบโจทย์ความสนใจของกลุ่มเป้าหมายและนำเสนอในช่องทางหรือฟอร์แมตที่เหมาะสม โดยควรมีการปรับปรุง SEO อย่างสม่ำเสมอ

นอกจาก Google Search ยังมี Google Map ที่กำลังเป็นที่นิยมและสามารถค้นหาสถานที่ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร หรือธุรกิจได้เช่นกัน ซึ่งธุรกิจไม่ควรมองข้ามที่จะเพิ่มสถานที่และร้านค้าลงใน Google Map

ส่วนหนึ่งของภาพใหญ่

ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งนับเป็นเพียงสัดส่วนหนึ่งของดิจิทัล ดังนั้นการวางกลยุทธ์คอนเทนท์ เสิร์ชหรือโซเชียลมีเดียจึงไม่ควรเทียบได้กับความหมายของดิจิทัล เพราะทุกวันนี้ดิจิทัลหมายถึงการทำธุรกิจหรือโมเดลธุรกิจใหม่ที่มีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนเพื่อความสะดวก รวดเร็ว เรียบง่ายและได้ผล

โลกกำลังมีนวัตกรรมอย่าง AI ที่รู้จักความต้องการของผู้คนมากขึ้น รู้ตารางเวลาและหมายเลขติดต่อ รู้จักภาพยนตร์หรือดนตรีที่พอใจ รู้จักประเภทอาหารและร้านค้าที่ชื่นชอบ ช่วยแนะนำแฟชั่นและเสื้อผ้าที่ตรงกับรสนิยม หากดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งสามารถสอดแทรกเข้าในทุกจังหวะของชีวิต การขายตรงในเวลาที่ต้องการซื้อคงไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป