การเมืองหลังเลือกตั้ง : จากอิตาลีถึงไทย?

การเมืองหลังเลือกตั้ง : จากอิตาลีถึงไทย?

ล่าสุด เราคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับความวุ่นวายของการเมืองอิตาลีหลังเลือกตั้ง อิตาลีเลือกตั้งไปเมื่อเดือน มี.ค. จนบัดนี้ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

อิตาลีเลือกตั้งไปเมื่อเดือน มี.ค. จนบัดนี้ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะไม่มีพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่ง ส่งผลให้สภาของอิตาลีอยู่ในสภาพที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “hung parliament” ที่เป็นคำที่มีกำเนิดมาจากการเมืองอังกฤษในฐานะที่เป็นต้นแบบการปกครองแบบรัฐสภา และมีปัญหาเช่นนี้มาก่อน การหาทางออกจากปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากโดยพรรคใดพรรคหนึ่งไม่ได้คือ การจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งหลังการเลือกตั้งเมื่อ มี.ค.2018 พรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งในสภามีถึง 10 กว่าพรรค พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดคือ พรรคห้าดาว ได้ประกาศเป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ประสบกับปัญหาวุ่นวายจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เรื่อยมา 

จนถึงวันที่ 21 พ.ค. พรรคห้าดาวกับพรรคร่วม คือ พรรคสันนิบาตเหนือ (the League) ได้เสนอชื่อ “คอนติ” ศาสตราจารย์ทางกฎหมายให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาวันที่ 27 คอนติกลับประกาศไม่รับตำแหน่ง โดยเหตุผลจากความแตกต่างอย่างรุนแรงระหว่าง ซาลวินิ ผู้นำพรรคสันนิบาตเหนือกับประธานาธิบดีมาตาเรลล่า เพราะ ซาลวินิ ได้เสนอชื่อศาสตราจารย์ซาโวนาให้เป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจและการเงิน แต่มาตาเรลล่าคัดค้านอย่างรุนแรง ด้วยเหตุผลที่ว่าซาโวนาไม่ค่อยเห็นด้วยกับการอยู่ในอียูและต่อต้านเยอรมนี ประธานาธิบดีมาตาเรลล่าได้อธิบายจุดยืนของเขาว่า เขามีหน้าที่พิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญและรักษาผลประโยชน์และเสถียรภาพของประเทศ เขาจึงไม่สามารถยอมรับการที่ 2 พรรคใหญ่ที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลจะนำพาอิตาลีออกจากยูโรโซน 

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ประธานาธิบดีอิตาลีมีสิทธิที่จะปฏิเสธการเสนอชื่อของพรรคการเมืองในสภาหรือไม่? ตามรัฐธรรมนูญอิตาลี บทบาทของประธานาธิบดีโดยทั่วไปจะเป็นบทบาทในทางพิธีกรรม แต่ก็มีอำนาจสำคัญอยู่ นั่นคือ แต่งตั้งผู้นำรัฐบาลและอำนาจที่จะยุบสภา ขณะเดียวกันอิตาลีมีปัญหาไร้เสถียรภาพทางการเมืองค่อนข้างบ่อย ทำให้ประธานาธิบดีจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในช่วงที่มีวิกฤติการเมืองหลายครั้ง และแต่กระนั้นตามรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธการแต่งตั้งรัฐมนตรี แต่ที่ผ่านมาไม่มีการใช้อำนาจนี้เท่าไรนัก น่าจะมีเพียง 3 ครั้งเท่านั้น ครั้งหนึ่งได้แก่ ในปี 1994 ประธานาธิบดีสกาลฟาโร ได้ทัดทานความพยายามของนายกรัฐมนตรีเบอลุสโคนี ที่จะแต่งตั้งทนายส่วนตัวของตนเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม 

เมื่อการเมืองอิตาลีเกิดวิกฤติจากการไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้มากว่า 2 เดือน อีกทั้งเมื่อพอจะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ประธานาธิบดีเองเห็นว่าหากปล่อยให้ซาโวนาเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจตามที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเสนอมา จะสร้างปัญหาให้กับประเทศเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอิตาลีกับสหภาพยุโรป เมื่อไม่มีรัฐบาล และการไม่มีรัฐบาลก็เป็นผลส่วนหนึ่งจากจุดยืนของตัวประธานาธิบดีในฐานะประมุขของรัฐ จึงเป็นหน้าที่ของประธานาธิบดีที่จะแก้ไขวิกฤตินี้ 

โดยในวันที่ 28 พ.ค. มาตาเรลล่าได้ประกาศให้ คอตตาเรลลี นักเศรษฐศาสตร์และอดีตผู้อำนวยการ IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) มีหน้าที่ในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อให้เป็นรัฐบาลรักษาการ และ นายกรัฐมนตรีคนกลาง คอตตาเรลลี ได้ประกาศว่า หากเขาได้รับความไว้วางใจจากสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาจะมุ่งไปสู่การอนุมัติงบประมาณประจำปี 2019 แล้วสัญญาว่าจะยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ในต้นปี 2019 แต่ถ้าสภาไม่ไว้วางใจ รัฐบาลรักษาการของเขาก็จะบริหารงานเพียงแต่ในเรื่องปกติทั่วไปและจะรีบยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือน ส.ค.ปีนี้ 

โดยคอตตาเรลลีให้สัญญาว่ารัฐบาลของเขาจะเป็นกลาง ไม่เข้าข้างพรรคการเมืองใด และยืนยันว่าตัวเขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย เขาประกาศให้ความมั่นใจว่าจะให้มีการบริหารจัดการอย่างสุขุมรอบคอบต่อหนี้สาธารณะของอิตาลี และจะปกป้องผลประโยชน์ของอิตาลีในการเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับสหภาพยุโรป ต่อมาพรรคเดโมแครตของอิตาลีได้ประกาศว่าจะลงคะแนนเสียงให้คอตตาเรลลี ส่วนพรรคห้าดาวและพรรคที่เป็นพันธมิตรร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม อันได้แก่ พรรคสันนิบาตเหนือ พรรคกลางขวา (Forza Italia) และพรรคอิตาลีภราดรภาพ (Brothers of Italy) ประกาศว่าจะไม่ลงคะแนนเสียงให้ และจะอาศัยมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญเสนอให้มีการประชุมลงมติให้ประธานาธิบดีลาออก หากพรรคต่างๆ เห็นด้วยลงคะแนนเสียงถอดถอนเกินกึ่งหนึ่งของสภา มติดังกล่าวนี้ก็จะถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาตัดสินว่าจะให้มีการถอดถอนหรือไม่ 

 การเมืองไทย : ตอนนี้ดูเหมือนว่าเราจะมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย และน่าจะแชร์คะแนนเสียงประชาชนกันไปพอสมควร หากหลังเลือกตั้ง สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถตกลงกันได้ในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะไม่ได้คะแนนเสียงเพียงพอกันเองภายในสภา หรือเสียงวุฒิสภาไม่สนับสนุน นั่นคือไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกิน 376 คะแนน อีกทั้งไม่สามารถหาเสียง ส.ส.เพื่อไปปลดล็อกเปิดทางไปสู่การเปิดให้มีการเสนอชื่อนายกฯ คนนอก การเมืองไทยก็จะถึงทางตัน หรือหากปลดล็อกได้ แต่ก็ไม่ได้นายกฯ คนนอกสักที ก็ตันอีก และเมื่อนั้นก็จะต้องอาศัยมาตรา 5 ในรัฐธรรมนูญ นั่นคือใช้ประเพณีการปกครอง นั่นคือถ้าไม่มีการทูลเกล้าฯ ยุบสภาทันที ก็ต้องทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง 

นั่นคือ คนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดแต่ไม่ถึง 376 หรือถ้าดูในกรณีของอิตาลี ประมุขของรัฐประกาศให้ผู้ใดผู้หนึ่งที่เหมาะสมเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลรักษาการที่เป็นกลาง เพื่อบริหารงานและผ่านงบประมาณประจำปีและยุบสภาต่อไป หรือถ้างบประมาณไม่ผ่าน ก็ให้บริหารงานประจำเท่าที่ทำได้และรีบยุบสภาในเวลาอันใกล้ หรือเป็นรัฐบาลแห่งชาติ! ที่น่าคิดคือ ประมุขของรัฐอิตาลีอยู่ในสถานะของการเป็นนักการเมือง ส่วนของเราคือองค์พระมหากษัตริย์ ผู้เป็นศูนย์รวมใจแห่งชาติและอยู่เหนือฝักฝ่ายทางการเมือง