ทางแพร่งแห่งความสัมพันธ์เมียนมา-จีน

ทางแพร่งแห่งความสัมพันธ์เมียนมา-จีน

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กรุงเนย์ปิดอว์ คลาคล่ำไปด้วยคณะผู้แทนจากรัฐบาลจีนซึ่งมาเยี่ยมเยือนเมียนมา

เพื่อหารือความร่วมมือด้านความมั่นคงชายแดน การส่งเสริมความสัมพันธ์ภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) รวมถึงความร่วมมือของภาคเอกชน อาทิ คณะของนาย Wang Zhengwei รองประธานคณะที่ปรึกษาทางการเมืองของรัฐบาลจีน (CPPCC) นาย Song Tao อธิบดีกรมการติดต่อระหว่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์ และนาย Zhao Kezhi สมาชิกคณะกรรมาธิการการเมือง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ ฉันพี่น้อง ของทั้ง 2 ฝ่ายที่พัฒนาอย่างชัดเจนเป็นลำดับและต่อเนื่อง หลังการปฏิรูปประเทศของเมียนมา

ทางแพร่งแห่งความสัมพันธ์เมียนมา-จีน

การพบกันระหว่าง นาย Wang Zhengwei รองประธานคณะที่ปรึกษาทางการเมือง ของรัฐบาลจีน (CPPCC) กับนางอองซานซูจี ที่เมืองหลวง ของประเทศเมียนมา 

อย่างไรก็ดี เมียนมากำลังเผชิญกับ 3 ทางแพร่งในสมดุลของความสัมพันธ์กับจีน 1.ทางแพร่งแห่งความมั่นคงชายแดน (Border Security Dilemma) เมียนมาไม่สามารถปฏิเสธอิทธิพลของจีนที่มีต่อกองกำลังติดอาวุธในรัฐตอนเหนือของประเทศได้ จีนเป็นผู้ผลักดันให้ฝ่ายหลังเข้าร่วมการประชุมสันติภาพครั้งสำคัญในปี 2559 ตลอดจนเป็นผู้ประสานงานเพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังติดอาวุธบริเวณชายแดนที่ปะทุขึ้นบ่อยครั้ง ล่าสุด นาย Sun Guoxiang ผู้แทนด้านกิจการเอเชียของจีน เข้าพบนายพลมินออง หล่าย และนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 22 และ 23 พ.ค.2561 ตามลำดับ เพื่อบรรเทาความตึงเครียดตามแนวพรมแดนที่เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนกระบวนการเจรจาสันติภาพต่อไป 

แม้ว่าบทบาทของจีนจะสำคัญในแง่การส่งเสริมการสนทนาระหว่างคู่ขัดแย้ง แต่หากอิทธิพลและการพึ่งพาจีนในกระบวนการสันติภาพมีมากจนเกินไป โดยปราศจากการแบ่งสรรปันส่วนทางอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลกลาง กองทัพและกลุ่มกองกำลังในพื้นที่ความขัดแย้งที่ชัดเจนและเป็นทางการ ก็มีแต่จะทำให้คู่ขัดแย้งและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เกิดความหวาดระแวงถึงผลประโยชน์ที่แท้จริง และนั่นอาจเป็นที่มาของความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

2.ทางแพร่งแห่งการพัฒนา (Development Dilemma) เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา นางซูจีต้อนรับนาย Chang Zenmin ประธานบริษัท China International Trust and Investment (CITIC) พร้อมหารือเรื่องการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกในเขตเศรษฐกิจพิเศษจอกพิว สำนักข่าวรอยเตอร์และบลูมเบิร์กคาดว่าโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัท CITIC (ร้อยละ 70) กับรัฐบาลและบริษัทท้องถิ่นเมียนมา (ร้อยละ 30) จะมีมูลค่าถึง 7,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่จำเป็นต่อระบอบประชาธิปไตยของเมียนมาในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดีมีข้อกังวลต่ออิทธิพลของจีนที่กำลังเติบโต ว่าอาจจะทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเมียนมาพึ่งพาจีนมากจนเกินไป จนกลายเป็นภาระทางการคลังในอนาคต นักวิชาการอย่าง Sean Turnell ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาพิเศษทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเมียนมา ตั้งข้อสังเกตต่อการลงทุนของจีนในโครงการนี้ว่า งบประมาณบางส่วนจะอยู่ในรูปแบบเงินกู้จากจีน ซึ่งจะทำให้เมียนมารับภาระทางด้านดอกเบี้ยที่สูงอย่างไม่จำเป็นในระยะยาว

3.ทางแพร่งแห่งศีลธรรม (Moral Dilemma) ประเด็นที่เป็นอุปสรรคที่สุดต่อความสัมพันธ์กับต่างประเทศของเมียนมาในปัจจุบันคือ สถานการณ์ในรัฐยะไข่ และจีนคือมิตรประเทศที่สำคัญของเมียนมา เห็นได้จากการใช้สิทธิยับยั้งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ต่อการประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลและกองทัพเมียนมาต่อชาวโรฮิงญา ล่าสุด สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จีนได้คัดค้านการระบุถึงถ้อยคำในแถลงการณ์ของ UNSC ที่เดิมระบุถึงการสนับสนุนและเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาสอบสวนอย่างโปร่งใส ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ และสามารถตัดถ้อยคำเหล่านี้ออกไปจากแถลงการณ์ได้ ในขณะที่เมียนมาจะมีพื้นที่ของตนเองในการจัดการกับความขัดแย้งในรัฐยะไข่โดยปราศจากการแทรกแซงของมหาอำนาจภายนอก ความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนจะทำให้กระบวนการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาลดความสำคัญลง ตลอดจนก่อให้เกิดคำถามจากประชาคมระหว่างประเทศถึงความจริงใจของรัฐบาลเมียนมา ท่ามกลางข้อสังเกตว่าเมียนมากำลังตอบแทนความปรารถนาดีของจีน ด้วยสิทธิและอิทธิพลทางเศรษฐกิจภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor) ที่ได้ตกลงไปก่อนหน้านี้

ขนาดและที่ตั้งของจีนที่มีมิติและความสัมพันธ์กับเมียนมาอย่างซับซ้อนและเป็นพลวัต ทำให้การสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์กับจีนยิ่งเป็นสิ่งท้าทาย และการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเมียนมาจะไม่เป็นประโยชน์มากนัก เนื่องจากความแตกต่างในเชิงโครงสร้างอำนาจของทั้ง 2 ฝ่าย ทว่าเมียนมายังมีมาตรการ นโยบายทางการการเมือง เศรษฐกิจภายในที่การสนับสนุนและส่งเสริมระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่แท้จริง จะเป็นสินทรัพย์เพิ่มพูนความสามารถในการต่อรองกับจีนเพื่อปรับเปลี่ยนทางแพร่งให้กลายเป็นทางเลือกได้ในที่สุด

 

โดย... 

ผศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร

ผู้ประสานงานร่วมชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ฝ่าย 1 สกว.