เมื่อ กมธ. พบ กทม. (1)

เมื่อ กมธ. พบ กทม. (1)

ในระยะหลังๆนี้ กมธ.สาธารณสุขเดินสายไปพบหน่วยงานต่างๆในพื้นที่มากขึ้นและบ่อยขึ้นซึ่งก็เป็นเรื่องดีเพราะ การลงพื้นที่

ทำให้ได้ถามผู้บริหารระดับรอง หรือระดับกลางที่เป็นระดับหัวหน้าปฏิบัติการในพื้นที่ ข้อมูลที่รับจึงมีรายละเอียดมากกว่าที่มาชี้แจงที่รัฐสภา ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ กมธ.สาธารณสุข ได้ไปพบกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษที่ขนาดของการบริหารจัดการใหญ่กว่าหลายกระทรวง มีความซับซ้อน ทับซ้อนกับส่วนกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในหลายกิจการและใช้งบประมาณปีละหลายหมื่นล้านบาท ทั้งจากงบประมาณที่รัฐบาลจัดให้ การจัดเก็บรายได้ของ กทม.เอง แต่ก็ไม่พอกับการให้บริการประชาชนอย่างเป็นที่ทราบกันทั่วไป

เมื่อลงลึกในส่วนของระบบสาธารณสุขก็พบปัญหามากมาย ทั้งที่คิดถึงและคิดไม่ถึง ในวันที่ กมธ.สาธารณสุข ไปเยี่ยม กทม.นั้น ฝ่าย กทม.โดยรองผู้ว่าราชการ ได้เข้ามากล่าวต้อนรับ ส่วนในการประชุมร่วมกันนั้น นำโดยรองปลัด กทม.ด้านสาธารณสุข ผู้อำนวยการ และผู้บริหารระดับเขตหลายเขตที่อยู่ในระบบสาธารณสุขของ กทม.นับสิบคน ทางด้าน กมธ.สาธารณสุข ที่นำโดยประธานกรรมาธิการ นำคณะไปด้วยตนเอง เป็นคณะใหญ่สุดที่ กทม. เคยต้อนรับ มามากกว่า 20 คน นอกจากนั้นยังมีผู้บริหารระดับกลางจาก สปสช. จำนวนหนึ่งมาร่วมการประชุมด้วย ทำให้ห้องประชุมแน่นขนัด แต่ก็อบอุ่นดี บรรยากาศเป็นกันเอง เพราะทุกคนอยู่ในวิชาชีพแพทย์และสาธารณสุข พูดจาภาษาเดียวกัน มองหน้าก็รู้ใจ

ความทับซ้อนระหว่าง ก.สาธารณสุข กับ กทม. ในระบบสาธารณสุขก่อนหน้านี้ค่อนข้างจะมีปัญหา เพราะในเขต กทม.มีทั้งโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลของ กทม. โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลของเอกชน ซึงแต่ละโรงพยาบาลก็เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งสิ้น ประชาชนในเขต กทม.ก็ใช้โรงพยาบาลหมุนเวียนเปลี่ยนไปแล้วแต่ความสะดวกและความสามารถในการจ่ายค่าบริการ ผู้ป่วยฐานะดีก็เข้าโรงพยาบาลเอกชน พอรักษาไปมากๆ ฐานะยอบแยบลง ก็ย้ายเข้าโรงพยาบาลรัฐ และมักจะไปสิ้นสุดชีวิตที่โรงพยาบาลรัฐ และเมื่อถึงเวลานั้นโรงพยาบาลรัฐก็ต้องรับสภาพที่ผู้ป่วยเสียชีวิตอาจไม่สามารถชำระค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในวาระสุดท้ายของชีวิตได้ อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

เรื่องใหญ่ที่หนีไม่พ้นคือเรื่องงบประมาณที่ไม่พอเพียง ซึ่งก็ดูเหมือนจะไม่แตกต่างจากโรงพยาบาลรัฐอื่นๆไม่ว่าจะในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือโรงเรียนแพทย์ทั้งหลาย แต่สิ่งที่เป็นปัญหามากสุดของโรงพยาบาล กทม.ก็คือระบบงบประมาณรายหัวจากโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านบริการสาธารณสุขของ กทม.ได้เลย เพราะ กทม.มีปัญหาเรื่องประชากรแฝงมหาศาล ซึ่งท่านรองปลัด กทม. ด้านสาธารณสุข ได้พูดถึงตัวเลขประชากรของ กทม.ว่าตามทะเบียนบ้านนั้นมีแค่ 5.2 ล้านคน แต่มีประชากรแฝงกว่าสองเท่าตัวทั้งแฝงถาวรที่มาอยู่ในเขต กทม.แต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน และแฝงชั่วคราวที่มาทำงานบางช่วงระยะเวลาและไปๆมาๆระหว่างกรุงเทพกับบ้านต่างจังหวัด การคำนวณอะไรก็ตามที่ตั้งอยู่บนฐานของจำนวนประชากรจึงซับซ้อนทับซ้อนอย่างมาก

ในวันนี้ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขในเขต กทม. หลายเรื่องด้วยกัน

  1. การที่กทม.มีประชากรแฝงมากกว่าสองเท่าของประชากรจริงนั่นคือประชากรจริงมีแค่ประมาณ 5 ล้านคน แต่มีประชากรแฝงกว่า10 ล้านคน รวมแล้วก็ประมาณ 15 ล้านคน ด้วยจำนวนประชากรที่มากขนาดนี้ กทม.มีระบบจัดสรรงบประมาณอย่างไรเพื่อให้เกิดความสมดุลมากที่สุด และมีแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ให้บริการประชาชนได้อย่างพอเพียง
  2. นโยบายของรัฐบาลคือการโอนย้ายโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพสต) ให้มาอยู่ภายใต้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท)ในฐานะที่ กทม.เป็น อปท.ด้วยเช่นกัน กทม.ได้ดำเนินการอย่างไร และมีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร
  3. ในเขต กทม.มีสถานพยาบาลเอกชนจำนวนมาก และเป็นขนาดใหญ่ หลายสถานพยาบาลเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่อยู่ในพื้นที่ กทม.ด้วยกันกับโรงพยาบาลรัฐกทม.และโรงพยาบาลเอกชนมีความร่วมมือกันอย่างไรในการให้บริการประชาชนในทุกระดับ
  4. ขณะนี้ กทม.และปริมณฑลกำลังมีระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่หรือรถไฟฟ้ากว่าสิบสายกำลังเกิดขึ้น กทม.มีแผนการอย่างไรในการรับมือกับผู้ป่วยจากปริมณฑลที่สามารถเข้าถึงสถานพยาบาลในเขต กทม.มากขึ้นกทม.มีแผนเชื่อมโยงระบบการรักษาพยาบาล การส่งต่อระหว่างกันอย่างไร เพราะพื้นที่ กทม.กับปริมณฑลไม่สามารถแยกจากกันได้เด็ดขาดและไม่สามารถห้ามประชาชนใช้บริการข้ามเขตได้
  5. หน่วยบริการในระบบสาธารณสุขยังไม่พอเพียงกับการให้บริการประชาชน มีการพูดถึงการยกระดับสถานบริการเอกชนขนาดเล็กรวมถึงร้านขายยาที่มีเภสัชกรปริญญาประจำ ที่จะให้เป็นหน่วยบริการระดับปฐมภูมิส่งต่อและรับผู้ป่วยมาบำบัดหลังออกจากโรงพยาบาล กทม.ได้มีแผนการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร
  6. กทม.มีการดำเนินการเกี่ยวกับระบบสุขภาพของผู้สูงอายุที่ต้องใช้บริการnursing homesเพิ่มมากขึ้น เพราะเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เรามีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงมากขึ้น ระบบหมอครอบครัว หรือ PCC ที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ ทาง กทม.ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างไร และมีแผนการรับมือสังคมผู้สูงอายุอย่างไร และ
  7. ทราบว่า อปท. มีปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับจาก สปสช. กว่า7,000ล้านบาท กทม. ซึ่งเป็น อปท. ด้วย มีปัญหาเรื่องนี้หรือไม่ และแก้ปัญหาอย่างไร ที่จะทำให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณนี้มาใช้ในระบบสาธารณสุขของ กทม. 

จากนั้นก็มีอีกหลายคำถามจากทั้งกรรมาธิการ และผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งทาง กทม. โดยรองปลัด กทม. ด้านสาธารณสุขพร้อมผู้บริหารอื่นของ กทม.ได้ชี้แจงร่วมกัน (มีต่อ)