หลุมพรางดักเศรษฐกิจโลก

หลุมพรางดักเศรษฐกิจโลก

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ต่างหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น โดยมีสัญญาณสำคัญทั้งจาก Global synchronized growth หรือการขยายตัวเศรษฐกิจ

หรือการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างพร้อมเพรียงแต่ไม่มีเงินเฟ้อ กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ที่เหมือนจะแผ่วลงไป รวมถึงนโยบายลดภาษีของรัฐบาลทรัมป์ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจและตลาดทุนร้อนแรงยิ่งขึ้น ภาพเหล่านี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เกือบทุกสำนักต่างฟันธงว่าเศรษฐกิจปีนี้น่าจะยังดีต่อจากปีที่แล้ว

ผ่านมาครึ่งปี โอกาสที่นักเศรษฐศาสตร์จะคาดการณ์ผิดมีมากขึ้น เนื่องจากสัญญาณที่เห็นชัดเจนคือเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกเริ่มแผ่วชัดเจน ทั้งตัวเลข GDP และเครื่องชี้วัดรายเดือนต่าง ๆ โดยเฉพาะดัชนีชี้นำล่วงหน้าทางเศรษฐกิจอย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index: PMI) ที่ลดลงพร้อมกันทั่วโลก จะมีก็แต่ในสหรัฐที่ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง

คำถามคือ การอ่อนตัวลงของสัญญาณเศรษฐกิจโลกนั้นเป็นเพียงชั่วคราวหรือไม่ ส่วนตัวของผู้เขียนเองนั้น เชื่อว่าสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่เริ่มอ่อนตัวลงนั้นจะต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง เนื่องจากมีความเสี่ยง 5 ประการที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจไม่ให้กลับมาขยายตัวได้ดีมากนัก

ความเสี่ยงแรก ได้แก่ ทิศทางนโยบายการเงินโลกที่จะตึงตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยสัญญาณจากนายเจอโรม พาวเวล ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) คนใหม่ ที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าเขาจะไม่ดำเนินนโยบายการเงินเช่นเดียวกับ 2 คนก่อนหน้า ที่ยอมผ่อนคันเร่ง ไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยหากตลาดการเงินเริ่มผันผวน ดังนั้น หากตลาดการเงินไม่ผันผวนรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤตแล้ว Fed โดยการนำของพาวเวลก็น่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามที่ได้คาดการณ์ไว้อีก 2 ครั้งในปีนี้

ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อสหรัฐที่เริ่มกลับมา แม้จะไม่รุนแรงนักแต่ก็น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายของ Fed ประกอบกับการที่รัฐบาลสหรัฐดำเนินนโยบายการคลังขาดดุลมากขึ้น จะเป็นแรงผลักดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (เช่น 10 ปี) ปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เส้นผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นตลอดทั้งเส้น ซึ่งหมายความว่าสภาพคล่องทางการเงินในสหรัฐจะค่อย ๆ ตึงตัวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผล 2 ประการ คือ (1) ดอลลาร์จะมีทิศทางแข็งค่าขึ้น และ (2) ดอกเบี้ยทั่วโลกทยอยปรับเพิ่มขึ้น

กระนั้นก็ตาม ความตึงตัวทางการเงินไม่น่าจะรุนแรงมากนักเนื่องจาก (1) ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของเศรษฐกิจโลกจะทำให้ Fed ไม่รีบกระชากดอกเบี้ยขึ้น และทำให้ยังมีความต้องการพันธบัตรสหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (2) การขาดดุลการคลังและการค้าของสหรัฐจะยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้ดอลลาร์ไม่สามารถแข็งค่าขึ้นได้อีกมาก

ความเสี่ยงที่สอง ได้แก่ทิศทางเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่ผันผวนมากขึ้นหลังจากเงินสกุลท้องถิ่นหลายสกุลอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง และทำให้ธนาคารกลางบางแห่งต้องกระชากดอกเบี้ยขึ้น เช่น อาเจนตินา ต้องขึ้นดอกเบี้ยจาก 27.5% เป็น 40% ในสัปดาห์เดียว และต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF ขณะที่ตุรกีก็ขึ้นดอกเบี้ยถึง 300 basis points ในวันเดียว ทั้งหมดนี้เพื่อดึงให้กระแสเงินทุนไม่ไหลออกจากประเทศรวดเร็วเกินไป

ผู้เขียนมองว่า สาเหตุหลักที่เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เริ่มมีความเสี่ยงเป็นเพราะนโยบายการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ทำให้ประเทศที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจเปราะบาง เช่น มีหนี้ต่างประเทศสูง ขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัด มีเงินเฟ้อสูง รวมถึงมีทุนสำรองในระดับต่ำ เผชิญความเสี่ยงเงินทุนไหลออก ซึ่งภาพเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยโลกเป็นขาขึ้น

ความเสี่ยงที่สาม ได้แก่ ความเสี่ยงการเมืองในยุโรปที่กลับมามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยเฉพาะในอิตาลีที่พรรคขวาจัดอย่าง 5Star และพรรค League ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลและประกาศพร้อมออกจากยูโรโซน รวมถึงในสเปนที่นักการเมืองอาวุโสในพรรครัฐบาลกำลังถูกกล่าวหาเรื่องคอรัปชั่น และอาจต้องเผชิญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ทั้งนี้ ภาพรวมทางการเมืองในยุโรปจะมีความเสี่ยงมากขึ้นและกระทบเศรษฐกิจในระยะถัดไป ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจยุโรปก็ยังเปราะบาง แต่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จำเป็นต้องยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลของประเทศใหญ่ในยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีกำลังจะหมดลง ซึ่งการหยุด QE จะทำให้ความตึงตัวทางการเงินในยุโรปมีมากขึ้น

ความเสี่ยงที่สี่ ได้แก่สงครามการค้า ที่แม้ว่าจะไม่รุนแรงดังเช่นในช่วงปี 1930 ที่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกแต่ก็ไม่น่าจะยุติลงโดยง่าย แต่น่าจะเป็นดั่ง สงครามเย็นทางการค้า โดยรัฐบาลสหรัฐจะใช้กลยุทธทั้งไม้นวมและไม้แข็ง (Carrot and stick) กับประเทศคู่ค้า-คู่แข่งต่าง ๆ โดยเฉพาะจีน เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้น (อันได้แก่การลดการขาดดุลการค้ากับประเทศเหล่านั้น) และระยะยาว (ในจีนคือการคุมกำเนิดแผนยุทธศาสตร์ 2025 ของจีนที่จะก้าวมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี) ซึ่งระหว่างทางจะนำมาสู่ความไม่แน่นอนต่อเนื่อง และเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจในการวางแผนธุรกิจ-ลงทุนในอนาคต

ความเสี่ยงสุดท้าย ได้แก่ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีก่อน จาก 3 เหตุผลหลัก คือ (1) การลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และพันธมิตรที่นำโดยรัสเซีย (2) จากกระแสความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางโดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐประกาศคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง และ (3) จากกระแสการเก็งกำไรที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัสเซียและซาอุดิอาราเบียส่งสัญญาณว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง ทำให้ราคาน้ำมันโลกเริ่มลดลงแล้ว

แม้ว่าผู้เขียนจะยังคงเชื่อว่า ราคาน้ำมันจะลดลงอยู่ในระดับ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐในระยะต่อไป จากกำลังการผลิตที่จะกลับมามากขึ้นและจากเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางทำให้ความต้องการใช้น้ำมันอาจไม่มากดังเช่นที่หลายฝ่ายคาดไว้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเสี่ยงหลักของราคาน้ำมันคือปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงขึ้นในครึ่งปีหลังโดยเฉพาะในช่วงใกล้เส้นตายของการคว่ำบาตรอิหร่านในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งน้ำมันแพงก็จะผลักดันต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้นในระยะต่อไป

5 ความเสี่ยงเหล่านี้จะเป็นดั่งหลุมพราง ดักเศรษฐกิจโลกไม่ให้พุ่งทะยานดังที่วาดหวังไว้ ผู้ขับเคลื่อนธุรกิจ การลงทุน และเศรษฐกิจทั้งหลาย โปรดพึงระวัง

[1] บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่