หงิก งอ หง่อม ง่าย...4 ง. กับชีวิตบั้นปลายผู้สูงอายุไทย

หงิก งอ หง่อม ง่าย...4 ง. กับชีวิตบั้นปลายผู้สูงอายุไทย

เมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาเรื่องผู้สูงอายุของคณะกรรมาธิการสาธารณสุข จัดโดย

คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านการดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงอายุแบบครบวงจร ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเหมือนเช่นญี่ปุ่น อังกฤษ และอีกหลายสิบประเทศที่มีจำนวนผู้มีอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่อังกฤษ มีประชากรอายุมากกว่า 100 ปีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ถึงขนาดที่พระราชินีเอลิซาเบทของอังกฤษ ที่เคยใช้คนส่งบัตรแสดงความความยินดีผู้มีอายุ 100 ปีเพียงคนเดียวก่อนหน้านี้ ปัจจุบันต้องใช้ถึง 7คน และที่ญี่ปุ่นที่เคยให้ของขวัญเป็นถ้วยชาเล็กๆ สำหรับผู้ที่มีอายุ 100 ปี ก็หยุดให้แล้ว เพราะจำนวนผู้มีอายุเกิน 100 ปีเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ มีการเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะในหลายเรื่องด้วยกัน โดยเป็นมุมมองของคนที่ไม่ใช่แพทย์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่เป็นคนที่มองสังคมและชุมชนว่าผู้สูงอายุของเราส่วนใหญ่เป็นคนยากจน เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีการรักษาพยาบาลที่คนรวยคนมีเงินทำได้ คนมีเงินนั้น แม้เป็นผู้สูงวัยก็มักมีผู้ดูแลรักษาพยาบาล สามารถใช้จ่ายเพื่อดูแลรักษาสุขภาพได้ แต่คนยากคนจนนั้นทำไม่ได้ เมื่อพวกเขาไม่มีเงินที่จะเข้าถึงสิ่งอำนายความสะดวกที่กลุ่มคนรวยมี พวกเขาจะทำอย่างไร 

1.ถ้าเปรียบเทียบว่า สังคมผู้สูงวัยที่ประเทศไทยกำลังก้าวไปถึงอย่างรวดเร็วนี้เสมือน สึนามิ เราก็อยู่ในช่วงน้ำทะเลลด ก่อนที่คลื่นยักษ์จะถาโถมเพราะฉะนั้นเราต้องปรับตัวให้ทัน เตรียมความพร้อมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

2.เรื่องของผู้สูงอายุนั้นไม่ควรเป็นเรื่องเฉพาะภาครัฐ แต่ควรมีความร่วมมือกับภาคเอกชนด้วยควรหาทางให้ภาคเอกชนมาร่วมคิด ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนมีความสนใจด้านธุรกิจในการผลิตสินค้าและบริการให้ผู้สูงวัยในหลายๆ เรื่องอยู่แล้ว แต่ควรมีส่วนร่วมในเชิงสังคมให้มากขึ้น

3.สังคมผู้สูงอายุกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องไปด้วยกันถ้าเรามีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นแต่เป็นผู้สูงอายุแบบติดบ้านติดเตียง เป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีคุณภาพ แบบนี้ก็ไม่ทำให้สังคมมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราจะทำอย่างไรให้ทั้งความเป็นสังคมผู้สูงอายุและการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน เพราะทั้ง 2 เรื่องเป็นทั้งเหตุและผลซึ่งกันและกัน

4.เราควรมองให้ไกลถึงจุดสูงสุดที่สังคมผู้สูงอายุมีผู้สูงวัยมากสุด และจากจุดนั้นจำนวนผู้สูงวัยจะลดลง เพราะในที่สุดแล้วผู้สูงอายุก็ต้องเสียชีวิตและเด็กรุ่นใหม่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้สูงอายุแทนด้วยจำนวนที่ลดลง สภาวะสมดุลจะเกิด เราต้องวางแผนระยะยาว

5.สภาวะความเป็นผู้สูงวัยอาจมีสุขภาพจิตดีขึ้นถ้ามีสัตว์เลี้ยงที่ชอบเช่นสุนัขหรือแมว ขณะนี้เรามีปัญหาเรื่องจำนวนสุนัขและแมวที่มีมากเกินไป ถ้าหากเอาเรื่องทั้งสองมาเชื่อมโยงกันได้ เราอาจแก้ได้ทั้ง 2ปัญหา

6.สภาวะการติดบ้านติดเตียงทำให้ผู้สูงอายุต้องมีคนดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา แต่ถ้าทำให้ผู้สูงอายุติดสังคมมีการออกไปพบปะกันในสังคมชุมชนได้ก็อาจช่วยเรื่องสุขภาพจิตให้ดีขึ้นซึ่งการเดินทางไปพบปะร่วมกิจกรรมนั้นถ้าเป็นเรื่องภายในชุมชนหรือใกล้เคียง การเดินและจักรยานน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสม เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายและทำให้สุขภาพกายดีขึ้นด้วย เรื่องนี้อยู่ในแผนสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 คือฉบับปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการเดินทางด้วยยานพาหนะที่ไม่ใช่เครื่องยนต์ โดยเฉพาะการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

7.เรื่องการตั้งครรภ์ของมารดา แม้ว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องสุขภาพของมารดาและเด็กในครรภ์มารดาเป็นหลัก แต่ในอีกมิติหนึ่งเราก็มีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรและปัญหาการทำแท้ง ปัญหานี้ทำให้เด็กเกิดใหม่ที่อัตราการเกิดลดน้อยลงอยู่แล้วยังต้องมาเจอปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรและการทำแท้งที่ผิดกฎหมาย เราจะทำอย่างไรให้ปัญหานี้ลดลง ได้คนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรง เป็นกำลังในการทำงาน สามารถดูแลผู้สูงอายุได้มากขึ้นเพราะจำนวนสัดส่วนระหว่างคนทำงาน 1 คนที่ต้องดูแลผู้สูงอายุกำลังห่างกันมากขึ้น ต้องดูแลคนมากขึ้น

8.เรื่องการออกแบบที่พักอาศัยตลอดจนยานพาหนะในการเดินทางที่ผู้สูงอายุสามารถร่วมใช้ได้ที่เรียกว่าอารยะสถาปัตย์ หรือ universal design เป็นเรื่องดี แต่ปัญหาก็คือผู้สูงอายุของประเทศเราจำนวนมากกว่า 1/3 เป็นคนยากจน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน คงไม่สามารถปรับปรุงบ้านให้มีลักษณะเหมาะสำหรับผู้สูงอายุเหมือนกลุ่มคนมีเงินเราต้องมาช่วยกันคิดว่าจะสามารถลดต้นทุนในการทำให้บ้านเหมาะสมกับผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไร เราควรจะมีกฎหมายเหมือนที่สหรัฐคือกฎหมายป้องกันหกล้มหรือไม่เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถอยู่บ้านที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตบั้นปลายแบบพอเพียง

9.ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือการใช้ยามากเกินไปและเกินความจำเป็นของผู้สูงอายุซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตเช่นกัน ในสหรัฐได้เห็นความสำคัญเรื่องการใช้ยา (opiods) อย่างพร่ำเพรื่อมากเกินไปนี้ และประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องถึงการจ่ายยาของโรงพยาบาลรัฐที่ผู้เข้ารับการรักษาได้ไปฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เกิดปัญหาต่อเนื่องอย่างอื่น ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายเวชภัณฑ์ ขาดทุน ผู้ป่วยได้ยามากเกินไป ไม่ได้ใช้ เหลือทิ้ง และใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ

10.เรื่องการออกกำลังกลางแจ้งในสังคมชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ แก้ปัญหาการติดบ้านติดเตียง สุขภาพดีทั้งกายทั้งใจเราควรเพิ่มบทบาทของหน่วยงานในพื้นที่เช่นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลสุขภาพตำบล โดยเฉพาะ รพ.สต.ที่ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ต้องให้มีบทบาทมากขึ้น และ

11.ผู้สูงวัยทั้งหมดจะหนีไม่พ้นสภาพที่เรียกว่า หงิก งอ หง่อม เราต้องรับสภาพนี้ แต่ควรเพิ่มความเรียบง่ายในการใช้ชีวิตก่อนจากไป และวันสุดท้ายๆของชีวิตที่ควรจากไปอย่างเรียบง่าย ชีวิตของผู้สูงวัยต้องเตรียมรับสภาพ 4 ง. คือ หงิก งอ หง่อม และ ง่าย อย่าให้ชีวิตในบั้นปลายเป็นภาระแก่ลูกหลานมากเกินไป ควรคิดถึงการดูแลแบบประคับประคอง ไม่ทุ่มค่าใช้จ่ายวันท้ายๆของชีวิตจนเกิดภาระหนี้สินลูกหลาน กลายเป็นเรื่องคนตายขายคนเป็น 

ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองของผู้สูงวัยที่ไม่ใช่คนร่ำรวย แต่เราจะทำอย่างไรให้พวกเขาอยู่ได้อย่างมีความสุข อย่างพอเพียง และจากไปอย่างไม่ทิ้งภาระให้ลูกหลานจนเกินไป