เวเนซูเอล่า

เวเนซูเอล่า

เวเนซูเอล่า

ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ IMD ล่าสุดของปี 2561 สหรัฐอเมริกาแซงฮ่องกงแชมป์เก่าขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง และสิงคโปร์มาเป็นอันดับที่สาม  ในขณะที่ประเทศไทยตกลงไปสามอันดับ จากที่ 27 ตกลงไปลำดับที่ 30

ปีนี้ IMD จัดอันดับ 63 ประเทศ เพิ่มขึ้นมาสองประเทศ คือ มองโกเลีย และเวเนซูเอล่า และสองประเทศใหม่ก็รั้งอันดับท้าย คือมองโกเลียได้อันดับที่ 62 ในขณะที่เวเนซูเอล่า รั้งอันดับสุดท้าย

เวเนซูเอล่าเพิ่งมีการเลือกประธานาธิบดีไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา และประธานาธิบดี มาดูโร ได้รับชัยชนะบริหารประเทศอีกหกปี นับเป็นสมัยที่สอง ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ดิฉันไปบรรยายเรื่องการลงทุน มีผู้ถามว่า เป็นจังหวะดีที่จะลงทุนในเวเนซูเอล่าหรือไม่ วันนี้จึงขอเขียนถึงค่ะ

เวเนซูเอล่า เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ เนื้อที่ประมาณ 912,050 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นดิน 882,050 ตารางกิโลเมตร ส่วนอีก 30,000 ตารางกิโลเมตรเป็นผืนน้ำ มีประชากรประมาณ 31.3 ล้านคน ส่วนใหญ่เชื้อสายสเปน นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

เวเนซูเอล่าเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้วมากที่สุดในโลก และเศรษฐกิจของเวเนซูเอล่าก็พึ่งพาน้ำมันเป็นอย่างมาก เกือบจะเรียกได้ว่าน้ำมันเป็นสินค้าหลักอย่างเดียวของประเทศ โดยเป็นสัดส่วนถึง 95% ของจีดีพีเลยทีเดียว

ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันลดลงไปอย่างมากตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของเวเนซูเอล่าจึงมีการหดตัว ประมาณว่ารายได้ประชาชาติวัดจากจีดีพี ในปี 2560 เท่ากับประมาณ 215,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และจีดีพีลดลงเรื่อยๆ โดยลดลงประมาณ 6.2% ในปี 2558 ลดลง 16.5% ในปี 2559 และลดอีก 12% ในปี 2560 ทั้งนี้ รายได้ต่อหัวก็ลดลงจากเฉลี่ย 17,300 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 เหลือ 12,400 ดอลลาร์ในปีที่แล้ว

เนื่องจากรัฐบาลพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อราคาน้ำมันลด รายได้ของรัฐก็ลดลงด้วย

จึงทำให้ต้องตัดลดงบประมาณหลายอย่าง นอกจากนี้เนื่องจากการส่งออกน้ำมันมีมูลค่าลดลง เงินตราต่างประเทศจึงหายาก การซื้อขายเงินตราต่างประเทศจึงอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และเกิดตลาดมืดขึ้น

เวเนซูเอล่ายังเป็นประเทศไม่กี่ประเทศในโลกปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูงและอัตราเงินเฟ้อยังสูงอยู่ โดยอัตราเงินเฟ้อในปี 2560 เท่ากับ 652.7% ในขณะที่ปี 2559 อยู่ที่ 254.4% และ ไอเอ็มเอฟคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ 2,068% โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อท่วมคือการอ่อนตัวของค่าเงินค่ะ

สินค้าส่งออกหลักของเวเนซูเอล่าคือ น้ำมัน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวเนซูเอล่าคือ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และจีน ในขณะที่นำเข้ามากที่สุดเรียงลำดับคือ จากสหรัฐอเมริกา จีน และบราซิล สินค้านำเข้ามีทั้งพืชผลการเกษตร ปศุสัตว์ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เครื่องจักรอุปกรณ์

ปัญหาของประเทศนี้พัวพันกันไปหมดตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ปัญหาความอดอยาก และยากจน มีประชากรจำนวนมากยังอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน อัตราการว่างงานสูงถึง 25% อาชญากรรมสูง พลเมืองแทบจะหารายได้ไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง สินค้าจำเป็นขาดแคลน แม้กระทั่งยาคุมกำเนิดก็ขาดแคลนทำให้เกิดคุณแม่วัยใสเพิ่มขึ้น การคมนาคมขนส่งมีบริการไม่เพียงพอ ต้องใช้เวลาถึงหนึ่งชั่วโมงในการรอรถเมล์เพื่อกลับบ้านในแต่ละวัน มลภาวะและสภาพแวดล้อมถูกทำลายจากการทำอุตสาหกรรมแบบไร้ความรับผิดชอบ ตอนนี้มีการประท้วงเกิดขึ้นรายวัน ประท้วงทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องปากท้อง 

ดิฉันไปดูโครงสร้างประชากรแล้ว มีประชากรวัยต่ำกว่า 15 ปีค่อนข้างมาก คือมีสัดส่วนถึง 27.36% ในขณะที่มีวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (15-24 ปี) 17.03% และวัยทำงาน (25-54 ปี) 40.53% สูงวัยตอนต้น (55-64 ปี) ในสัดส่วน 7.98% และสูงวัย (65 ปีขึ้นไป) 7.09% เวเนซูเอล่าถือเป็นประเทศของคนหนุ่มสาว โครงสร้างประชากรยังเป็นรูปปิรามิดยอดแหลมสวยงามค่ะ แต่ประชากรจะมีคุณภาพหรือไม่เป็นอีกปัญหาที่รัฐบาลเวเนซูเอล่าต้องขบคิด

หากมองย้อนไปในอดีต เวเนซูเอล่า ซึ่งเป็นประเทศที่มีสาวงามเข้ารอบสุดท้ายของการประกวดนางงามจักรวาลมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง มีประวัติทางเศรษฐกิจที่น่าเศร้า คือการจัดอันดับความน่าเชื่อถือถูกลดลงมาตลอด จากที่เคยได้ สามเอ (Aaa)จากมูดีส์ ในปี 2519 ลดมาเป็นสองเอ (Aa) ในปี 2526  Ba2 ในปี 2530 และถอยเป็น Ba3 ในปลายปีเดียวกัน ก่อนที่จะขยับขึ้นเป็น Ba1 และลดลงเหลือ B ตัวเดียวในปี 2541 หลังจากนั้นก็ขยับไปมาระหว่าง B1 B2 จนกระทั่งปี 2013 ได้ถอยมาอยู่ Caa1 (เท่ากับ CCC+)ในปี 2013 และถอยลงมาเหลือ Caa3 (เท่ากับ CCC-) และล่าสุดในเดือนมีนาคมปี 2018 ถูกจัดอันดับเหลือเพียง C ซึ่งก็เป็นระดับเดียวกับที่ฟิทช์เรทติ้งส์ให้ไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2560 และเป็นระดับเดียวกับกรีซ ก่อนปรับโครงสร้างยืดอายุหนี้ต่างประเทศ

มีข่าวว่ารัฐบาลได้ผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรล็อตเล็กๆ แต่ยังไม่ผิดนัดชำระพันธบัตรต่างประเทศ โดยประธานาธิบดีออกมาชี้แจงว่า กำลังเตรียมแผนการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ แต่ดูแล้วลำบาก กรีซมีอียูหนุนหลัง ในขณะที่เวเนซูเอล่าไม่มีใคร เพราะสหรัฐก็บอยคอต คงเหลือแต่จีนที่เข้าไปลงทุนมาก ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ถึงการเอารัดเอาเปรียบคนท้องถิ่น

ถ้าถามเรื่องการลงทุนก็ต้องบอกว่า ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลย และจริงๆแล้วยังมีเหวอยู่ ไม่มีประเทศไหนอยู่ได้ด้วยอัตราเงินเฟ้อแบบนี้ นอกจากนี้ปัญหาเศรษฐกิจยังนำไปสู่ปัญหาการเมืองและสังคม ซึ่งหากแก้ไขปัญหาการเมืองและสังคมไม่ดี จะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว เพราะฉะนั้น การเข้าไปลงทุนเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งค่ะ

อ่านแล้วทำให้รักประเทศไทยมากขึ้น  นึกดีใจว่า มีทรัพยากรและภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เหมาะกับการเกษตร ดีกว่ามีน้ำมันเยอะๆค่ะ อย่างน้อยก็ไม่อดตาย