แรงขายต่างชาติ VS บอนด์ยิลด์

แรงขายต่างชาติ VS บอนด์ยิลด์

แรงขายต่างชาติ VS บอนด์ยิลด์

สภาวะตลาดทุนไทยในรอบเดือนที่ผ่านมามีประเด็นร้อนแรงที่น่าสนใจ คงหนีไม่พ้นการเทขายหุ้นไทยของ นักลงทุนต่างชาติที่ส่วนหนึ่งหันกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ระยะยาว 10 ปีนั้น ที่อัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้นเกินร้อยละ 3 ในรอบ 7 ปี อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ มากกว่าจะลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งวันนี้ ทางฝ่ายวิเคราะห์ ASL Securities จะมาวิเคราะห์ เจาะลึกให้กับผู้อ่านและนักลงทุนทุกท่านได้ติดตามกันครับ

สาเหตุที่ นักลงทุนเลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยมีปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวก็คือรัฐบาลล้มละลาย ดังนั้นพันธบัตรรัฐบาลจึงเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเป็นอยากมากซึ่งถูกใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1693 โดยธนาคารกลางของประเทศอังกฤษ (BoE) โดยจุดประสงค์แรกของเขาคือการหาเงินเพื่อทำสงครามกับประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้นมา พันธบัตรรัฐบาลก็ถูกใช้แพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งจุดประสงค์ของมันก็เปลี่ยนไปจากเพื่อสงคราม กลายมาเป็นเพื่อเศรษฐกิจ รัฐบาลจะนำเงินไปลงทุนและพัฒนาประเทศของตัวเอง ขณะที่ในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ออกจำหน่ายพันธบัตร จำนวนมูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท เป็นพันธบัตรรุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 2.15 ต่อปี และ พันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี ซึ่งราคาของพันธบัตรจะขึ้นอยู่กับความต้องการของคนในตลาดถ้าเศรษฐกิจเติบอย่างแข็งแรง ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุนก็จะลดน้อยลง แต่ถ้าหากเศรษฐกิจตกต่ำความต้องการของสินทรัพย์ปลอดภัยจะเพิ่มขึ้น

หากต้องอธิบายด้วยทฤษฎีผ่านนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกานาม เออร์วิง ฟิชเชอร์ ซึ่งคิดค้นทฤษฎี Fisher Effect ในปี 1930 และเป็นที่โด่งดัง เราจะได้สมการตั้งต้น “อัตราดอกเบี้ย (Rn) = อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (r) + อัตราเงินเฟ้อที่คาดหวัง (infe)” ซึ่ง Rn เป็นอัตราดอกเบี้ยตลาดที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ตัวแปร r และ infe เป็นสิ่งที่ นักลงทุนต้องคาดการณ์ ด้วยสมการของฟิชเชอร์ จะสามารถรับรู้ได้ถึงที่มาของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล อย่างกรณีผลตอบแทนพันธบัตร สรอ. พุ่งขึ้นถึงร้อยละ 3.106 สูงสุดในรอบ 7 ปี สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้กรอบ (infe) ที่ตั้งเป้าไว้ร้อยละ 2 สะท้อนว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่แข็งแกร่งขึ้น ส่งผลให้กระแสเงินทุนไหลเข้าไปในประเทศสหรัฐอเมริกา

ดังนั้นแล้วจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าเหตุที่ นักลงทุนต่างชาติจึงย้ายกลับไปลงทุนในพันธบัตรสหัรฐ มากกว่านั้น พันธบัตรรัฐบาลยังถูกจัดตั้งอันดับ Credit Rating ในอันดับ AA+ Ranking ส่วนไทยนั้นอยู่ในอันดับ BBB+ และยิ่งไปกว่านั้น ความเสี่ยงจากสภาพคล่องในสหรัฐก็มีน้อยกว่าของไทยเป็นอย่างมาก และจากข้อมูลในอดีต จะเห็นถึงความสำคัญระหว่างอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรสหรัฐกับนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นอย่างชัดเจน ประกอบกับปัจจัยลบภายในอย่างผลประกอบการของบริษัทใหญ่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังและปัญหาทางด้านการเมือง ด้วยเหตุผลเหล่านี้ การที่จะดึงกระแสเงินทุนให้ไหลกลับมาที่ไทยจำเป็นต้องการปัจจัยบวกที่มีนัยสำคัญ อย่างความแน่นอนทางการเมืองที่จะช่วยเรียกคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ และความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่กระจายตัวไปในแต่ละกลุ่มมากชึ้น

ท้ายสุดนี้ทางฝ่ายวิเคราะห์ ASL Securities คาดการณ์แนวโน้มตลาดหุ้นไทย การเติบโตของ EPS ทั้งตลาดที่ระดับเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 12.50 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่า EPS Growth จากสรุปผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เดือน พ.ค ที่ระดับเฉลี่ยร้อยละ 11.10 เป็นตัวเลขประมาณการที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ระดับดัชนีที่คำนวณได้โดยวิธี PE Ratio ที่ 17.50 เท่าดัชนีจะอยู่ที่ 1,925.43 ซึ่งเป็นตัวเลขแทนกรอบบน ในขณะที่กรอบล่างฝ่ายฯตั้งสมมติฐานที่ระดับ 15.50 เท่าดัชนีจะอยู่ที่ 1,705.38 ค่ากลางที่มีความเป็นไปได้มากจะอยู่ที่ระดับ 1,815.50 ทั้งนี้ระดับดัชนีดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขประมาณการณ์เท่านั้น ซึ่งเมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับสรุปผลสำรวจดังกล่าว ระดับเฉลี่ยช่วงที่เหลือของปี 2561 ที่ 1,885 และระดับดัชนีสูงสุดทีในกรอบเกิน 1,900 ขึ้นไป(ขอขอบคุณข้อมูลIAA Survey)