นักลงทุน กับ 'อนาคตใหม่'

นักลงทุน กับ 'อนาคตใหม่'

หากเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน ตลาดหุ้นก็ย่อมจะสะท้อนภาพนั้นออกมา

เที่ยงตรงวันนี้ (อาทิตย์ที่ 27 พ.ค.) มีการประชุมจัดตั้ง 'พรรคอนาคตใหม่' ที่ มธ. ศูนย์รังสิต โดยที่ผ่านมา การประกาศเข้ามาทำงานการเมืองของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ร่วมด้วย ปิยบุตร แสงกนกกุล นักกฏหมายไฟแรงจากคณะนิติราษฎร์ ดูจะสร้างกระแสความสนใจให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่คนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศ

ผมเองอยู่ในสังคมของนักลงทุนเน้นมูลค่า หรือ 'วีไอ' ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง แต่สิ่งหนึ่งซึ่งสังเกตเห็นมาตลอดก็คือ คนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะพวก 'วีไอพันธุ์แท้' หลายคน มีมุมมองทางการเมืองที่ยึดโยงอยู่กับ 'ความเป็นจริง' ค่อนข้างมาก เท่าที่เคยคุยเคยถาม นโยบายหรือหลักเศรษฐกิจที่วีไอจำนวนมากชื่นชอบ คือนโยบายที่สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศในระยะยาว ไม่ใช่อะไรที่ 'โลกสวย' ฟังดูดี แต่แท้จริงแล้วล้าหลัง หรือถึงขั้นฉุดรั้งความเจริญของชาติ

ในความคิดของผม หากประเทศไทยมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นปีหน้าจริง พรรคการเมืองที่คนเป็นวีไอ รวมทั้งนักลงทุนทั่วๆ ไปน่าจะต้องการสนับสนุน นอกจากจะเป็นพรรคที่ผู้นำและทีมเศรษฐกิจมีความสามารถและความคิดก้าวไกลแล้ว ผมมองว่าเรื่องของ 'การกระจายความมั่งคั่ง' เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องมุ่งเน้น

ธนาธรเพิ่งให้สัมภาษณ์ GM Live สรุปความได้ว่า แม้ GDP ของไทยจะโต 4 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ กลุ่มมหาเศรษฐี หรือคนรวย 50 อันดับแรกของประเทศ กลับมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นถึงราว 30 เปอร์เซ็นต์ นั่นแปลว่าอะไร? ก็แปลว่าคนจนคนรากหญ้า ไม่มีทางที่ฐานะความเป็นอยู่จะดีขึ้นถึง 4 เปอร์เซ็นต์แน่ๆ เพราะความร่ำรวยไปกระจุกอยู่ข้างบนหมดแล้ว อีกทั้งเงินที่ใช้ไปในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

นี่เป็นคำตอบต่อข้อสงสัยของใครหลายคนที่ถามว่า 'เศรษฐกิจดีขึ้น ทำไมเดินตลาดมีแต่คนบ่น' ก็เพราะสิ่งที่ดำรงอยู่ต่อเนื่องมาหลายปี คือ 'รวยกระจุก จนกระจาย' มีแต่ 'ความเหลื่อมล้ำ' เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เราเห็นข่าวบริษัทยักษ์ใหญ่ทุ่มเงินซื้อที่ดินกลางเมือง ผุดอภิมหาโปรเจ็กต์แข่งกันเป็นว่าเล่น ชาวบ้านตาดำๆ กลับเป็นหนี้เป็นสิน ชีวิตลำบากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ผู้ที่เหมาะสมจะมาเป็นผู้นำประเทศคนต่อไป จึงควรเป็นคนที่พร้อมจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งลดช่องว่างทางชนชั้น สร้างความเป็นธรรมในทุกระดับ

และแน่นอน หากเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน ตลาดหุ้นก็ย่อมจะสะท้อนภาพนั้นออกมา (ลองนึกถึงตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่สะท้อนผลงานทางเศรษฐกิจของ ชินโสะ อาเบะ ให้เห็นกันมาแล้วก่อนหน้านี้) ซึ่งท้ายที่สุด นักลงทุนอย่างเราๆ นี่แหละ ที่จะได้รับประโยชน์โพดผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย

สุดท้ายแล้ว ผมเชื่อว่า ด้วยทางเลือกที่มีอยู่ ณ วันนี้ กับภาพแห่ง 'อดีต' และ 'อนาคต' ที่แตกต่างกันชัดเจนขึ้นทุกที จะเลือกเดินไปทางไหน ทาง 'สายใหม่' หรือ 'สายเก่า' คนไทยจะตัดสินใจได้เอง

ขอเพียงเรามีโอกาส 'ได้เลือก' เท่านั้น