ความกังวลของนักลงทุน

ความกังวลของนักลงทุน

เมื่อต้นปีนักลงทุนและโบรกเกอร์ เห็นพ้องต้องกันว่าราคาหุ้นจะปรับขึ้นได้ดีในปีนี้ ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว

 เพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างทั่วถึง และกว้างขวาง โดยสหรัฐจะเป็นหัวหอก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้เกือบ 3% (ในขณะที่ยุโรปและญี่ปุ่นขยายตัวได้ 2%) จากแรงกระตุ้นของนโยบายการคลัง 2 เด้งคือ การลดภาษี และการเพิ่มรายจ่ายของรัฐบาลสหรัฐ สำหรับประเด็นที่เป็นห่วงคือการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางสหรัฐและความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์นั้น ก็เชื่อว่า จะไม่รุนแรงมากนัก

แต่เวลาผ่านมาเกือบครึ่งปีแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด กล่าวคือ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมน่าจะยังขยายตัวได้ดีตามคาด แต่ราคาหุ้นไม่ได้ปรับตัวขึ้นเลย หลายคนอาจมองไปที่การดำเนินนโยบายของทรัมป์ ที่เปิดศึกหลายด้านพร้อม ๆ กัน คือ

  1. เก็บภาษีเหล็กกล้า และอลูมิเนียม 25% ซึ่งทำให้สหรัฐต้องทะเลาะกับประเทศคู่ค้าทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่เป็นพันธมิตรในยุโรปและเอเชีย และยังทำให้ความรู้สึกไม่เป็นมิตรเพิ่มขึ้นอีก เมื่อประกาศจะพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์เป็น 25% โดยอ้างว่าอาจต้องทำเพื่อความมั่นคงของประเทศ
  2. เปิดศึกการกีดกันการค้ากับจีนที่ดูเหมือนว่าจะยืดเยื้อไปอีกนานและน่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเพราะขัดแย้งกันในประเด็นพื้นฐาน โดยสหรัฐต้องการให้รัฐบาลจีนหยุดการสนับสนุนและผลักดันให้บริษัทจีนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกทัดเทียมกับสหรัฐ
  3. สร้างความคาดหวังเรื่องการประชุมกับผู้นำเกาหลีเหนือ แต่ก็ต้องพึ่งพาจีนที่กำลังทะเลาะกับสหรัฐในเรื่องการค้า
  4. เจรจารื้อข้อตกลงนาฟต้าแต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้จนหมดเวลาแล้ว เพราะรัฐสภาสหรัฐเตือนว่าต้องบรรลุข้อตกลงให้ได้ภายในวันที่ 18 พฤษภาคม รัฐสภาจึงจะมีเวลาผ่านกฎหมายรองรับออกมาได้ ซึ่งหากเลยเวลาก็จะต้องทำข้อตกลงแบบฉบับย่อย (“Skinny Nafta”) แปลว่าไม่ได้มีผลงานเต็มเม็ดเต็มหน่วยแต่อย่างใด
  5. การถอนตัวออกจากข้อตกลงการยุติพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ กับอิหร่านโดยไม่มี “แผน 2 “ ว่าจะทำอะไรต่อไปอย่างไร เป็นผลให้สหรัฐต้องออกมาข่มขู่อิหร่าน และประเทศยุโรป ที่เป็นพันธมิตรของอิหร่านให้ต้องเคารพการคว่ำบาตร โดยสหรัฐอย่างเคร่งครัด
  6. ประกาศให้มีการสอบสวนว่า ควรจะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์เป็น 25%(จาก 5%) หรือไม่ โดยอ้างความมั่นคง ซึ่งจะทำให้ประเทศคู่ค้าไม่พอใจและตอบโต้สหรัฐได้

ประเด็นของผมคือ เศรษฐกิจโลกปัจจุบันนั้นเป็นระบบเปิด (open architecture) และส่งเสริมให้สร้างเครือข่ายและห่วงโซ่การผลิต (global production supply chain) แต่สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐกำลังทำอยู่ในขณะนี้ กำลังสร้างความแบ่งแยกทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพราะนึกว่าอเมริกาจะได้เปรียบในการเรียกประเทศคู่ค้ามาเจรจาเป็นราย ๆ ไป กล่าวคือใช้ยุทธวิธี เจรจาแบบทวิภาคี (bilateralism) ในระบบเศรษฐกิจโลกที่ในอดีตรัฐบาลสหรัฐออกแบบขึ้นมาเองให้เป็นระบบพหุภาคี (multilateralism) คิดง่าย ๆ คือ ในอดีต บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะลงทุนในจีน (หรือที่ไหน ๆ ก็ได้) เพื่อผลิตสินค้าไปขายที่อเมริกา (หรือที่ไหน ๆ ก็ได้) แต่ปัจจุบันน่าจะเริ่มไม่แน่ใจเสียแล้วว่าจะใช้สมมุติฐานดังกล่าวได้อีกหรือไม่ ดังนั้น ผมจึงไม่แปลกใจ หากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทข้ามชาติจะรีรอ และไม่เร่งลงทุน เนื่องจากต้องประเมินความเปลี่ยนแปลง และความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกอย่างระมัดระวังอีกครั้งหนึ่ง

ประกอบกับการที่ผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ของสหรัฐคือ นาย Jerome Powell แสดงท่าทีที่ค่อนข้างจะแข็งขันว่า ต้องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเกินกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์เอาไว้ ก่อนหน้า ทำให้ดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 2 ปี ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปที่ 2.5% แล้วในขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี ก็สูงกว่า 3% แล้ว และมีแนวโน้มว่าจะต้องปรับเพิ่มขึ้นไปได้อีก ดังที่ผมเคยเขียนถึงในครั้งก่อน ๆ การที่ธนาคารกลางสหรัฐมีความมุ่งมั่นในการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น เกินกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์เอาไว้ ทำให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นการแข็งตัวชั่วคราว 6-7 เดือน มากกว่าเป็นการแข็งตัวต่อเนื่องไปอีกเป็นปี) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศ ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยเฉพาะการมีหนี้สินต่างประเทศมาก การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการมีทุนสำรองไม่เพียงพอ ซึ่งแม้ประเทศไทย จะมิได้มีจุดอ่อน เช่นว่านี้เลย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ จึงได้รับผลกระทบในเชิงของการอ่อนตัวของค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ไปด้วย แม้ว่าเงินบาทจะยังแข็งค่า เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่น

แปลว่าแทนที่เศรษฐกิจโลกจะเป็น synchronous global recovery ที่นักลงทุนคาดหวังเอาไว้ ก็กลับกลายเป็นความกลัวว่า global divergence and divisions กำลังเกิดขึ้นครับ