อย่าเพิ่งดีใจกับ...ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน

อย่าเพิ่งดีใจกับ...ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน

อย่าเพิ่งดีใจกับ...ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน

เมื่อศุกร์ที่แล้ว มีข่าวลือหนาหูว่าจีนเสนอจะลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.7% ของ GDP จีน ในปี 2560) ต่อมาในวันเสาร์ สหรัฐฯ และจีน ออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ข้อตกลงว่า จีนจะซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ “เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” แต่ไม่กำหนดมูลค่าชัดเจน เพราะยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องที่จีนขอให้สหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตรบริษัท ZTE ซึ่งเป็นบริษัทสื่อสารใหญ่อันดับ 2 ของจีน ที่ให้บริการเครือข่าย รวมถึงผลิตสินค้า Smartphone ซึ่งถูก ปธน. ทรัมป์ สั่งห้ามซื้อชิ้นส่วนผลิตมือถือจากสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น 25-30% ของชิ้นส่วนทั้งหมด สืบเนื่องจากการลอบขายส่งอุปกรณ์โทรคมนาคมไปอิหร่านและเกาหลีเหนือ ซึ่งขัดกับมาตรการทางการเมืองของสหรัฐฯ จีนพยายามช่วยเหลือ ZTE เพราะเป็นเฟืองตัวสำคัญในการขับเคลื่อนจีนสู่นวัตกรรมใหม่ผ่านนโยบาย Made in China 2025

แม้ยังไม่มีข้อตกลงชัดเจน อย่างน้อยสหรัฐฯ และจีนก็ยุติสงครามการค้าชั่วคราว ดูแล้วน่าจะเป็นบรรยากาศดีๆ ให้ตลาด เพราะลดโอกาสที่การตอบโต้ทางการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ จะลุกลามใหญ่โตเป็นสงครามการค้า ส่งผลให้เปิดตลาดหุ้นจีนในเช้าวันจันทร์อย่างสดใส โดยดัชนี Shanghai Composite และ HSCEI เพิ่มขึ้น 1.7% และ 1.3% ตามลำดับ ขณะที่ค่าเงินหยวนอ่อนลงเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี ข้อตกลงนี้ยังขาดรายละเอียดอีกมาก เช่น

  • ไม่มีกำหนดเส้นตายว่าต้องสำเร็จเมื่อใด จากเดิม สหรัฐฯ ขอให้ขาดดุลการค้ากับจีนลดลง 2 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2020
  • จีนจะมีแผนงานรวมถึงขั้นตอนอย่างไรเพื่อลดการเกินดุลการค้าให้สำเร็จ
  • การวัดผลจะใช้ตัวเลขจากจีน หรือสหรัฐฯ
  • จีนต้องการอะไรตอบแทน นอกจากยกเลิกการคว่ำบาตร ZTE

 

ระหว่างที่รอความชัดเจน นักลงทุนสามารถพิจารณาเบื้องต้นได้ก่อนว่า การที่จีนจะลดการเกินดุลการค้า “อย่างมีนัยสำคัญ” กับสหรัฐฯ นั้นเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ข้อมูล ณ สิ้นปี 2560 สหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกไปจีน 1.5 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่านำเข้าจากจีน 5 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้น หากต้องการลดระดับขาดดุลการค้าลง 2 แสนล้านดอลลาร์ เท่ากับว่าสหรัฐฯ ต้องส่งออกไปจีนมากขึ้นกว่าอีกเท่าตัว หรือนำเข้าน้อยลงมากกว่าเท่าตัว หรือจะส่วนผสมของทั้ง 2 ทางเลือก ซึ่งดูท่าจะยากมากในความเป็นจริง เพราะในปี 2560 สินค้าส่งออกสำคัญจากสหรัฐฯ ไปจีน หลายประเภทมีปริมาณสูงสุดในรอบ 10 ปี เช่น เครื่องบิน เครื่องจักรกล และน้ำมันดิบ ดังนั้น สิ่งที่จีนจะสามารถทำได้เพิ่มเติมเพื่อลดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลงจะต้องถูกผลักดันเชิงนโยบายอย่างเข้มข้น เช่น

  • จีนนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มากขึ้น โดยล่าสุดจีนได้ยกเลิกการสืบสวนภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) ข้าวฟ่างจากสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มต้นไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
  • จีนเปิดตลาดการเงินการธนาคารให้สหรัฐฯ มากขึ้น
  • จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าส่งออกหลักของสหรัฐฯ ลง โดยล่าสุด จีนประกาศลดภาษีนำเข้ารถยนต์ส่วนบุคคลลงจาก 25% มาที่ 15% (ขณะที่ภาษีนำเข้าของรถยนต์จีนไปสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.5%) รวมถึงลดภาษีนำเข้าส่วนประกอบรถยนต์มาที่ 6% ทั้งนี้ จะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม นี้ นอกจากนี้ จีนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศมาเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในจีนได้ภายในปีนี้

สำหรับผลกระทบโดยรวมกับจีน ยังไม่สามารถประเมินได้แน่ชัด แต่จากคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่รวบรวมโดย Bloomberg ต่างมองว่าการที่จีนจะลดเกินดุลการค้า 2 แสนล้านดอลลาร์ กับสหรัฐฯ จะส่งผลลบต่อ GDP จีน ราวๆ 1% โดยผลกระทบส่วนที่เหลือจะถูกส่งต่อไปยังกลุ่มประเทศที่จีนนำเข้าวัตถุดิบต้นน้ำมาเพื่อแปรรูป อย่างไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรจับตาดูผลกระทบระยะยาว และทุกด้าน จากทั้งสองประเทศคู่ค้า เพราะสิ่งที่ตั้งเป้าหมายกับสิ่งที่ทำได้จริงอาจแตกต่างกัน ล่าสุด ปธน.ทรัมป์ ยังออกมาประกาศว่ายังไม่พอใจกับข้อตกลงนี้ รวมถึงระบุว่ายังไม่มีการตกลงใดๆ เกี่ยวกับการยกเลิกการคว่ำบาตร ZTE ดังนั้น การเชือดเฉือนระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจยังไม่สิ้นสุดลง โดยฝ่ายน้ำเงินอย่างสหรัฐฯ มีอาวุธสำคัญคือ มาตรการคว่ำบาตร ZTE ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจีน ขณะที่ฝ่ายแดงอย่างจีน ก็กุมอำนาจด้านการค้า รวมถึงการผลิตสินค้าราคาถูก คุณภาพดี รวมถึงบทบาทของจีนต่อเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนยากที่สหรัฐฯ จะเพิกเฉยได้ต่อไป