สันติภาพของไทย เราทำได้ดีแค่ไหนกัน

สันติภาพของไทย เราทำได้ดีแค่ไหนกัน

“การตอบโต้กันแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน จะนำไปสู่โลกที่มืดมิดสำหรับทุกคน” มหาตมะ คานธี

ในขณะที่มาเลเซียเพิ่งจัดการเลือกตั้ง จนได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งเป็นอดีตนายกในวัย 92 ปี สำหรับประเทศไทย การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนที่อยากเลือกตั้งเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ก็น่าจะถือเป็นการโหมโรงเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเลือกตั้งได้เหมือนกัน หากไม่มีเหตุปัจจัยให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก หลังจากนี้ไป การเคลื่อนไปทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ น่าจะมีความคึกคักมากขึ้น

ข่าวการเลือกตั้งคงทำให้หลายคนยิ้มได้ แต่ก็คงยิ้มได้ไม่นานนักเพราะถ้ามองข้ามช็อตไปถึงหลังเลือกตั้ง ก็พอจะเห็นเค้าลางของความวุ่นวายรอคิวจะออกโรงอยู่ จึงอดหวั่นใจไม่ได้ว่า หากความวุ่นวายเกิดขึ้นจนเกินควบคุม ประเทศไทยคงถูกลากไปสู่วัฏจักรการเมืองเดิมที่มีการเลือกตั้ง มีการชุมนุมประท้วง มีการยึดอำนาจ แล้วก็มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

ปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงหนุนกงกรรมกงเกวียนของไทยมาหลายสิบปี คือ ท่าทีที่คนไทยมีต่อคนไทยด้วยกันเอง ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ฉีกสังคมไทยออกจากกัน ผลักให้คนไทยไปกระจุกกันอยู่คนละมุม จนเกิดวาทกรรมที่สร้างการแบ่งแยกเป็น “พวกเรา” และ “พวกเขา” ทั้งที่เรายังกินกระเพราไข่ดาวใส่น้ำปลาพริกเหมือนกัน

ถ้าถามว่า 4 ปีที่ผ่านมา เค้าลางแห่งความวุ่นวายได้บรรเทาลงไปหรือไม่ ต่างคนก็ต่างมีมุมมองเป็นของตัวเอง แต่อีกหนึ่งมุมมองที่ไม่ควรมองข้ามคือการประเมินโดยใช้เกณฑ์ที่ยอมรับในระดับสากล โดยหนึ่งในตัวชี้วัดด้านสันติภาพและความสงบสุขที่ยอมรับกันคือ ดัชนีสันติภาพโลกที่จัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพหรือไออีพี ซึ่งใช้ข้อมูลหลายด้านมาจัดทำดัชนี ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลความขัดแย้งในประเทศ การเกิดอาชญากรรม รวมไปถึงข้อมูลที่สะท้อนแนวโน้มการเกิดความรุนแรงทางการเมืองในประเทศ โดยมีคะแนนเต็ม 5 ประเทศที่มีคะแนนใกล้ 5 จะเป็นประเทศที่มีสันติภาพและความสงบสุขน้อยกว่าประเทศที่มีคะแนนต่ำ

สำหรับประเทศไทยหากดูข้อมูลในปี 2557 ค่าดัชนีของไทยเท่ากับ 2.395 และลดลงเป็น 2.286 ในปี 2560 หรือลดลงไป 0.109 คะแนน ซึ่งหากดูเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขดูเหมือนว่าเรามีคะแนนที่ดีขึ้น แต่การประเมินตนเองเทียบกับตนเองเพียงอย่างเดียวไม่พอ และการเอาคะแนนของเราเทียบกับประเทศอื่นที่มีระดับการพัฒนาต่างกันก็เป็นการเทียบที่หยาบเกินไป

ถ้าต้องการรู้ว่าประเทศไทยทำได้ดีพอหรือยัง เราต้องมีคู่เทียบที่เหมาะสม และต้องเป็นการเทียบโดยพิจารณาถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาประเทศด้วย รูปที่แสดงไว้เป็นการเทียบคะแนนดัชนีสันติภาพของประเทศในกลุ่มอาเซียน (ยกเว้นบรูไนซึ่งไม่มีข้อมูลนี้) กับระดับการพัฒนาของแต่ประเทศ โดยประเมินจากรายได้ต่อหัวในปี 2560 ซึ่งเป็นข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ดัชนีสันติภาพปี 2560 ของประเทศในอาเซียน 

สันติภาพของไทย เราทำได้ดีแค่ไหนกัน

เส้นประในรูปเป็นเส้นแสดงความสัมพันธ์โดยเฉลี่ยระหว่างรายได้ต่อหัวและคะแนนดัชนีสันติภาพ ซึ่งเป็นคะแนนที่ประเทศควรจะได้ในแต่ละระดับของรายได้ต่อหัว ส่วนจุดที่เห็นคือ คะแนนที่ได้จริง ประเทศไหนที่จุดสูงกว่าเส้นประแสดงว่าได้ระดับสันติภาพที่มีอยู่น้อยกว่าระดับที่ควรจะเป็น ส่วนประเทศที่มีจุดต่ำกว่าเส้นประคือประเทศที่ระดับสันติภาพดีกว่าค่าคะแนนที่คาดว่าจะได้

ถ้าประเมินจากรูป จะเห็นได้ว่า จุดของประเทศไทยสูงกว่าเส้นประมากที่สุด เพราะประเทศไทยที่มีระดับรายได้ต่อหัว 17,786 ควรมีคะแนนสันติภาพประมาณ 1.88 คะแนน แต่คะแนนจริงของเราคือ 2.29 คะแนน ห่างกันถึง 0.49 คะแนน ที่น่าเจ็บใจคือ ประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าสยามเมืองยิ้มกลับเป็นประเทศที่มีผลงานด้านสันติภาพต่ำกว่าระดับที่ควรเป็นได้มากถึงขนาดนี้

จริงอยู่ว่าปัจจัยเรื่องความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การประเมินของไทยไม่ดีเท่าที่ควร แต่ในการประเมินนี้มีตัวชี้วัดย่อยถึง 23 ตัว เรื่องการก่อการร้ายเป็นเพียงหนึ่งในตัวชี้วัดเหล่านี้ นั่นแสดงว่า ตัวชี้วัดอื่นเราก็ทำได้ไม่ค่อยดีเช่นกัน

ผลแสดงไว้ในรูปสะท้อนให้เห็นว่าเรายังมีการบ้านต้องทำอีกเยอะ ซึ่งไม่ใช่การบ้านของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการบ้านร่วมของคนไทยทุกคน เพราะสันติภาพและความสงบสุข เกิดขึ้นจากความเข้าอกเข้าใจ เปิดกว้างทางความคิด ยอมรับความต่าง และยึดมันในการแก้ความไม่เข้าใจกันด้วยสันติวิธี เพราะมีแต่หนทางนี้เท่านั้น ที่ประชาธิปไตยในประเทศไทยจะงอกงามได้ยั่งยืนอย่างแท้จริง