GDP ขึ้น แต่ทำไมคนไทยจนลง

GDP ขึ้น แต่ทำไมคนไทยจนลง

แปลกไหม ในขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยเจริญเติบโตขึ้นชัดเจน แต่ทำไมคนไทยไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น

และแท้ที่จริงแล้ว คนไทยกำลังจนลงทุกขณะ สาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะไทยเรายังใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่เป็น ไม่รู้จักทำร้ายทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน!

ทั้งที่ธนาคารโลกปรับตัวเลข GDP เป็น 4.1% (https://bit.ly/2JyGJBQ) นั้นเป็นแค่ภาพลวงตา เพราะมาจากการลงทุนของรัฐ ด้านสาธารณูปโภคเป็นหลัก ถ้ารัฐหยุด ทุกอย่างก็แทบนิ่ง และเพียงพึ่งการส่งออก อีกด้านหนึ่งที่ไม่ได้พูดก็คือ GDP ไทยต่ำที่สุดในอาเซียน (ดีกว่าเฉพาะสิงคโปร์และบรูไนที่เป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวรวยกว่าไทยถึง 5-7 เท่า) มาเลเซียที่เจริญกว่าไทย หรือฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ใกล้เคียงไทย ล้วนเติบโตไปไกแล้ว ตัวเลขขนั้น “จิ๊บจ๊อย” เมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่ GDP เติบโตจาก 0.8% ในปี 2554 เป็น 7.2% ในปีถัดมา

ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ประชาชนผิดหวังรัฐบาลที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ (https://bit.ly/2kf7S14) ปัญหายาบ้าก็ไม่ได้ปราบ ปล่อยให้หวยใต้ดินครองเมือง โดยไม่ยอมทำหวยบนดิน ให้ประชาชนอีก 4 แสนคนมีงานทำ (https://bit.ly/2HqV2H2) เฉยชาจนดูคล้ายให้ท้ายพวก “ยาบ้า-หวยเถื่อน” ที่โฆษณาว่า ช่วยชาวบ้านเช่นแจกบัตรคนจน-คนชรา ก็ได้เงินกันเฉลี่ยคนละ 500 บาท ถ้าแจกสัก 12 ล้านคน ก็เป็นเงินแค่ 6 พันล้านบาท ไม่พอซื้อเรือดำน้ำด้วยซ้ำไป กองทุนหมู่บ้านก็เอาไปสร้างถนน เงินจม ได้แต่ผู้รับเหมา ไม่เกิดโภคผลต่อการหมุนเวียน แต่ต่อข้าราชการ กลับประเคนให้สารพัดทั้งขึ้นเงินเดือน แจกโบนัส แล้วอย่างนี้เศรษฐกิจจะไปได้อย่างไร

การบริหารแบบข้าราชการ แบบกฎุมพีย่อมไม่อำนวยประโยชน์ต่อประชาชน ยึดแต่หลักกฎหมาย (โดยเฉพาะกฎหมายที่ตนร่างขึ้นเอง) อย่างเช่นกรณี “หมู่บ้านป่าแหว่ง” (https://bit.ly/2qSPFcK) หรือโรงแรมอนันตรา สิเกา (http://bit.ly/2IAAPzj) ที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งราชการคิดเป็นอย่างเดียวก็คือรื้อตามคำสั่งศาล เรื่องนี้หลายคนมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่แนวทางสำคัญในการคิดก็คือ การยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

เราต่างเห็นร่วมกันว่าควรลดจำนวนข้าราชการลงได้แล้ว จะได้ไม่ต้องสร้างอะไรแพงๆ แบบนี้ (ยังไม่รวมค่าดูแลอีกตราบนานเท่านาน) และเราก็เห็นด้วยกันว่าการบุกรุกป่าไม่ถูกต้อง แต่เราจะทำอะไรก็ควรคำนึงถึงประชาชน เราควรเอามาใช้ประโยชน์ อย่าง “หมู่บ้านป่าแหว่ง” หรือโรงแรมดังกล่าว ถ้านำมาให้เอกชนเช่า ก็จะได้เงินที่ละนับร้อยล้าน เอาไปพัฒนาป่าไม้ ปลูกป่า ป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า หรือแบ่งให้ท้องถิ่นโดยเฉพาะประชาชนคนเล็กคนน้อยได้ประโยชน์

แต่บางคนมออกว่า 

  1. ถ้าไม่รื้อ จะมีคนเอาเป็นเยี่ยงอย่าง อันนี้ไม่จริง ถ้าเราได้เงินมาพัฒนาใช้ปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า สืบเสาะหากรณีทำลายป่าแล้วมาแฉผ่านสื่ออย่างจริงจัง ก็จะไม่มีใครกล้าทำอีก
  2. เห็นแก่นายทุน เห็นแก่เงิน อันนี้ก็ไม่จริง เพราะเราเห็นแก่ประชาชน เอาทรัพยากรมารับใช้ประชาชนต่างหากเล่า
  3. ได้เงินมาเดี๋ยวก็เกิดทุจริตอีก หากใครทุจริตก็ต้องแก้ไขเป็นกรณีๆ ไป แต่ไม่ใช่ว่าเลยปล่อยไว้ไม่ทำอะไร การปล่อยป่าไว้แบบดิบๆ ไม่ทำอะไร ดีไม่ดีพวกเจ้าหน้าที่เองที่จะแอบเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า
  4. บ้างก็ว่าเราควรฟื้นฟูสภาพป่า ฟื้นไปก็ได้ป่าเต็งรัง ป่าไม้ผลัดใบที่แห้งๆ ในหน้าแล้งและเขียวๆ ในหน้าฝน ไม่ใช่ป่าดิบชื้น ไม่ได้มีทรัพยากรอะไร กลับไปมีสภาพเหลือไร่ละ 150,000 บาท แทนที่จะเอาไปพัฒนาเป็นอื่น เอาเงินมาบำรุงประชาชน

มาดูประสบการณ์การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนป่าเขาในต่างประเทศกัน เราต้องรู้จักบุกรุกทำลายป่าอย่างยั่งยืน นี่คือสิ่งที่ท้าทายให้เรารู้จักคิดในมุมมองใหม่ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

  1. เก็นติ้งไฮแลนด์ ในมาเลเซียเปิดในปี 2514 ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงประมาณ 1,800 เมตร ในรัฐปาหัง ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปทางเหนือประมาณ 60 กิโลเมตร มีขนาด 30,625 ไร่ใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมง มีโรงแรม ห้องพักกว่า  6,300 ห้อง มีสวนสนุก ร้านค้า ภัตตาคาร กระเช้าไฟฟ้าสะดวก รวมทั้งกาสิโน ในขณะนี้มูลค่าของเก็นติ้ง คิดเป็นเงินราว 6 แสนล้านบาท หากสามารถสร้างรายได้ ปีละ 5% ของมูลค่าก็เท่ากับปีละ 3 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 55 ปี ณ ดอกเบี้ยปีละ 4% ก็เท่ากับสามารถสร้างเงิน ณ มูลค่าปัจจุบันสูงถึง 663,258 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ยิ่งถ้ารวมรายได้ของประชาชนโดยรอบ คงสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจมาเลเซียอย่างเหลือคณานับ
  2. บานาฮิลล์ ที่นครดานังตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง 40 กิโลเมตร ที่นี่มีโรงแรมที่พัก สวนสนุก ศาลเจ้า สวนไม้ดอกนานาพันธุ์ ฯลฯ กระเช้าขึ้นบานาฮิลล์เป็นกระเช้าที่ยาวและสูงที่สุดโดยยาวถึง 5 กิโลเมตร ผ่านเขากว่า 20 ลูก (https://bit.ly/2Hq8W07)
  3. Mulu Marriott Resort & Spa (https://bit.ly/2LjcoIm) เป็นรีสอร์ตในนาม Marriott ที่สร้างอยู่ในป่าดิบ บนเกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย
  4. AVANI Sepang Goldcoast Resort(https://bit.ly/2ITG28O) มี 315 ห้องพัก สร้างยื่นลงไปในทะเลในรูปแบบต้นปาล์ม ที่สำคัญอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ถึง 5 กิโลเมตร และไม่มีใครร้องเรียนเรื่องมลภาวะ
  5. Lexis Hibiscus Port Dickson(https://bit.ly/2KGLOHQ) เป็นโรงแรมที่สร้างล้ำเข้าไปในทะเล ขนาด 639 ห้อง เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2558 เรื่องดีๆ อย่างนี้คงเกิดไม่ได้ในแผ่นดินไทย แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนมาดูแลประชาชน

การรู้จักเอาธรรมชาติมารับใช้ประชาชนเป็นประเด็นสำคัญ ป่าที่ตีนดอยสุเทพ ก็แทบไม่เหลือสภาพอะไรเลย ที่ดินใจกลางกรุงเทพมหานครที่ทิ้งไว้ 20 ปี ยังอุดมสมบูรณ์มีสภาพเป็น “ป่าสมบูรณ์” กว่าด้วยซ้ำ ยิ่งบริเวณที่ตั้งโรงแรมอันตรา สิเกา ก็แทบไม่มีสภาพเป็นป่า มีแปลงปลูกต้นไม้บ้าง ที่โล่งบ้าง อันที่จริงโรงแรมนี้สงวนรักษาธรรมชาติให้ดูดีกว่าด้วยซ้ำไป

ถ้าประเทศไทยรู้จักเอายอดเขาสวยๆ มาทำรีสอร์ตแบบเวียดนาม มาเลเซียและอื่นๆ 1. ประเทศไทยก็จะมีรายได้มหาศาล  2. ประชาชนก็จะไม่ต้องยากจน มีรายได้จากการท่องเที่ยวในท้องถิ่น  และ3. ป่าไม้โดยรอบก็จะยังอยู่รวมทั้งสัตว์ป่าเพื่อสงวนให้นักท่องเที่ยวมาดู สร้างรายได้ให้ชุมชนมากกว่าการไปแอบตัดไม้ทำลายป่า แอบล่าสัตว์เสียอีก

ต้องตั้งหลักคิดให้ดี หาไม่ประเทศไทยและคนไทยจะยากจนลงเรื่อยๆ เพราะขาดรายได้ และชาติอื่นก็จะแซงเรา เดี๋ยวนี้สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซียก็แซงเราไปไกลโขแล้ว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและเวียดนาม ก็ใกล้จนแทบ “หายใจรดต้นคอ” แล้ว ส่วนลาว เขมร เมียนมา ก็กำลังเติบโตอย่างสุดฤทธิ์ ประเทศไทยจึงต้องปลดโซ่ตรวนทางความคิด พัฒนาได้แล้วในวันนี้