ประสิทธิภาพของเมืองท่องเที่ยวไทย

ประสิทธิภาพของเมืองท่องเที่ยวไทย

ในยุคที่การท่องเที่ยวของไทยกำลังเบ่งบาน รัฐบาลก็ได้ฉวยโอกาสที่จะกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่เมืองรอง

อย่างไรก็ดี การจะกระจายนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปสู่เมืองรอง จะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อเรามีความรู้ว่าเมืองหลักและเมืองรองเหล่านี้มีศักยภาพต่างกันขนาดไหน มีความพร้อมแค่ไหน และในขณะนี้ได้ใช้ศักยภาพและกำลังรองรับได้เต็มที่แล้วหรือไม่

เพื่อจะตอบคำถามนี้ มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ (PPSI) ได้มอบหมาย นายณัฐพล อนันต์ธนสาร นางสาววรัญญา บุตรบุรี และดร.อัครพงศ์ อั้นทอง ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ทำการศึกษาประสิทธิภาพด้านการจัดการ ด้านการท่องเที่ยวของเมืองท่องเที่ยวหลัก เมืองท่องเที่ยวรองของประเทศไทย โดยเริ่มต้นที่การแบ่งเมืองท่องเที่ยวออกเป็นเมืองหลักและเมืองรอง จากทั้ง 76 จังหวัดก่อน วิธีการแบ่ง ได้ใช้ตัวชี้วัด 5 ตัวด้วยกัน ได้แก่ 1) จำนวนนักท่องเที่ยว 2) รายได้จากการท่องเที่ยว 3) คะแนนด้านสิ่งดึงดูดใจด้านการท่องเที่ยว 4) คะแนนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และ 5) คะแนนด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคะแนนดัชนีนี้ได้จากการคะแนนดัชนีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวระดับจังหวัด พ.ศ. 2560 แล้วใช้การวิเคราะห์การจัดกลุ่ม หรือที่เรียกว่า Cluster Analysis โดยใช้เทคนิควิธี K-Means แบ่งเมืองทั้งหมดออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงมีทั้งสิ้น 21 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เชียงราย ภูเก็ต สงขลา ขอนแก่น พิษณุโลก เชียงใหม่ เพชรบุรี พังงา สมุทรปราการ นครราชสีมา กระบี่ นครศรีธรรมราช ตราด กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานี อุดรธานี ตรัง และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งก็คือจากกลุ่มที่น่าจะเรียกว่าเป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลัก ส่วนกลุ่มที่สองคือจังหวัดที่เหลืออีก 55 จังหวัด รายชื่อจังหวัดรองเหล่านี้ แตกต่างจากรายชื่อจังหวัดรองของรัฐบาลเล็กน้อย

จากนั้นก็เอาจังหวัดทั้ง 2 กลุ่มมาใช้วิธีการศึกษาที่เรียกว่า Data Envelopment Analysis (DEA) เพื่อหาจังหวัดที่มีประสิทธิภาพด้านการจัดการท่องเที่ยวสูงสุดในแต่ละกลุ่ม การศึกษาพบว่า ในกลุ่มจังหวัดหลัก 21 จังหวัด  ที่มีศักยภาพสูง มีเพียง 10 จังหวัดที่เป็นจังหวัดที่มีประสิทธิภาพด้านการท่องเที่ยวสูง ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ ระยอง เพชรบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี พังงา กาญจนบุรี และพระนครศรีอยุธยา ส่วนอีก 11 จังหวัดยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านท่องเที่ยว โดยทั้ง 11 จังหวัดท่องเที่ยวหลักยังสามารถใช้สิ่งดึงดูดใจด้านการท่องเที่ยวให้ได้เต็มศักยภาพ 15.21% หมายความว่า 11 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก มีสิ่งดึงดูดใจที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มาก แต่กลับใช้สิ่งดึงดูดใจด้านการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จำนวนน้อยกว่าที่ควร ดังนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจะต้องเพิ่มการใช้ประสิทธิภาพของสิ่งดึงดูดใจอีก 15.21% นอกจากนี้ยังสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานให้เต็มศักยภาพได้อีก 22.63% และสามารถใช้สภาพสิ่งแวดล้อมให้เต็มศักยภาพอีก 13.52%

ส่วนกลุ่มที่สอง ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยวรองนั้นมี 12 จังหวัด เท่านั้นที่มีประสิทธิภาพด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ อุทัยธานี ฉะเชิงเทรา แม่ฮ่องสอน อ่างทอง สระแก้ว ปัตตานี นครนายก หนองคาย ยะลา สิงห์บุรี มุกดาหาร และบึงกาฬ ในทำนองเดียวกันการศึกษานี้ก็สามารถที่จะบอกได้ว่าจังหวัดท่องเที่ยวรองในแต่ละจังหวัดนั้นมีความด้อยประสิทธิภาพในเรื่องอะไรบ้าง

ผลการศึกษานี้มีประโยชน์ในการที่รัฐบาลจะตั้งเป้าหมายให้แต่ละจังหวัด ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่ได้มีเกณฑ์ในการที่จะตั้งเป้าหมาย ส่วนใหญ่ก็จะใช้เกณฑ์ว่าให้เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวบ้าง ให้เพิ่มรายได้การท่องเที่ยวบ้าง โดยที่ไม่ดูว่าประสิทธิภาพที่ขาดหายไปคืออะไร บางจังหวัดนั้นแม้ว่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอีกก็น่าจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะว่าไม่มีศักยภาพในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสภาพแวดล้อมอีกต่อไป

ประสิทธิภาพของเมืองท่องเที่ยวไทย

ยกตัวอย่าง จ.เชียงราย จากตารางจะเห็นได้ว่า เชียงรายเป็นจังหวัดในกลุ่มท่องเที่ยวหลัก แต่ยังขาดประสิทธิภาพด้านการจัดการท่องเที่ยว ซึ่งในการจะเพิ่มประสิทธิภาพด้านการท่องเที่ยวของเชียงรายสามารถทำได้ 2 วิธี วิธีที่ 1 คือ ใช้กลยุทธ์ (Strategy) ด้านเจ้าบ้าน (Supply) โดยการใช้สิ่งดึงดูดใจด้านการท่องเที่ยวให้เต็มศักยภาพได้อีก 8.83% สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานให้เต็มศักยภาพได้อีก 7.96% และสามารถใช้สภาพสิ่งแวดล้อมให้เต็มศักยภาพอีก 9.74% และวิธีที่ 2 ในการเพิ่มประสิทธิภาพ คือการใช้กลยุทธ์ด้านผู้มาเยือน (Demand) โดยการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอีก 4.92% ของนักท่องเที่ยวในปี 2559 หรือคิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องเพิ่มอีก 157,052 คน ซึ่งจะทำให้จังหวัดเชียงรายมีรายได้ด้านท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 1,292.86 ล้านบาท

หรือจ.ลำปาง ซึ่งเป็นจังหวัดในกลุ่มท่องเที่ยวรอง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการท่องเที่ยวได้โดยใช้กลยุทธ์ด้านเจ้าบ้าน โดยการใช้สิ่งดึงดูดใจด้านการท่องเที่ยวให้เต็มศักยภาพได้อีก 6.90% สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานให้เต็มศักยภาพได้อีก 37.11% และสามารถใช้สภาพสิ่งแวดล้อมให้เต็มศักยภาพอีก 12.20% หรือใช้กลยุทธ์ด้านผู้มาเยือนโดยการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอีก 5.99% ของนักท่องเที่ยวในปี 2559 หรือคิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องเพิ่มอีก 54,153 คน และเพิ่มรายได้ด้านท่องเที่ยวอีก 42.10 ล้านบาท ซึ่งอาจทำได้โดยการเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว หรือเพิ่มวันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยว เป็นต้น

หากหน่วยงานราชการในจังหวัดต้องการทราบว่าตนสามารถพัฒนาในด้านใดได้บ้างนั้น สามารถทำหนังสือราชการมาขอรับข้อมูลได้จากมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะโดยไม่มีค่าใช้จ่าย