สมรภูมิไอที

สมรภูมิไอที

ไอทียังคงเป็นธุรกิจแห่งความผันผวนและความไม่แน่นอน

ฉบับที่แล้วผมได้เกริ่นถึงอาณาจักรของ “เลอโนโว” ที่ติดปีกโบยบินสู่ตลาดโลกด้วยการซื้อกิจการยักษ์ใหญ่หลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่ซื้อกิจการธุรกิจโน้ตบุ๊คจากไอบีเอ็ม ตามด้วยซื้อกิจการโมโตโรล่าเพื่อขยายฐานให้ธุรกิจสมาร์ทโฟน รวมถึงลงทุนซื้อหุ้น 51% ในฟูจิตสึประเทศญี่ปุ่น

นอกเหนือจากเลอโนโวแล้วยังมียักษ์ใหญ่จากจีนอีกหลายบริษัทที่ตบเท้าเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่เพื่อขยายฐานที่มั่นให้ครอบคลุมทั่วโลก ที่บ้านเรารู้จักคุ้นเคยกันดีก็เช่น อาลีบาบา, เทนเซ็นต์, หัวเว่ย, แซดทีอี ซึ่งประสบความสำเร็จในตลาดบ้านเรามากเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ธุรกิจไอทีก็ยังคงเป็นธุรกิจแห่งความผันผวนและความไม่แน่นอนที่อาจเปลี่ยนสถานการณ์ให้พลิกผันได้อยู่เสมอ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ยักษ์ใหญ่ของจีนอีกรายหนึ่งคือ “แซดทีอี” ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมอันดับที่ 2 ในจีนด้วยยอดขายกว่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ยอดขายสมาร์ทโฟน 45 ล้านเครื่องในปีที่แล้ว เป็นรองเพียงหัวเว่ยเท่านั้น

ความยิ่งใหญ่และความสำเร็จในการสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดจนติดอันดับโลกนั้นไม่ได้รับประกันถึงความมั่นคงในระยะยาวของแซดทีอีเลย เมื่อ Bureau of Industry and Security ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศลงโทษแซดทีอีด้วยข้อหาด้านความมั่นคงที่ละเมิดข้อตกลงในการจำหน่ายสินค้าให้กับประเทศเกาหลีเหนือและอิหร่าน

โดยเริ่มมาตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งทางการสหรัฐสั่งปรับเป็นเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท จนมาถึงเดือนที่แล้วได้ยกระดับมาตรการลงโทษเป็นการตัดสิทธิ์การค้าด้วยการห้ามบริษัทอเมริกันส่งสินค้าและบริการใดๆ ให้กับแซดทีอี

ผลกระทบในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมาก เพราะแม้แซดทีอีจะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เป็นอันดับสองของจีน แต่ก็ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูงจากสหรัฐเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่หน่วยประมวลผลจากควอลคอมซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของโทรศัพท์สมาร์ทโฟน

รวมถึงระบบปฏิบัตการแอนดรอยด์จากกูเกิล ที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกก็ไม่สามารถนำมาติดตั้งในสมาร์ทโฟนของแซดทีอีได้ เช่นเดียวกับชิปและซอฟต์แวร์อีกหลายๆ ตัวก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ บทลงโทษนี้ยาวนานถึง 7 ปีกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวแน่นอน

ความพยายามของสหรัฐในการสกัดกั้นสินค้าจากประเทศจีนนั้นมีให้เห็นเป็นระยะๆ เพราะสิ่งที่รัฐบาลอเมริกันกลัวที่สุดก็คือการเลียนแบบเทคโนโลยีของจีนที่อาจพัฒนาความสามารถในการผลิตขึ้นมาเทียบชั้นอเมริกาจนแซงหน้าได้ในที่สุด จึงพยายามหาวิธีไม่ให้เทคโนโลยีชั้นสูงของตัวเองหลุดไปสู่มือจีน

ขณะที่ภาครัฐก็ออกกฎห้ามซื้อสินค้าไฮเทคจากจีน จนมาถึงคนทั่วไปก็เช่นเดียวกันเพราะมาตรการดังกล่าวส่งผลให้แซดทีอีไม่มีทางที่จะผลิตสินค้าเข้ามาตีตลาดในสหรัฐ รวมถึงประเทศอื่นๆ ในตลาดโลกได้อีกต่อไป ไม่ได้จำกัดแค่ที่อเมริกา

การขาดชิปและระบบปฏิบัติการจึงอาจทำให้ยักษ์ใหญ่เบอร์ 2 ของจีนต้องปิดตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะไม่ถูกประเทศอื่นๆ ประกาศห้ามค้าขายแต่ก็ขาดองค์ประกอบหลักในการผลิตสมาร์ทโฟนไปแล้ว แม้จะมีความพยายามในการหารือกับบริษัทต่างๆ เพื่อหาทางออกแต่เป็นเรื่องยากมากที่จะกลับมาผลิตสินค้าต่อได้

อีกหนึ่งแบรนด์ที่ถูกเพ่งเล็งมาอย่างยาวนานคือ “หัวเว่ย” ก็ไม่น่าหลุดพ้นจากข้อที่ทางการสหรัฐหยิบยื่นให้แน่ๆ รวมถึงยักษ์ใหญ่รายอื่นอีกมาก แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ทั้งรัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลจีนกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อหาข้อยุติสงครามด้านการค้า ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะยกเลิกการสกัดกั้นสินค้าจากประเทศจีนก็เป็นได้

ความสามารถของผู้บริหารและเจ้าของกิจการธุรกิจไอทีในทุกวันนี้จึงไม่ได้มีเพียงแค่ทักษะในการสร้างรายได้และผลกำไร หรือการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังต้องรู้จักบริหารความเสี่ยงที่มีปัจจัยแห่งความไม่แน่นอนเต็มไปหมดที่อาจฉุดให้ธุรกิจของเราล้มลงได้เพียงชั่วข้ามคืนหากเราไม่รู้จักการจัดการความเสี่ยงที่ดี