Win-Win-Win อย่างไรในการทำธุรกิจ

Win-Win-Win อย่างไรในการทำธุรกิจ

The Basket ตะกร้าผักจากสวนเป็นธุรกิจที่เริ่มขึ้นจากการรวมกันของสมาชิก 6 คน

คือ คุณมนัส หามาลา คุณศจี กองสุวรรณ คุณภัทรภร ภู่ทอง คุณสุพัตรา สุขสวัสดิ์ คุณสุพจน์ ชุณหโชติอนันต์ และคุณอรพรรณ ปถมเล็ก โดยมีแนวคิดของ Business model คือ ทำให้เกิดการเกื้อหนุนกันของชุมชนเกษตรอินทรีย์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เนื่องเห็นถึงปัญหาของทั้งเกษตรกร คือ การหาตลาดรองรับสินค้า และทางฝั่งผู้บริโภคที่มีความกังวลเรื่องสารพิษตกค้าง 

The Basket จึงเป็นแพลตฟอร์มธุรกิจที่เชื่อมโยงความต้องการระหว่างทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกัน เรียกได้ว่า เป็นเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy)

The Basket มีการดำเนินการสองส่วน ในส่วนแรกเป็นการที่ The Basket เข้าไปพูดคุยกับเกษตรกรเรื่องสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ การทำปฏิทินผลผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรสามารถผลิตได้ในฤดูกาลต่างๆ และเก็บข้อมูลของเกษตรกรแต่ละราย ตลอดจนเยี่ยมชมแหล่งผลิตว่าได้มาตรฐานตามที่กำหนดว่าต้องเป็นการผลิตแบบปลอดสารเคมี 100 % ทำการคัดกรองและควบคุมคุณภาพสินค้าเรื่องความสดใหม่ ช่วยระยะเวลาเก็บเกี่ยว การจัดการเรื่องการบรรจุและจัดส่ง ซึ่งในส่วนนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมกับ The Basket ก็จะได้รับความรู้และพัฒนาศักยภาพในการออกแบบและพัฒนาการปลูกผลิตผลทางการเกษตรร่วมกัน มีการหมุนเวียนสลับเปลี่ยนกันตามฤดูกาลและเกษตรกรในแต่ละกลุ่ม

นอกจากนั้น The Basket ยังนำระบบรับรองอย่างมีส่วนรวม (Participatory Guarantee System –PGS) หรือระบบชุมชนรับรองอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์รูปแบบหนึ่งที่มีการใช้ในหลายประเทศ โดยปัจจุบัน The Basket มีเครือข่ายของเกษตรกรเกษตรอินทรีย์กว่า 50 ครอบครัว สำหรับกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเพชรบุรีจะเน้นการผลิตผักเกษตรอินทรีย์ ส่วนกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์จังหวัดฉะเชิงเทราที่เน้นการผลิตผลไม้

ในส่วนที่สองเป็นการให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้บริโภค โดยหลังจากที่ The Basket ได้สร้างเครือข่ายเกษตรกรแล้ว ก็เริ่มทำการตลาดโดย การขอความอนุเคราะห์จากพื้นที่ต่างๆ ทำการประชาสัมพันธ์ในผู้บริโภคได้รู้จักและเปิดรับสมาชิก พร้อมทั้งให้ความรู้กับผู้โภคถึงสาเหตุของสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สูงกว่าสินค้าอื่นๆ พร้อมเล่าถึงกระบวนการการจัดส่งว่า สินค้าจะถูกตัดมาจากสวนที่เพชรบุรีและฉะเชิงเทราในช่วงเย็นส่งถึงสำนักงาน The Basket ในตอนเช้าและรีบนำส่งไปยังผู้บริโภคปลายทางในรูปแบบของการผูกปิ่นโต ตระกร้าผัก โดยสมาชิกสามารถเลือกตะกร้าได้ 3 ขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ ที่จำนวน 8, 12, และ 16 ชุดตามลำดับ โดยมีราคาอยู่ที่ 1280, 1920 และ 2560 บาท สำหรับผักผลไม้ในแต่ละฤดูกาลจะมีให้สมาชิกเลือกอยู่ประมาณ 30-40 ชนิด รวมถึงข้าวอินทรีย์และไข่ปลอดสารพิษด้วย 

นอกจากนั้น The Basket ยังมีแนวคิดของการจัดผักผลไม้ให้เป็นชุดตามฤดูกาลว่าควรทานผักประเภทใดเพื่อรักษาสุขภาพไม่ให้ป่วยง่ายในฤดูต่างๆ โดยมีการแจ้งในสมาชิกทราบล่วงหน้าเผื่อในกรณีที่สมาชิกต้องการปรับเปลี่ยนชนิดของผักผลไม้

ในการเข้าถึงผู้บริโภคนั้น The Basket เลือกการใช้สื่อออนไลน์และการจัดทำ Application เพื่อให้การเข้าถึงการสั่งซื้อ ทำได้สะดวกและถูกจริตกับผู้บริโภคในยุค 4.0 นอกไปจากนั้นยังมี Platform online สำหรับกลุ่มเกษตรกรเพื่อใช้ในการติดต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอีกด้วย

กรณีศึกษา The Basket สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบของธุรกิจในแบบ Win-Win ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ประสานงานการสร้างการยอมรับในกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนเปลี่ยนการผลิตในรูปแบบเดิมมาเป็นรูปแบบอินทรีย์ที่ต้องอาศัยเงินลงทุนที่มากกว่าเดิมสามารถทำได้โดยการสร้างตลาดมารองรับ 

แน่นอนว่าในบริบทของ The Basket  การตั้งราคาขายของสินค้าเกษตรอินทรีย์จะไม่สามารถตั้งราคาขายได้เท่ากับผลิตภัณฑ์ที่ขายในห้างสรรพสินค้า แต่การที่มีลูกค้าจ่ายเงินมาให้ในรูปแบบสมาชิกก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับเกษตรกรได้ 

สำหรับในส่วนผู้บริโภคนั้น The Basket ถือเป็นส่วนช่วยในการตรวจสอบคุณภาพของผลผลิตทางเกษตรให้ผู้บริโภคได้มั่นใจในคุณภาพ ความสดใหม่และราคาที่เหมาะสม

----------------------

เครดิตกรณีศึกษา The Basket โดยคุณวริทธิ์ธร ธนกาญจน์ นักศึกษาหลักสูตร 4+1 (ปริญญาตรีควบปริญญาโท) วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล