Logistics กับ Service 4.0

Logistics กับ Service 4.0

ในอดีตการขนส่งและกระจายสินค้าในประเทศ ถือว่าเป็นกระบวนการทางธุรกิจหนึ่งซึ่งบริษัทขนาดใหญ่มักจะดำเนินการเอง

และต้องลงทุนมีรถขนส่งสินค้าขนาดใหญ่พร้อมคนขับเป็นของตัวเอง ส่วนบริษัทขนาดกลางก็จะใช้รถขนถ่ายสินค้าขนาดเล็กอย่างรถปิคอัพ (one-tone pick up car) แบบต่อเติมเสริมตู้กันตามสภาพการใช้งาน ส่วนบริษัทขนาดเล็กที่มีกำลังความสามารถน้อยหรือไม่ได้มีการขนส่งถี่บ่อยในจำนวนมากนักก็จะไปพึ่งพาบริษัทขนส่งโดยเฉพาะ ซึ่งแน่นอนก็จะมักจะเป็นบริษัทขนส่งของคนไทยซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวโดยมาก

 

การขนส่งสินค้าแบบข้ามประเทศ การส่งสินค้าขนาดใหญ่ สินค้าสำคัญ สินค้าที่มีลักษณะพิเศษ สินค้าที่มีอันตรายไปยังท่าเรือ ส่งด่วนผ่านเครื่องบิน หรือแม้แต่การส่งสินค้าทางบกข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่จนถึงบริษัทต่างชาติเป็นหลัก ภาพของรถบรรทุกสินค้าที่เป็น Container ทั้งสั้นและยาวแบบรถพ่วงน่าจะเป็นภาพที่ชินตา ซึ่งโรงงานหรือผู้ผลิตสินค้ามักจะไม่ดำเนินการเอง เพราะต้องเชื่อมต่อกับกระบวนการทางศุลกากร การคำนวณพิกัดอัตราภาษีสินค้านำเข้า-ส่งออก ที่เรามักได้ยินว่า shipping นั่นเอง

 

ส่วนการส่งข้อความ (message) จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือส่งต่อไปยังต่างประเทศ แต่ละประเทศก็จะมีหน่วยงานระดับประเทศที่เป็นหนึ่งเดียวค่อยควบคุมดูแลแบบผูกขาดมานานหลายทศวรรษที่เรียกว่า การไปรษณีย์และขนส่งพัสดุขนาดเล็ก ซึ่งแน่นอนก็จะเป็นการส่งระหว่างครัวเรือนหรือองค์กรเป็นหลัก แน่นอนในยุคนั้นอินเทอร์เน็ตและการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายดิจิตัลยังไม่ได้ดีและมีประสิทธิภาพเท่าทุกวันนี้

 

จุดเด่นและจุดแข็งของหน่วยงานไปรษณีย์ของแต่ละประเทศก็คือ เครือข่ายการจัดส่ง ข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งของแต่ละบ้านเรือน จนถึงสำนักงานสาขาที่ให้บริการกระจายตัวอยู่ทั่วไปในทุกอำเภอและจังหวัด ในยุคอดีตคงไม่มีใครปฏิเสธว่า หน่วยงานไปรษณีย์รู้จักทุกบ้าน รู้เส้นทางทุกที่จริงๆ ไม่มีใครรู้ดีเท่านี้แล้ว แม้ว่าบางบ้านจะมีการเปลี่ยนชื่อถนน ชื่อซอย หรือออกเลขที่บ้านใหม่ก็ตาม จดหมายหรือพัสดุที่จ่าหน้าสถานที่เดิมก็ยังส่งถึงแบบไม่ผิดพลาด

 

แต่ด้วยเทคโนโลยีดิจิตัลที่ทันสมัยและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายเฟื่องฟูอย่างสุดขีดในปัจจุบัน อย่าว่าแต่ระบบโทรศัพท์บ้านแบบมีสายเลย ธุรกิจการจัดส่งสินค้า (logistics and supply chain) ก็เปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง

ยุคนี้หาโรงงานหรือบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่จะขนส่งเองน้อยมาก เพราะว่าจ้างภายนอก (Outsource) ถูกกว่า ดีกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่า ไม่ต้องขนสินค้าแบบเต็มคันออกไปเที่ยวเดียว และวิ่งรถเปล่ากลับมาให้เปลืองน้ำมัน อีกทั้งการบริหารจัดการรถขนส่ง การซ่อมบำรุง ตลอดจนการควบคุมดูแลพลขับ เป็นอะไรที่ยุ่งยากวุ่นวายอย่างที่สุด ดังนั้นกระบวนการทางธุรกิจใดที่ไม่ใช่กระบวนการหลักขององค์กร จึงมักจะว่าจ้างภายนอกทำมากขึ้น Business Process Outsourcing จึงเป็นหัวข้อหนึ่งซึ่งผมมักจะได้รับการร้องขอให้เพิ่มเติมเข้าไว้ในหลักสูตร Business Process Management and Improvement ที่ผมสอนประจำ

 

และด้วยอิทธิพลของ Google Map ซึ่งได้กลายเป็น platform หลักของระบบแผนที่นำทางและการระบุตำแหน่งในพื้นโลกนี้ ทำให้เกิด Application program มากมายทั้งที่ทำงานบนคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ดังนั้นตอนนี้ใครๆก็รู้จักและไปถึงสถานที่ต่างๆได้โดยไม่ยาก สตาร์ทอัพใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ของแผนที่ดิจิตัลนี้ก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนส่งขนาดเล็กที่จิ๋วแต่แจ๋ว จนถึงการให้บริการธุรกิจประกันภัย ธุรกิจขนส่งถึงบ้าน (delivery) และอื่นๆอีกมากมาย

 

ในขณะที่ธุรกิจส่งข้อความ ส่งเนื้อหา(หนัง เพลง) และธุรกรรมทางการเงิน ต่างถูก Disrupt อย่างชัดเจน แต่ธุรกิจขนส่งสินค้ากลับเฟื่องฟูอย่างมาก เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งสัญชาติไทย ต่างชาติ และจากการร่วมทุนระหว่างไทยกับต่างชาติ ในขณะเดียวกันบริษัทขนส่งรายใหญ่ของไทยที่เป็นธุรกิจครอบครัวก็ต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ รวมไปถึงแตกรายขยายรูปแบบการขนส่งไปสู่การขนส่งขนาดเล็กจนถึงรถจักรยานยนต์ เพราะต่อไปผู้ซื้อส่งคำสั่งซื้อจากบ้านและรอรับสินค้า ในขณะที่ผู้ขายก็รอคำสั่งซื้อและแจ้งบริษัทขนส่งให้มารับสินค้าไปส่ง กระบวนการทั้งหมดเชื่อมต่อและยืนยันกันด้วยดิจิตัล

 

ที่ญี่ปุ่นธุรกิจขนส่งกระเป๋าและสัมภาระแบบ door to door กระจายตัวอยู่ทั่วทุกหัวถนน ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ที่พักแบบ Business Hotel หรือ Guesthouse ซึ่งจับกลุ่มลูกค้าแบบตระเวณท่องเที่ยว (backpacker) ไปตามเมืองต่างๆ จะมีบริการขนส่งกระเป๋าไปยังจุดหมายปลายทางล่วงหน้า ทำให้การท่องเที่ยวในญี่ปุ่นสะดวกสบายเป็นอย่างมาก ถ้าไม่นับระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าทั้งแบบรถธรรมดา (normal) รถเร็ว (rapid) รถด่วน (express) รถด่วนพิเศษ (limited express) ไปจนถึงรถไฟความเร็วสูง (shinkansen) ซึ่งก็มีระดับความเร็วและการจอดพักถี่บ่อยที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่จำนวนนักท่องเที่ยวแบบประเภทไปเองโดยไม่ผ่านทัวร์จึงเติบโตอย่างมาก

 

การรับมือกับการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่จะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2020 ที่ญี่ปุ่นจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิคเป็นแรงขับดันสำคัญที่ทำให้ธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงพยาบาล ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ระบบขนส่งสาธารณะ และการบริการอีกมากมายกลายเป็น Service 4.0 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาพของเครื่องให้บริการอัตโนมัติที่อยู่ในเกือบทุกร้านอาหาร บัตรเติมเงินที่ใช้แทนเงินสด กฎหมายรับรองที่พักแบบ Airbnb และอื่นๆอีกมากมาย

 

แท้ที่จริงความสำเร็จของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวนวัตกรรมโดยลำพัง แม้ว่ามันจะล้ำจะเจ๋งจะแจ๋ว แหวกแนวสร้างคุณค่าใหม่ที่มีประโยชน์อย่างไรก็ตาม แต่หากขาดระบบนิเวศ (eco-system) ที่รองรับและทำหน้าที่เชื่อมต่อกับองค์ประกอบต่างๆที่ทำให้นวัตกรรมนั้นๆแสดงพลังได้อย่างเต็มที่แล้ว ย่อมไม่สามารถทำให้นวัตกรรมนั้นโดดเด่นและได้รับการยอมรับได้เลย ไม่เชื่อลองมองไปที่บัตรประชาชนสมาร์ทคาร์ดที่เราทุกคนพกพากันสิครับ ตัวอย่างใกล้ตัวที่เห็นง่ายอย่างที่สุด