จะแก้ปัญหาคนจนให้ได้ผลจริงได้อย่างไร

จะแก้ปัญหาคนจนให้ได้ผลจริงได้อย่างไร

ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยมค่อนข้างผูกขาด และนโยบายการพัฒนาแบบเสรี มือใครยาวสาวได้สาวเอา (ไม่ใช่การแข่งขันที่เป็นธรรมจริง)

คือตัวการที่ส่งเสริมให้คนส่วนน้อยที่มีทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ทุนทรัพย์ โรงงาน เครื่องจักรเครื่องมือการผลิต การจัดจำหน่าย การเป็นเจ้าของกิจการ การถือหุ้นเงินฝากธนาคาร ฯลฯ ยิ่งมั่งคั่งขึ้นแบบทวีคูณ ขณะที่คนส่วนใหญ่ที่มีรายได้จากการรับจ้าง เป็นเกษตรกร หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย มีรายได้แค่พอยังชีพ และจำนวนมากอยู่ได้เพราะเป็นหนี้สินแบบหมุนเวียน ไม่สามารถออมและสะสมทุนได้

คนที่มีทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ มีรายได้จากค่าเช่า ดอกเบี้ย กำไร (เงินปันผล) การขายทรัพย์สินในราคาที่สูงขึ้น สูงกว่าคนมีน้อยหรือไม่มีหลายเท่ามาก การเป็นเจ้าของทรัพย์สิน สำคัญกว่าเรื่องรายได้ เพราะยิ่งมีทรัพย์สินมากก็ยิ่งมีรายได้มาก คนมีทรัพย์สินน้อย หรือไม่มีเลย หรือเป็นหนี้หมุนเวียน ก็ยิ่งจน ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาตามโครงการประชานิยม/ประชารัฐ ด้วยการปล่อยเงินกู้/เพิ่มรายได้ให้คนจนจึงล้มเหลว ถึงคนจนจะได้เงินกู้หรือเงินให้เปล่าเพิ่มมาบ้าง พวกเขาก็จะใช้หมดและหรือเป็นหนี้เพิ่ม เพราะคนจนแข่งขันไม่ได้ เสียเปรียบตลอดอยู่แล้ว

ทางแก้ไขที่จะได้ผลคือ ต้องผ่าตัดที่รากเหง้าของปัญหาคือปฏิรูปเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ เพื่อกระจายทรัพย์สิน และความรู้ในการบริหารจัดการการผลิตและการทำงานให้ประชาชนทั้งประเทศอย่างทั่วถึงเป็นธรรมมากขึ้น ต้องปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการคลัง การเงิน การธนาคาร การถือครองสิทธิในทรัพย์สินต่างๆ การปฏิรูประบบภาษี โดยเก็บจากทั้งตัวทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และรายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย กำไร เงินปันผล ในอัตราก้าวหน้า คือยิ่งมีมูลค่าสูงก็ต้องเสียภาษีในอัตราสูงบนฐานของทรัพย์สินมากขึ้น ระบบภาษีปัจจุบันเป็นระบบที่ถอยหลัง ไม่เป็นธรรม เพราะพึ่งภาษีทางอ้อมจากการบริโภคสินค้าต่างๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการขายเฉพาะ ภาษีสินค้าเข้า ฯลฯ สูงถึง 56.53% ของรายได้จากภาษีทั้งหมด และเก็บภาษีรายได้จากการทำงานอีกราว 42.32% ของภาษีทั้งหมด แต่เก็บภาษีจากทรัพย์สินได้เพียง 1.15% เท่านั้น

การจะแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ซึ่งเป็นตัวสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมามากมายให้ได้ผลจริง จะต้องปฏิรูปในแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ ตามแนวทางจากประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีการกระจายความมั่งคั่งที่ค่อนข้างเสมอภาค และมีปัญหาคนจนน้อย เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศแถบยุโรปเหนือ แคนาดา ฯลฯ

การปฏิรูปที่ดินควรกำหนดเพดานไม่ให้คนหรือบริษัทหนึ่งถือครองที่ดินมากเกินกว่า 100 ไร่ (ถ้าทำเกษตรขนาดใหญ่ควรยื่นขอเป็นกรณีพิเศษ) และเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า (ยิ่งที่ดินผืนใหญ่และมีราคาประเมินสูง ยิ่งเสียในอัตราสูง) ที่ดินในเมืองก็ควรมีการควบคุมโซนการใช้สอย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการกระจุกตัวของเจ้าที่ดินรายใหญ่ และคนส่วนใหญ่ไม่สามารถมีที่อยู่อาศัย ที่ทำกินได้ เพราะราคาที่ดินสูงเกินไป ควรมีธนาคารที่ดินรับซื้อที่ดินจากคนรวยและช่วยให้เกษตรกรคนจนเช่าซื้อได้ในระยะยาว พัฒนาระบบโฉนดชุมชนที่ให้เกษตรกรในชุมชนมีสิทธิทำกิน แต่ไม่มีสิทธิขายที่ดินให้เจ้าที่ดินจากในเมืองได้

การปฏิรูปภาษีต้องเปลี่ยนไปเก็บภาษีจากตัวทรัพย์สินและรายได้จากทรัพย์สินเพิ่มขึ้น (ปัจจุบันมีสัดส่วนแค่ 1,15%) ทุกวันนี้ระบบภาษีไทยยิ่งส่งเสริมความไม่เป็นธรรม เพราะเก็บภาษีทางอ้อมจากการบริโภค เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ที่บวกเข้าไปในสินค้า) ภาษีสั่งเข้า ภาษีการขายต่างๆ ที่รวมแล้วสูงถึงราว 57% ของรายได้จากภาษีทั้งหมด การเก็บภาษีทางอ้อมเป็นสัดส่วนสูง คือตัวการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ คนจนต้องเสียภาษีเวลาซื้อของกินของใช้ คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของเขาในอัตราที่สูงกว่าคนรวยซึ่งมีรายได้สูงกว่าอย่างมาก

แม้ว่าภาษีรายได้ส่วนบุคคลจะเก็บในอัตราก้าวหน้า คือคนเงินเดือนสูงจะเสียอัตราสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้ก้าวหน้ามากนัก อัตราสูงสุดราว 35% ต่ำกว่าในยุโรปตะวันตก รวมทั้งมีการหักค่าลดหย่อนได้มาก ทำให้อัตราก้าวหน้าลดลง ส่วนนายทุนเจ้าของกิจการตัวจริงอาจจะตั้งเงินเดือนตัวเองไม่สูง พวกเขามีรายได้จากเงินปันผล ค่าเช่า ดอกเบี้ย การขายหุ้น ฯลฯ สูงมาก พวกเขาจะเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารและเงินปันผลบ้าง แต่เป็นอัตราปกติ ไม่ได้เสียในอัตราก้าวหน้า

การจ่ายคืนภาษีให้ประชาชนโดยตรงจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างเห็นผลมากกว่า ไทยมีการจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนสูงอายุ คนพิการและอายุแรกเกิดถึง 3 ปี เพียงแต่การจ่ายให้เด็กยังจ่ายแบบจำกัดเฉพาะคนจนที่มาลงทะเบียน มีผู้รับรอง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตกหล่นจ่ายได้ไม่ทั่วถึงอย่างน้อย 20% ขึ้นไป ควรจะจ่ายเด็กทุกคนตั้งแต่แรกเกิด (หรือตั้งแต่ปฏิสนธิอยู่ในครรภ์) จนถึง 6 ขวบ จะได้ไม่ตกหล่น ที่ควรจ่ายถึง 6 ขวบ เพราะเด็กวัยนี้เป็นช่วงที่มีพัฒนาการทางสมอง ร่างกาย ความคิด จิตใจที่สำคัญที่สุด

ปัจจุบันรัฐบาลไทยใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ในโครงการเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายประชารัฐ กองทุนต่างๆ โดยถึงมือคนจนน้อย มีประสิทธิภาพต่ำ ค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งมีการรั่วไหลทุจริตด้วย ผมเสนอให้ยกเลิกโครงการช่วยคนจนทางอ้อมที่ส่งผ่านหน่วยงานรัฐเหล่านี้ และใช้งบจำนวนเดียวกันนี้ที่มีอยู่แล้วจ่ายให้คนจน แบบโอนเข้าบัญชีธนาคารของแต่ละคนโดยตรงไปเลย แบบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถ้าคิดจากจำนวนคนที่ได้บัตรสวัสดิการ 11.67 ล้านคน เราสามารถโอนงบข้างต้นจ่ายได้คนละ 1,000 บาทต่อเดือน นี่คือการกระจายรายได้ให้คนจนที่ตรงที่สุดและได้ผลที่สุด ที่หลายประเทศก็ได้ทดลองทำกันอยู่ และมีผลวิจัยยืนยันว่ามีประสิทธิภาพกว่าโครงการสังคมสงเคราะห์ผ่านเจ้าหน้าที่รัฐ

รวมทั้งถ้าปฏิรูปการเก็บภาษีตามที่ผมเสนอ รัฐบาลจะมีงบเพิ่มขึ้นได้อีกมาก สามารถจ่ายเบี้ยยังชีพคนสูงอายุ คนพิการ เด็กเล็ก ในอัตราสูงขึ้นกว่าเดือนละ 600-800 บาทที่จ่ายอยู่ตอนนี้ได้ด้วย