พ.ร.ก Crypto Currency หนุนมาตราฐานวงการดิจิทัลไทย

พ.ร.ก Crypto Currency หนุนมาตราฐานวงการดิจิทัลไทย

ในที่สุดประเทศไทยก็เป็นชาติแรกในย่านอาเซียนที่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Crypto Currency หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ออกมามีผลบังคับใช้

โดยมีชื่อเต็มว่าพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ปี 2561 ซึ่งเขียนถึงการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นExchange หรือการทำ ICO ส่วนอีกกฎหมายคือพระราชกําหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ที่เขียนถึงการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล

รายละเอียดเป็นอย่างไร คงมีการพูดถึงตามหน้าสื่อไปพอสมควรแล้ว ขออนุญาตข้ามไปเลย โดยขอที่จะแสดงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ต้องบอกว่าผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวกับคริปโตรวมถึงนักลงทุนไทย อยู่ในสถานะที่ดีกว่าชาติอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและเกาหลี ที่อุตสาหกรรมคริปโตได้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนหน้าจนทำให้เกิดการหลอกลวง (Scam) ตามมาอย่างมากมายจนสองประเทศดังกล่าวต้องประกาศ “ห้าม” การระดมทุนด้วยวิธีการ ICO 

สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่เห็นเคสของการระดมทุนที่เข้าข่ายหลอกลวงแบบจะแจ้งหรือเกิดการฟ้องร้อง แต่เพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้น จึงออกมาเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งผมมองว่าจะเป็นการสร้างมาตราฐานให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Crypto Currency และ Token Digital (ขออนุญาตใช้คำเรียกเดียวกับใน  พ.ร.ก)  ให้เป็นที่ยอมรับ พูดง่ายๆคือถูกนำมาไว้บนดินเป็นที่เรียบร้อย 

มุมมองส่วนตัวของผมคิดว่าธุรกิจใดๆก็ตามที่ขาดซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลและกฎหมายที่จะมาเอาผิดผู้ที่ทำความผิดถือว่ามีความอันตรายอย่างยิ่ง เพราะอิสระเสรีที่มากเกินไปจะทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเกิดความยุ่งเหยิงวุ่นวายและที่สำคัญจะเกิดผู้ประกอบการที่ไร้มาตราฐานและจะทำให้ผู้ประกอบการที่มีเจตนาดีได้รับผลกระทบไปด้วย และท้ายที่สุดอุตสาหกรรมดังกล่าวจะไม่สามารถคงอยู่ได้เพราะขาดความน่าเชื่อถือ 

การที่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) เข้ามาเป็นผู้มีอำนาจจัดการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Crypto Currency และ Token Digital ภายใต้มาตราฐานการดำเนินธุรกิจที่ระบุไว้ต้องถือว่าค่อนข้างสูงไม่ต่างอะไรจากธุรกิจหลักทรัพย์ เช่น การกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ บังคับให้ตรวจสอบลูกค้า คุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหาร ฯลฯ ในฐานะผู้ประกอบการต้องยอมรับว่าการทำธุรกิจมีความยากขึ้นแน่นอน แต่จะมีประโยชน์อะไรที่ประเทศไทยจะเกิดผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับCrypto Currency และ Token Digital จำนวนมากแต่ไร้ซึ่งคุณภาพและมาตราฐาน ซึ่งการมีกฎหมายที่กำกับดูแลผู้ประกอบการแบบนี้จะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมนี้ในระยะยาวอย่างแน่นอน 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มาตราการกำกับดูแลที่ รัดตึง เกินไปก็จะเป็นการ คุมกำเนิด ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Crypto Currency และ Token Digital ด้วยเช่นกัน ซึ่งเร็วๆนี้ทางสำนักงานฯก็จะเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตราการกำกับดูแลธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากทั้งสองฝั่งคือหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ประกอบการสามารถหาจุดลงตัวที่เป็นทางสายกลางได้ผมเชื่อว่าวงการ Crypto Currency และ Token Digital ไทยจะขึ้นมาอยู่ในระดับแถวหน้าของภูมิภาคได้ครับ