สคบ อำนาจควบคุม สัญญาเช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย หรือไม่?(จบ)***

สคบ อำนาจควบคุม สัญญาเช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย หรือไม่?(จบ)***

จากบทความที่ผู้เขียนได้เสนอไว้ในคอลัมน์นี้ ตอนที่ (1) เมื่อ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา (www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644565) ว่า

สคบ. ไม่มีอำนาจออกประกาศฯ ควบคุมสัญญาเช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย เพราะพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าหากมีกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมบัญญัติเรื่องสัญญาไว้โดยเฉพาะแล้ว ต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยผู้เขียนได้อาศัยหลักกฎหมายจากการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกามาเป็นแนวทางในการเสนอบทความ และในตอนที่ 2 ได้เสนอรายละเอียดการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา และแนวบรรทัดฐานที่ สคบ. ถือปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว เมื่อ ...(http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644665) สำหรับในตอน(จบ) นี้ ผู้เขียนขอเสนอประเด็นข้อกฎหมายสำคัญในเรื่องเกี่ยวกับอำนาจคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ในรูปแบบ ถาม-ตอบ ดังนี้

ถาม. : มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า “ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการใดได้บัญญัติเรื่องใดไว้โดยเฉพาะแล้วให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น และให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้ไปใช้บังคับได้เท่าที่ไม่ซ้ำหรือขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว เว้นแต่ ...” ดังนั้นคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ก็ยังมีอำนาจออกประกาศฯ กำหนดให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา เฉพาะในส่วนไม่ซ้ำหรือขัดกับบทบัญญัตินั้นได้

ตอบ : ไม่ได้ เนื่องจาก พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มีลักษณะเป็น กฎหมายพิเศษที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ในส่วนที่ยังมิได้มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ ดังนั้น การจะใช้อำนาจใดๆ ตามกฎหมายนี้ จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด... ตามนัยที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นไว้แล้ว ในเรื่องเสร็จที่ 412/2528 และเรื่องเสร็จที่ 132/2544 ซึ่งหมายความว่าคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาไม่มีอำนาจออกประกาศกำหนดให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาได้เลย เพราะมีกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมบัญญัติเรื่องสัญญาเช่าระหว่าง ผู้บริโภค กับ ผู้ประกอบธุรกิจการค้า ไว้โดยเฉพาะแล้ว... 

ดังนั้น คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาคงมีอำนาจเพียง ...นำบทบัญญัติในหมวดนี้ไปใช้บังคับได้เท่าที่ไม่ซ้ำหรือขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว... เฉพาะในกรณีอื่นที่มิใช่การกำหนดให้ธุรกิจใดเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา ซึ่งบทบัญญัติในหมวดนี้ กำหนดไว้ ส่วนที่ 2 ทวิ การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านสัญญา 

ตัวอย่าง เช่น การออกประกาศฯ ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงินตามมาตรา 35 เบญจ เป็นต้น แต่การควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงินนั้นให้กำหนดใช้บังคับได้เท่าที่ไม่ซ้ำหรือขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว เว้นแต่กรณี ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) คือในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม หากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวยังมิได้มีการดำเนินการหรือดำเนินการยังไม่ครบขั้นตอนตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และมิได้ออกคำสั่งเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคตามกฎหมายดังกล่าวภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง... ให้คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง...เสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาออกคำสั่งตามความในหมวดนี้ได้ 

หรือกรณีตาม (2) ที่กำหนดว่า ในกรณีตาม (1) ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจปล่อยให้เนิ่นช้าต่อไปได้ให้คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง...เสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาออกคำสั่งตามความในหมวดนี้ได้ โดยไม่ต้องมีหนังสือแจ้งหรือรอให้ครบกำหนด 90 วันตามเงื่อนไขใน (1) ส่วนอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ ต้องเป็นเรื่องยกเลิกประกาศฯ ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว เพื่อให้เรื่องดังกล่าวบังคับใช้ตามกฎหมายนั้น เช่น 

ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 (พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 6/2 บัญญัติเรื่องสัญญาไว้โดยเฉพาะแล้ว) หรือยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 (กฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน กฎหมายว่าด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน ลงวันที่ 26 ม.ค.2515 กฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว) เป็นต้น

  ถาม. : ถ้ามีกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ยังมีผู้ประกอบธุรกิจกำหนดข้อตกลงในสัญญาไม่เป็นธรรมอื่นแก่ผู้บริโภคที่กฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมไม่อาจบังคับได้ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาจะไม่มีอำนาจกำหนดให้ธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาได้เลยหรือ

ตอบ : ใช่ คงต้องมีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือให้มีกฎหมายเฉพาะ เช่นเดียวกับกรณีไม่อาจกำหนดฉลากและการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์(เรื่องเสร็จที่ 693/2549) (โปรดดูตอน 2 หัวข้อ 1.2) และได้มีการยกเลิกประกาศฯ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124/ตอนพิเศษ 65 ง/หน้า 58/30 พฤษภาคม 2550) ต่อมาจึงได้มีการตรากฎหมายเฉพาะมาควบคุมเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ คือ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

ถาม : ถ้ามีปัญหาการใช้บริการเช่าที่พักอาศัย เนื่องจากมีการร้องเรียนว่าถูกผู้ประกอบการเก็บค่าน้ำ ค่าไฟแพง จะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร

ตอบ : แสดงว่าผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิเพราะข้อตกลงในสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นอำนาจ คคบ. ตามมาตรา 10 (1) ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิตามมาตรา 39

ทั้งหมดนี้ คือแนวทางการบังคับใช้กฎหมายที่พยายายอธิบายเนื้อหา ข้อสงสัย และคำตอบจากแง่มุมต่างๆ ที่หวังสร้างความเข้าใจให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการในฐานะเป็นฝ่ายที่เกี่ยวข้องตรงและต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ให้การดำเนินกิจการราบรื่นและเป็นธรรมกับประชาชนในฐานะผู้บริโภค บนจิตสำนึกที่ดี และต้องขออภัยสำหรับบทความที่ในช่วงเริ่มต้นของบทความขาดความต่อเนื่อง จากความคลาดเคลื่อนบางประการจนอาจทำให้การสร้างความเข้าใจไม่ราบรื่นเท่าที่ควร 

*** ชื่อเต็ม: สคบ.มีอำนาจออกประกาศฯ ควบคุม สัญญาเช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย หรือไม่?(จบ)

 โดย... รังสรรค์ กระจ่างตา