เทคโนโลยี ความมั่นคง และสงครามทางการค้า

เทคโนโลยี ความมั่นคง และสงครามทางการค้า

เทคโนโลยี ความมั่นคง และสงครามทางการค้า

การเจรจาการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่ตัวแทนสหรัฐและจีน ณ กรุงปักกิ่งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนจะทำให้สงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯมีความเป็นไปได้สูงมากขึ้นไปอีก

แม้ว่าจีนจะมีมาตรการตอบโต้การเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯในสินค้าเหล็ก และอลูมินัมที่ส่งออกจากประเทศต่างๆทั่วโลก โดยการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าประเภทอาหารที่นำเข้าจากสหรัฐฯในอัตราสูงขึ้น 15-25% จากเดิม แต่ดูเหมือนว่าจีนเองก็มิได้ต้องการที่จะกระโจนเข้าสู่สงครามการค้าแบบเต็มรูปแบบกับสหรัฐฯ

ในขณะที่นักลงทุนก็ล้วนมีความหวังว่าการเจรจาการค้าระดับเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายน่าจะทำให้ความกังวลที่จะเกิดสงครามทางการค้าลดลงได้บ้าง แต่ผลกลับมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะทั้งสองฝ่ายต่างยื่นข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ให้อีกฝ่ายหนึ่งดำเนินการ เช่น สหรัฐฯยื่นข้อเสนอให้จีนลดการขาดดุลการค้าลงครึ่งหนึ่ง และให้รัฐบาลจีนยุติยุทธศาสตร์ “Made in China 2025” ซึ่งมุ่งผลักดันให้จีนเป็นแหล่งผลิตสินค้าของโลกที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต  ในขณะที่จีนเองก็ยื่นข้อเสนอให้สหรัฐฯผ่อนคลายกฏระเบียบให้บริษัทอเมริกันสามารถขายผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงบางประเภทให้กับบริษัทของจีนได้ และให้ยกเลิกมาตรการห้ามบริษัทของสหรัฐฯขายส่วนประกอบให้กับ ZTE บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมจดทะเบียนรายใหญ่ที่สุดของจีนเป็นระยะเวลา 7 ปี (เนื่องจาก ZTE ไปละเมิดมติการคว่ำบาตรประเทศเกาหลีเหนือ และอิหร่าน ด้วยการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากสหรัฐ ไปยังอิหร่าน และเกาหลีเหนือ) การไม่ลดราวาศอกให้กัน ทำให้การเจรจาในครั้งนี้ไม่คืบหน้า และในที่สุดก็คงต้องพึ่งการตัดสินใจของผู้นำทั้งสองฝ่ายในลักษณะที่คาดเดาล่วงหน้าไม่ได้แทน ซึ่งก็เริ่มเห็นสัญญาณกันบ้างแล้ว จากล่าสุดที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ออกมาเขียนบนทวิตเตอร์ว่าอยู่ระหว่างการหารือกับประธานาธิบดีสี่ จิ้นผิง ของจีนถึงหนทางที่จะทำให้ ZTE กลับมาดำเนินธุรกิจให้ได้เร็วที่สุด

อันที่จริงแล้ว นอกเหนือจากประเด็นการได้เปรียบทางการค้าของจีนต่อสหรัฐฯ และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมาเนิ่นนานแล้ว การสยายปีกของจีนเข้าไปลงทุนในบริษัทต่างๆของสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง สร้างความกังวลใจให้สหรัฐฯในเชิงความมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง โดยในปี 2560 มีบริษัทอเมริกันเกือบ 2,400 บริษัท  (มูลค่ารวมสูงถึง 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ที่ถือหุ้นใหญ่โดยคนจีนและบริษัทจีน ซึ่งผู้มีบทบาททางการเมืองในสหรัฐฯเห็นว่าจีนกำลังใช้วิธีนี้ถ่ายโอนนวัตกรรมชั้นสูงกลับไปยังประเทศของตน และจะแซงหน้าสหรัฐฯในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีในที่สุด

และแม้ว่าจีนจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรี แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทขนาดใหญ่ของจีนมักเป็นของรัฐ และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ก็ล้วนมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐ โดยบริษัทอเมริกันอย่าง Facebook หรือ Google ถึงแม้จะมีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้คนจำนวนมากในโลก (ซึ่งอาจถูกจารกรรมข้อมูลหรือไม่ก็ได้) แต่แน่นอนว่าบริษัทเหล่านี้มีข้อมูลของคนในประเทศจีนน้อยมาก เนื่องจากรัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้ทั้ง Facebook และ Google ให้บริการในประเทศจีน ในขณะที่คนทั้งประเทศจีนต้องค้นหาข้อมูล สื่อสารหรือทำธุรกรรมการเงินออนไลน์กันได้เฉพาะบน Baidu, WeChat หรือ Alipay เท่านั้น ดังนั้น หากจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลของสหรัฐฯผ่านการซื้อกิจการก็ยิ่งสร้างความได้เปรียบให้มากขึ้นไปอีก

ความกังวลด้านความมั่นคงที่กล่าวมาข้างต้น ได้ส่งผลให้แผนควบรวมกิจการระหว่าง Ant Financial (หรือ Alipay เดิม) และ MoneyGram บริษัทรับโอนเงินสัญชาติอเมริกันที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการตรวจสอบการลงทุนจากต่างประเทศของสหรัฐ (CFIUS) ในขณะที่ Huawei (ผู้ผลิตโทรศัพท์อันดับหนึ่งของจีน) และ AT&T (ผู้ให้บริการโทรคมนาคม รายใหญ่ของสหรัฐฯ) ก็ประกาศยุติแผนความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าน่าจะเกิดจากความหวั่นเกรงว่าอุปกรณ์โทรศัพท์อาจเป็นเครื่องมือในการจารกรรมข้อมูลได้

ดูเหมือนว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเมือง และความมั่นคง ดูจะแยกจากกันได้ยากมากยิ่งขึ้นทุกที