แนวทางการพัฒนาของระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21

แนวทางการพัฒนาของระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการพัฒนายุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเข้าสู่ยุคเสรีนิยมใหม่ทำให้ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน

แผ่ขยายอิทธิพลและเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของผู้คนในสังคมมากขึ้นเนื่องจากการดำรงชีวิตในแต่ละวันผูกติดอยู่กับกลไกราคา (market mechanism) อันเป็นผลจากการกวาดต้อนเอาทุกอย่างมาอยู่ภายใต้ปริมณฑลของระบบทุนนิยมไม่ว่าจะเป็น การศึกษา การรักษาพยาบาล สวัสดิการ วัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ ธรรมชาติ ฯลฯ ส่งผลให้สังคมในปัจจุบันเผชิญกับวิกฤตการณ์ทั้งด้านความมั่นคง ความยากจน ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาทางจริยธรรม ฯลฯ ดังนั้นหากไม่มีมาตรการเข้ามาชดเชยผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นอาจทำให้สังคมในอนาคตเผชิญกับสภาวะความไร้สมดุลจนนำมาสู่วิกฤตการณ์ที่รุนแรงและถาวรจนยากที่มนุษย์จะฟื้นฟูความสมดุลเหล่านั้นกลับคืนมา

ย้อนกลับไปในยุคที่อดัม สมิธ เขียนหนังสือ “The Wealth of Nation” ในศตวรรษที่ 18 ไล่เรียงมาจนถึงการเติบโตของแนวคิดสังคมนิยมของมาร์กซ์ ในศตวรรษที่ 19-20 นับเป็นยุคที่แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมือง เริ่มมีบทบาทในสังคมตะวันตก งานเขียนหลายชิ้นถูกเผยแพร่เพื่อนำเสนอถึงผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม จวบจนปัจจุบันเศรษฐศาสตร์การเมืองยังคงทำหน้าที่เป็นสาขาวิชาที่วิเคราะห์และวิพากษ์ประเด็นปัญหาของระบบทุนนิยมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่หลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองจึงทำให้จำเป็นต้องกลับไปหยิบยืมเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์การเมือง เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหาในแต่ละด้านก่อนที่จะคิดค้นแนวทางในการรับมือปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากวิธีวิทยาแบบเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นการวิเคราะห์แบบสหวิทยาการ (interdisciplinary) ที่เน้นการบูรณาการศาสตร์ต่างๆแบบองค์รวม ผ่านการวิเคราะห์ในทุกมิติ รูปแบบดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างกระบวนทัศน์ (paradigm) แบบใหม่โดยมุ่งเน้นการมองประเด็นปัญหาที่หลากหลายมากกว่าการผูกติดอยู่กับมุมมองใดมุมมองหนึ่งหรือเน้นการแบ่งแยกการวิเคราะห์ออกเป็นประเด็นจนไม่สามารถวิเคราะห์ไปยังรากฐานหรือต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น

การมองปัญหาแบบครอบคลุมทุกมิติจะช่วยทำให้องค์ความรู้ที่นำมาใช้เพื่อเสนอเป็นแนวทางในการบรรเทาผลกระทบเพียงพอและสอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่สามารถนำไปกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงได้ การมองปัญหาในปัจจุบันจึงต้องใช้รูปแบบองค์รวม (Holistic) อันเปรียบเสมือนกับการมองว่าสรรพสิ่งย่อมพึ่งพากัน เกี่ยวโยงกันและไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้ เช่นเดียวกับการมองโลกในศตวรรษที่ 21ที่มิติในเชิงเศรษฐกิจไม่สามารถแยกขาดจากมิติทางการเมือง มิติทางสังคมรวมถึงมิติทางวัฒนธรรม เนื่องจากทุกมิติส่งผลกระทบถึงกันและกันเป็นข่ายใยและมีปฏิสัมพันธ์กัน

การประยุกต์ใช้วิธีวิทยาดังกล่าวจะนำมาสู่การทบทวน ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจประเด็นปัญหาอย่างรอบด้านเพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ ยุทธศาสตร์และนวัตกรรมแบบใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และที่สำคัญกว่านั้นยุทธวิธีแบบองค์รวมช่วยให้เกิดการสร้างกรอบการพัฒนาแบบบูรณาการที่สามารถหลีกเลี่ยงนโยบายการพัฒนาที่มุ่งเน้นด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงมิติเดียวอันก่อให้เกิดความโน้มเอียงที่สร้างความเสียหายต่อสังคม โดยเฉพาะความเสียหายเกี่ยวกับการลดทอนคุณค่าในด้านอื่นๆที่ไม่สามารถประเมินออกมาในรูปของ“มูลค่า” ได้ เช่น คุณค่าในเชิงศิลธรรม ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม ความรัก ความช่วยเหลือเกื้อกูลฯลฯ ซึ่งคุณค่าเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม

ตัวอย่างของการพัฒนาเชิงบูรณาการมีหลายระดับ ตัวอย่างในระดับชุมชน เช่น ในประเทศเดนมาร์กจะมีชุมชนที่ชื่อว่าสวันฮอล์ม (Svanholm) ที่คนในชุมชนจะรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์ ภายในชุมชนมีการทำฟาร์มปศุสัตว์และปลูกผักออกานิคเพื่อนำมาเป็นอาหารสำหรับการบริโภค ชุมชนสวันฮอล์มเน้นหลักความร่วมมือ (cooperation) ของคนในชุมชนมากกว่าหลักการแลกเปลี่ยนในตลาด สมาชิกในชุมชนคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม และเห็นว่าทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน ดังนั้นจึงต้องใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่า ลักษณะของชุมชนในเดนมาร์กส่วนมากจะเน้นการเปิดโอกาสให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นก่อนจะนำไปปฏิบัติเป็นนโยบายเพื่อพัฒนาชุมชน ขณะที่การพัฒนาเชิงบูรณาการในระดับรัฐมักพบแพร่หลายในประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่มีการให้รัฐเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจเพื่อดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆกับนโยบายทางสังคม ผลลัพธ์ของการพัฒนาที่เน้นความหลากหลายทำให้ประเทศในแถบนี้มีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และกลายเป็นสังคมที่สงบสุขมากที่สุดในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ “ระบบรัฐสวัสดิการ” จึงเปรียบเสมือน“นวัตกรรม” ของประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่สามารถสร้างความสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ช่วยป้องกันความผิดพลาดอันมีสาเหตุมาจากการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป

ดังนั้นการวิเคราะห์สถานการณ์ที่สลับซับซ้อนในปัจจุบันจำเป็นต้องนำการบูรณาการองค์ความรู้ในหลากหลายสาขามาปรับใช้ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมแบบใหม่รองรับกับปัญหาในอนาคต รวมถึงรัฐควรกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน ส่งเสริมการพัฒนาการศึกษา การพัฒนาสิทธิด้านสวัสดิการ ตลอดจนการวางยุทธศาสตร์และการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆเพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาทั้งกระบวนการ โดยการวิเคราะห์สถานการณ์ในภาพรวมจะช่วยทำให้เข้าใจปัญหาที่จะนำมาสู่ข้อสรุปร่วมกันว่าการพัฒนาเศรษฐกิจไม่สามารถแยกขาดจากการพัฒนาสังคมและการพัฒนามนุษย์เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้คือหลักประกันที่จะขับเคลื่อนสังคมไปสู่ดุลยภาพในการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกๆด้านดังนั้นรูปแบบการพัฒนาที่เน้นการผสมผสานศาสตร์อื่นๆและเน้นความหลากหลายคือแนวทางที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาของระบบทุนนิยมในอนาคตอันจะช่วยลดต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางเศรษฐกิจรวมถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างพร้อมเพียงกัน

โดย... 

นุชประภา โมกข์ศาสตร์ 

มหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย