นักฆ่าในครัวคุณ

นักฆ่าในครัวคุณ

หัวเรื่องบทความวันนี้มาจากวลีที่ว่า "Killer in the Kitchen" เป็นวลีที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ดิการ์เดี้ยน (The Guardian)ประเทศอังกฤษ

ปกติผมเป็นคนที่ชอบทานอาหารจำพวกไส้กรอกเป็นอย่างมาก แม้จะทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับภัยอันตรายร้ายแรงของ ไนเตรตและไนไตรท์ที่อยู่ในอาหารที่ผ่านกรรมวิธีซึ่งมีอยู่ทั้ง แฮม เบคอน รวมอยู่ด้วย แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจโยนไส้กรอกที่เพิ่งซื้อมาจากห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งทิ้งไป แม้จะชื่นชอบมากมิใช่ว่าจะเน่าเสียหรือมีสิ่งแปลกปลอมเป็นมดแมลงแต่ประการใด

สาเหตุนั้นเนื่องด้วยมีเพื่อนสนิทได้ส่งข้อความเกี่ยวกับประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ให้ อาหารเนื้อสัตว์ผ่านกรรมวิธี (processed meat) เช่น เบคอน แฮม รวมทั้งไส้กรอก เป็นอาหารที่มีสารก่อมะเร็งอย่างชัดเจน ถ้าถามว่า รู้มาตั้งนานแล้วดังที่เกริ่นนำมา ทำไมไม่เลิกทาน จะมาตื่นเต้นอะไรกับคำประกาศขององค์การอนามัยโลกในเวลานี้ ที่ผมถึงขนาดโยนทิ้งไป ทั้งที่ราคาค่อนข้างแพงเพราะผู้ผลิตไส้กรอกที่ผมซื้อมานั้น ถือว่ามีความซื่อสัตย์ในวิชาชีพของเขามาก มีการประกาศส่วนผสมในอาหารโดยใช้รหัสสากล INS ที่ระบุตัวเลข 250 และ 251 ซึ่งเมื่อไปเปิดตารางดูก็พบว่าเป็นสาร ไนไตร์ และ ไนเตรต ซึ่งเป็นสารอันตราย ที่สำคัญเมื่อได้อ่านบทความของหนังสือพิมพ์ภาษาต่างประเทศที่ว่า ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ไม่ต้องมาถกเถียงกันอีก คล้ายๆ กับการศึกษาวิจัยที่พบว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลานานๆ แล้วมีโอกาสก่อให้เกิดมะเร็งได้เช่นเดียวกัน

จะว่าไปแล้วการได้อ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ของอังกฤษวันนั้น ทำให้ได้ข้อมูลนอกเหนือไปจากเรื่องของ อาหารที่มีพิษภัยต่อสุขภาพ เฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของสิ่งพิมพ์ที่เริ่มจะประคองตัวกันได้ยากยิ่งขึ้น เพราะมาในวันนี้โลกธุรกิจแข่งขันกันสูง และโฆษณาของเขาลดน้อยลงมาก ต้องขอรับบริจาคเงินผู้อ่านคนละ 1 ปอนด์ เพื่อให้หนังสือพิมพ์ของเขายังคงรับใช้สังคมอยู่ได้ ซึ่งตรงกับปรากฎการณ์ของสิ่งพิมพ์ในสังคมไทยที่ทยอยเลิกกิจการไปของหนังสือสิ่งพิมพ์หลายฉบับเมื่อไม่นานที่ผ่านมา

สำหรับข้อคิดสำคัญอีกประการหนึ่ง แม้จะเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงกันเป็นเวลายาวนานแล้ว นั่นคือกรณีของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเนื้อสัตว์หลายแห่งของโลกที่ในประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐ ถึงกับจะต้องมีนักล้อบบี้ หรือแปลง่ายๆ คือ คนคอยวิ่งเต้นปกป้องผลประโยชน์ให้กับองค์กรเหล่านั้นประจำกันอยู่ตามรัฐสภากันเลยทีเดียว เพราะการโต้เถียงเกี่ยวกับพิษภัยของอาหารเนื้อสัตว์ผ่านกรรมวิธีที่ว่า สร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัทหรือองค์กรเหล่านั้น เมื่อใดที่มีข่าวในทางทำให้สินค้าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาไม่สามารถจำหน่ายได้เป็นปกติ ย่อมสั่นสะเทือนถึงผลกำไรทางธุรกิจที่แม้แต่ในประเทศไทย ด้วยความตื่นตัวของผู้บริโภคเราเริ่มเห็นสินค้าดังกล่าว มักถูกนำมาขายลดราคา หรือ ซื้อ 1 แถม 1 ก็มี

ปัญหาความอันตรายร้ายแรงของผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้ถูกปกปิด กระทั่งแม้แต่ผมเองยังไม่ปักใจเชื่อในพิษภัยมายาวนาน ด้วยความคลุมเครือของข้อมูล หรือ การไม่กล้าฟันธงชี้ชัดลงไปถึงภัยอันตรายที่ว่า ด้วยข้ออ้างผลการศึกษาในห้องทดลองกับโลกแห่งความเป็นจริง หรือ การอ้างปริมาณการบริโภคไปเปรียบเทียบกับอันตรายอันเนื่องมาจากสาเหตุอื่นๆ ล้วนเป็น มายาภาพ ที่พยายามกลบเกลื่อนข้อความจริงมิให้ผู้บริโภคได้รับรู้ กระทั่งองค์การอนามัยโลกเองก็ยังอ้ำๆ อึ้งๆ อยู่นาน ก่อนจะกล้าประกาศความเกี่ยวเนื่องของผลิตภัณฑ์เหล่านี้กับโรคร้ายแรง เพราะสารไนเตรตและไนไตรท์ เมื่อเข้าสู่กระเพาะอาหารและลำไส้ของมนุษย์แล้ว มันจะเข้าไปทำลายเซลล์ของอวัยวะดังกล่าว ทานมากเท่าใดเซลล์ก็จะถูกทำลายมากเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคร้ายดังกล่าวมีจำนวนสูงขึ้น เพราะประชาชนผู้บริโภคขาดการดูแลเอาใจใส่ ติดกับดักของนักวิ่งเต้นพิทักษ์ผลประโยชน์ของบริษัทองค์กรที่ทำธุรกิจด้านเนื้อสัตว์ คอยสกัดกั้นการให้ข้อมูลความจริง

จะว่าไปพิษภัยของอุตสาหกรรมอาหารมีการสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่หลายเรื่อง โดยส่วนตัวผมแนะนำให้นิสิตในชั้นเรียนที่สอนได้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ที่น่าสนใจ 2 เรื่อง คือ Daily Bread และ Food Inc ให้ได้เห็นพิษภัยของอาหารเนื้อสัตว์ที่ว่าอยู่เป็นประจำในวิชาที่เกี่ยวข้อง แต่พบว่าแรงสั่นสะเทือนมากที่สุดน่าจะเกิดจากคำประกาศขององค์การอนามัยโลกเป็นสำคัญ บริษัทห้างร้านผู้ผลิตสินค้าจะต้องปรับตัว เพราะมีวิธีการถนอมอาหารหรือกรรมวิธีในการปรุงรสและรักษาอาหารประเภทเนื้อสัตว์ด้วยวิธีการอื่นๆ ซึ่งไม่ใช้สารอันตรายทั้งสองตัวนี้ได้อีกหลายวิธี แต่กินระยะเวลานานมาก อาทิ การผ่านกรรมวิธีก่อนมาถึงผู้บริโภคในบางประเทศเช่น อิตาลี ในอาหารที่เรียกว่า Parma Ham ต้องใช้เวลายาวนานถึง 18 เดือน ในขณะที่การใช้สารเคมีอันตรายประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

ต้องเรียนว่าบทความนี้ไม่มีเจตนาสร้างปัญหาให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร หรือมาเอาใจผู้บริโภคมังสวิรัต แต่อยากฝากความหวังมายังภาครัฐและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคให้ช่วยกันสอดส่องดูแลสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยและได้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกรรมวิธีที่ถูกต้อง ในระยะเวลาอันใกล้นี้โดยถ้วนหน้ากัน