ให้นึกถึงเรื่อง 'ตาเถนส่องบาตร'

ให้นึกถึงเรื่อง 'ตาเถนส่องบาตร'

มีเรื่องเล่าถึงที่มาของ “เถรส่องบาตร” ว่าวัดแห่งหนึ่งมีพระเถระน่านับถือในศีลวัตรปฏิบัติ จึงมีหมู่ชนเดินทางมากราบไหว้ด้วยความศรัทธาแทบไม่เว้น

อย่างที่เกิดขึ้นกับพระเถระรูปนี้ จนนำไปสู่ความสงสัยของนักบวชที่เรียก อีกชื่อว่า จนกตาเถน (คนนุ่งห่มชุดขาวแบบพระ แต่ไม่โกนผม)

ตาเถนผ้าขาวพยายามไปด้อมๆ มองๆ แถบกุฏิพระเถระรูปนั้น ว่าท่านมีศีลวัตรปฏิบัติอย่างไรมีธรรมวิเศษอะไรที่ทำให้ผู้คนหลั่งไหลมาศรัทธา ตาเถนผ้าขาวได้แอบไปเลียบๆ มองๆ ดูเกือบทุกวัน โดยเฉพาะยามที่มีคณะศรัทธาไปหาพระเถระที่กุฏิ ซึ่งแกก็มิได้เห็นอะไรมากไปกว่าการพูดคุยสนทนาธรรมแบบพระเถระทั่วๆ ไป นอกจากพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ออกจะไม่เหมือนรูปอื่น คือ การที่พระเถระรูปนั้นนำเอาบาตรขึ้นมาส่อง แล้วก็เป่าบาตรด้วยปากของท่าน

ตาเถนผ้าขาว จึงทึกทักเข้าใจเอาเองโดยไม่ต้องสอบถามใครว่า ต้องทำอย่างพระเถระด้วยการส่องบาตรและเป่าบาตรนี้แหละถึงจะขลังศักดิ์สิทธิ์ เรียกผู้คนให้มาศรัทธาได้ แต่เมื่อนึกถึงการเป่าปลุกเสกก็ต้องมีคาถาศักดิ์สิทธิ์กำกับการเป่าเสก หาใช่เป่าลมปากอย่างเดียวไม่ จึงได้ย่องเข้าไปหาพระเถระรูปนั้น ยามไม่มีใคร เพื่อขอคาถาศักดิ์สิทธิ์ในการส่องบาตรและเป่าบาตรให้ขลัง โดยถามพระเถระว่า “คาถาอะไรที่ท่านเป่าแล้วขลัง ทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ส่งฤทธิ์ผลตามปรารถนาขอรับ !!!”

พระเถระรูปนั้น เมื่อฟังคำถามตาเถนผ้าขาวแล้ว นึกสงสารในความเข้าใจที่เป็นโมหะ แต่การจะไม่บอกกล่าวอะไรให้เลยก็ไม่ใช่ความควร จึงพูดขึ้นว่า “พุทโธ พุทโธ พุทโธ” ตาเถนได้ถามอีกครั้งว่า “พุทโธ องค์เดียวหรือขอรับ” พระเถระตอบว่า “ใช่ พุทโธองค์เดียวนี่แหละ เสกเป่าได้สารพัดนึก ประสงค์สิ่งใดก็จักได้ตามประสงค์”

ตาเถนได้ฟังอย่างนั้น จึงมีปีติยินดียิ่ง เพราะจะได้สำเร็จคุณวิเศษเหมือนกับพระเถระรูปนี้จึงรีบลากลับที่พัก เพื่อประกอบพิธีส่องบาตรและเป่าบาตร และนับแต่นั้นมา ในทุกๆ เช้า ชาววัดแห่งนั้นก็ได้เห็นภาพตาเถนยืนถือบาตรยกขึ้นมา

ส่องและเป่าพุทโธ พุทโธ พุทโธ ลงไปในบาตร จนนำไปสู่ความสงสัยของสามเณรที่เห็นให้เกิดความสงสัยว่า “ตาเถนผ้าขาวทำอะไร ทำไมต้องทำอย่างนั้น!!”จึงเข้าไปถามตาเถนเพื่อให้หายสงสัย

ตาเถนเมื่อฟังคำถามจากเณรน้อยหน้าใสซื่อ จึงแอบภูมิใจในความเป็นผู้วิเศษของตนที่เกิดขึ้นที่เป็นมรรคเป็นผลแล้วในบัดนี้ จึงปั้นหน้าดุจพระเถราจารย์ผู้ทรงวิทยาคม ยกไหล่ เชิดหน้าขึ้น พร้อมหลับตาลงด้วยอาการผู้ทรงคุณและกล่าวไปด้วยเสียงเบาๆ ว่า “เราบอกเณรไม่ได้เป็นเคล็ดลับวิชา หากเณรอยากรู้ก็ต้องทำดูเอาเอง” ด้วยความอยากรู้จึงทำให้สามเณรลองทำตามตาเถนผู้วิเศษ จนข่าวดังกล่าวแพร่ไปทั่วหมู่บ้านย่านตลาดแถววัดนั้น ให้โจษไปทั่วว่า “ตาเถนทำอะไร มีปริศนาอะไรจากการทำนั้น !!” กาลโกลาหลในชุมชนย่านใกล้วัดจึงเกิดขึ้น (เลียนแบบกัปโกลาหลในพระพุทธศาสนา) จึงเดินทางมาตามมาชมตาเถนส่องบาตรกันมากขึ้นๆ จนทำให้ตาเถนเข้าใจเอาเองว่า “นี่ชะรอยคงเป็นอิทธิฤทธิ์ของคาถาส่องบาตรที่พระเถระมอบให้ ได้เกิดอานุภาพขึ้นแล้ว จึงมีผู้คนหลั่งไหลมาที่กุฏิของตนกันมากขึ้นๆ แทบไม่เว้นในแต่ละวัน”

ตาเถนจึงยิ่งเพิ่มความเชื่อในคาถาส่องบาตร จากเดิมส่องเป่าครั้งเดียว จึงเพิ่มเป็นส่องเป่าบาตร 3 ครั้ง 3 เวลา เพื่อให้เข้มข้นยิ่งขึ้น จนชาวบ้านร้านตลาดนำไปเล่าลือเรื่องตาเถนส่องบาตร เป่าบาตร แผ่กว้างไปทั่ว จากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่หมู่บ้านหนึ่ง จึงทาให้ผู้คนที่อยากรู้อยากเห็นตาเถนส่องบาตร เป่าบาตรมากันมากขึ้นๆ และมาขอเรียนวิชาจากตาเถน โดยยกตาเถนขึ้นมาเป็นครูบาอาจารย์ เมื่อถวายเครื่องบูชาไหว้ครู-รับครูจากตาเถน เพื่อหวังได้รับการสั่งสอนวิชาแสนวิเศษตามที่เล่าลือกันไปในหมู่ชาวบ้าน ซึ่งตาเถรก็มิได้ถ่ายทอดวิชาพิสดารพันลึกอะไรไปกว่า “ให้ส่องบาตรและว่าพุทโธๆๆๆ” ในที่สุดเรื่องเมื่อนานๆ ไป หมู่ชนที่มารับวิชาส่องบาตร เป่าพุทโธ ก็ค่อยๆ หายหน้าไปตามกาลเวลา !!!

จากเรื่องดังกล่าว เป็นคติธรรมที่เล่าขานกันมาเป็นนิทานพื้นบ้าน เพื่อสอนให้รู้ว่า การถือปฏิบัติสืบกันมา บอกกล่าวกันมา ฟังข่าวกันมา อย่างไม่รู้เหตุรู้ผล ไม่รู้จริง ไม่รู้จักไต่สวนสอบสวนและไม่ถามไถ่ผู้รู้ ไม่รู้จักนำมาศึกษาค้นคว้าทดลองปฏิบัติการด้วยตนเอง อย่างมีสติปัญญา จึงนำไปสู่ความงมงาย เกิดโมหะจิต ให้ประพฤติปฏิบัติผิดแผกไปจากบัณฑิตที่มีธรรม

ได้เห็นภาพผู้นำประเทศไปขี่มอเตอร์ไซค์ที่จ.บุรีรัมย์ มีเนวินและคณะฯ คอยต้อนรับขับสู้ด้วย พิธีการที่ศักดิ์สิทธ์ที่เคยเห็นหลายผู้นาไปใช้บริการแล้ว จึงให้นึกถึงเรื่อง ตาเถนส่องบาตร ตามที่เล่ามาแบบเพลินๆ แต่ได้โปรดอย่าไปคิดไกลเกิน (ธรรม)

หมายเหตุ เถรส่องบาตรกับตาเถนส่องบาตรเป็นเรื่องพระเถรกับคนเถนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เอวัง !!