อนาคตยูโรและยุโรป ตอนที่ 11

อนาคตยูโรและยุโรป ตอนที่ 11

เราสามารถวิเคราะห์เศรษฐกิจอิตาลี โดยไม่ต้องนำเข้ามาปัจจัยอื่นๆที่สามารถส่งผลกระทบ

 เช่น เรื่องวัฒนธรรมหรือสถาบันทางการเมือง รัฐและชุมชน เราทำได้แต่จะขาดความสมบรูณ์และความเข้มข้นไปมาก โดยเฉพาะกรณีของอิตาลี ถ้าต้องมองยาวๆ 50-100 ปี มีหลายประเทศที่คล้ายอิตาลี เช่น ญี่ปุ่นหรือรัสเซียที่นักวิชาการรู้สึกว่าไม่ใช่ประเทศปกติเหมือนใครๆ ไม่ใช่ normal country (พวกฝรั่งมักดูถูกการเมืองอิตาลี เช่น นายเบรุสโคนี่ ที่มองเป็น saleman แทนที่จะเป็น statesman หรือเย้ยอิตาลีว่ามีโสเภณีเป็น ส.ส.) เมื่อประเทศเข้าสู่ยุคสมัยใหม่หรือหลังสมัยใหม่ ถ้าออกนอกเรื่องเศรษฐกิจ ทุกคนโดยเฉพาะคนในประเทศกลุ่มรายได้สูง จะพบว่าอิตาลีมีอะไรแปลก เพี้ยนๆอยู่เยอะ ส่วนเราคนไทยบ่อยครั้งจะไม่คิดว่าอิตาลีแปลกประหลาดอะไร เพราะเราเห็นและเคยชินกับเรื่องพวกนี้โดยเฉพาะเรื่องการเมืองกับประชาธิปไตย หรือการไม่มีหลักนิติธรรมที่แข็งแกร่ง 

แต่ที่อิตาลีดูแปลกก็เพราะว่า เศรษฐกิจของอิตาลีเคยอยู่อับดับ 5 ของโลก (ปัจจุบันน่าจะอยู่อับดับ 7-8) แต่ที่มันดูไม่ปกติก็เพราะว่า เราจะพบช่องว่างหรือความแตกต่างที่ค่อนข้างมากระหว่างปรากฎการทางเศรษฐกิจที่อิตาลีมีรายได้สูงเป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่ปรากฏการหรือลักษณะสถาบันวัฒนธรรมทางการเมืองหรือสังคม ซึ่งดูเหมือนจะตามเศรษฐกิจไม่ทัน เคยมีคนพูดว่า “คนอิตาลีเป็นอย่างไรก็ได้รัฐบาลก็ได้รัฐบาลอย่างนั้น"

มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ทุกประเทศมีภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการหรือInformal Sector แต่ของอิตาลีนั้นใหญ่มากสำหรับประเทศรายได้คือสูงถึง 16-18% เป็นรองจาก กรีซ ทุกประเทศมีคนหนีภาษี แต่ที่อิตาลีนั้นสูงมากจนรัฐบาลต้องเก็บภาษีภาคธุรกิจค่อนข้างจะสูง อิตาลี เยอรมัน และญี่ปุ่น มีอะไรคล้ายกันคือก่อนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 มีความพยายามที่คนจำนวนหนึ่งอยากได้ประชาธิปไตย และตอนแรกๆ ก็ทำท่าดูเหมือนจะไปได้ แต่ในที่สุดพลังที่ก่อตัวหนุนเผด็จการหรืออำนาจนิยมมีพลังมากกว่า พอเข้าทศวรรษ 1920 เป็นต้นไป อิตาลีและญี่ปุ่นก็เข้าสู่ระบบ ฟาสซิสต์ หรืออะไรทำนองนั้น เช่นเดียวกับเยอรมัน เมื่อฮิตเลอร์ ขึ้นสู่อำนาจในปี 1933 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมเกิดขึ้นได้ แต่สำหรับเยอรมันและญี่ปุ่นนั้นต้องพูดว่าอเมริกันเป็นคนออกแบบและกำกับการแสดง แรกๆคนส่วนใหญ่คิดว่าประเทศทั้ง 3 นี้ไม่น่าจะมีอนาคตในทั้งทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตย แต่ก็ทายผิดกันหมด แถมเศรษฐกิจโตได้อย่างมหัศจรรย์เกือบ 20 ปี ประชาธิปไตยเหมือนได้ฝั่งรากลึกลงไปแล้ว

เป็นเรื่องปกติที่การเมืองหรือประชาธิปไตยจะต้องต่างไปจากอุดมคติ ญี่ปุ่นอาจจะมีรัฐบาลผสม ไม่มีใครครองเสียข้างมาก แต่พรรค เแอลดีพี ก็เป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด อยู่ประมาณ 40 กว่าปี พรรคแอลดีพี มีมุ้งเล็กมุ้งใหญ่อยู่เต็มไปหมด นายกเปลี่ยนกันได้บ่อย 6 เดือน 1 ปี มีคอร์รัปชั่นทางการเมือง นายกไม่มีอำนาจมากไม่เหมือนระบบรัฐสภาของอังกฤษ หลายอย่างดูคล้ายอิตาลีคือ เปลี่ยน ครม. เปลี่ยนรัฐบาลบ่อยมาก แต่ในยุโรปด้วยกันระบบรัฐสภาอิตาลีนั้น การเมืองมีลักษณะแตกย่อยอำนาจกระจาย ฝ่ายบริหารไม่แข็งแกร่งเหมือนฝรั่งเศสหรืออังกฤษ 

สังคมเองก็ก็ต่างกันมากในระดับภูมิภาคทั้งรายได้และวัฒนธรรมความเป็นประชาสังคม (ก่อนหน้านี้ทางเหนือยังขอจะแยกตั้งประเทศใหม่) เพราะอิตาลีเป็นรัฐชาติค่อนข้างช้า (ค.ศ. 1861 เยอรมันก็ช้า คือ ค.ศ.1871 แต่รัฐบาลรัสเซียและสถาบันภายในของเยอรมันแข็งแกร่งกว่าอิตาลี) อิตาลีล้าหลังกว่าผู้อื่น ด้านการศึกษา ความยากจน และความแตกต่างระหว่างาภูมิภาค โดยเฉพาะทางเหนือกับทางใต้ เมื่อเป็นประชาธิปไตยหลังสงคราม ลึกๆแล้วอิตาลีจึงได้รัฐและสังคมที่อ่อนแอทั้งคู่ การเมืองมีลักษณะตอบแทนกันในระบบอุปถัมภ์เหมือนที่เราเห็นในเมืองไทยมาตลอด คอร์รัปชั่นทั้งระบบมีอยู่ดาดดื่นยาวนาน แก้ไม่ได้ รัฐที่อ่อนแอจึงทำให้เกิดระบบมาเฟียเข้ามาทดแทนให้บริการและความคุ้มครองแก่ส่วนที่ต้องการ บริการและความช่วยเหลือ การแข่งขันทางการเมืองในระบบอุปถัมภ์ ยิ่งไปซ้ำเติมโครงสร้างที่อ่อนแอของสังคม กลายเป็นวัฏจักรที่ชั่วร้ายทั้งหมดนี้รุนแรงขึ้นจนสาธารณะรัฐที่ 1 ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 1945 เหมือนต้องล่มสลายในปี ค.ศ 1993 

เมื่อสังคมพบว่า นักการเมือง พ่อค้า ข้าราชการ ทั้งระบบมีการคอร์รัปชันกันมหาศาล กว่า 1,000 คน หมดอำนาจทางการเมืองและเข้าไปนอนในคุก คอร์รัปชันระบบอุปถัมภ์ ความไม่ลงตัวทางเศรษฐกิจทำให้การเมืองของอิตาลีนำมาซึ่งความรุนแรงมากกว่าที่พบในญี่ปุ่น ผู้พิพากษาที่ประกาศตัวเป็นศัตรูกับมาเฟียและนักการเมืองธุรกิจที่ทุจริตถูกลักตัวและฆ่าตายไปหลายคน (คล้ายๆญี่ปุ่นช่วง ทศวรรษ 1910-1930)

ผลหรืออำนาจในการทำลายจากการเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ของอิตาลีจึงค่อนข่างสูงกว่าที่อื่น ทุกอย่างเริ่มมาสงบขึ้นหลังจากทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา แต่ก็ยังเป็นระบบการเมืองที่ยังไม่มีประสิทธิภาพสะท้อนออกมาให้เห็นว่าคนอิตาเลี่ยนมีความรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยวทางการเมือง (alienation) ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นอยู่ในวัฒนธรรมมวลชน ระบบขาดผู้นำทางการเมืองที่มีเอกภาพ ขาดกลไกทางสถาบันที่จะทำให้เกิดการสร้างนโยบายและการนำนโยบายไปใช้อย่างมีประสิทธิผลและเกิดฉันทานุมัติในสังคม แต่กับมีระบบราชการที่ใหญ่โตช้าและอืดอาด (พนักงานกว่า 4 ล้านคน ใหญ่กว่าของไทยกว่าเท่าตัว ทั้งๆ ที่อิตาลีมีประชากรน้อยกว่า) 

ระบบมที่เต็มไปด้วยการผลิตกฎหมายออกมามากมายแต่การบังคับใช้อ่อนแอ รัฐบาลสมัย Berlusconi เคยตั้งกระทรวงและรัฐมนตรีที่ชื่อว่ากระทรวง ทำทุกอย่างให้ง่ายขึ้น(Ministry of Simplification) เพื่อมาทำลายกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่และได้ทำไปเป็น แสนๆฉบับ ที่เหลืออยู่ก็ยังนับว่ามากระดับหมื่น อิตามีชื่อเสียงมีมากในเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้ามาก ความสะดวกในการทำธุรกิจแพ้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ คืออยู่ในอับดับ 73 ในปี 2013 โดยเปรียบเทียบอิตาลีมีชื่อเสียงในการสร้างอุปสรรคในการแข่งขันธุรกิจเพราะให้ความคุ้มครองและเงินอุดหนุนแก่ธุรกิจของรัฐและเอกชนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการควบคุมกำกับตลาดสินค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันในภาคบริการซึ่งรวมทั้งคมนาคมในอุตสาหกรรมค้าปลีกและอุตสาหกรรม Network

และถ้าวัดและให้คะแนนโดย OECD (PMR SCORE) อยู่ในเกณฑ์ไม่ดี ทั้งหมดนี้ทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาในอิตาลีในหลายปีที่ผ่านมามีปริมาณต่ำมากเป็นหลายเท่าของประเทศอย่างอังกฤษหรือสวีเดน