เศษเสี้ยวการศึกษากับครู Teach for Thailand

เศษเสี้ยวการศึกษากับครู Teach for Thailand

ใครจะเชื่อว่า จากเด็กหญิง ชั้น ม.2 นักเรียนหลังห้องแชมป์เกรด 0 เธอสามารถกลับตัวเป็นนักเรียนที่มีพัฒนาการเรียนที่ก้าวกระโดด

 จนเธอมีโอกาสได้เรียนต่อสายอาชีวะ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ตามที่ได้ตั้งใจไว้ เช่นเดียวกันกับเพื่อนร่วมชั้นคนอื่น ที่หลายคนไม่คิดจะเรียนต่อ แต่ได้เปลี่ยนความคิด และมุ่งเข้าเรียนได้ตามที่หวังไว้

นี่เป็นเพียงเรื่องราว จากคนที่อยู่ในฐานะ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในโครงการของมูลนิธิ Teach for Thailand ที่เปิดมุมมองการศึกษาไทยให้กลุ่มคนที่มีศักยภาพและมีใจที่อยากร่วมพัฒนาสังคมไทยได้ลงมือทำจริง ผ่านการเป็นครู 2 ปี ซึ่งยังมีเรื่องราวอีกนับร้อย จากเพื่อนครูในโครงการฯ ที่ล้วนมีศักยภาพ มีผลการเรียนที่ดี มีแต้มต่อ สามารถเลือกทำงานอื่นเพื่อเงินเดือนที่ดีกว่าได้ แต่ทำไมถึงตัดสินใจมาเป็นครู และต้องเป็นครู Teach for Thailand?

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผู้เขียนคือนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จากธรรมศาสตร์ ที่เพียงต้องการเรียนให้ได้เกียรตินิยมและได้ทำงานดีๆ เงินเดือนสูงๆ จน มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เครือข่ายทีช ฟอร์ ออล องค์กรที่มุ่งบรรเทาความไม่เสมอภาคด้านการศึกษาในประเทศต่าง ๆ  ได้มาสะดุดใจกับประโยคที่ว่า สักวันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้พวกเขาสามารถกำหนดชะตาชีวิตได้ด้วยตนเอง” 

ในฐานะที่เกิดในครอบครัวที่พร้อมเข้าถึงการศึกษาที่ดี อาจเป็นเพียง 0.001% ของคนทั้งประเทศด้วยซ้ำ ทำให้ตระหนักว่า คนที่ไม่โชคดีมีมากเหลือเกิน และด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ ล้วนมีที่มาจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุ้มค่าที่สุด ซึ่งโครงการ “ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ให้โอกาสผู้ที่ไม่ได้เรียนจบครู แต่มีศักยภาพและมีใจ ได้เข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงนี้ผ่านการอบรมอย่างเข้มข้น และนี่คือจุดเริ่มต้นที่เราอยากเห็น

กว่า 3 เทอมแล้ว กับการเป็นครูคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโรงเรียนสังกัดกทม. ได้เห็นปัญหาในทุก ๆ วันไม่เคยซ้ำกัน สิ่งที่พบคือ ส่วนใหญ่มี ปัญหาด้านครอบครัว 80% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ บางคนอยู่คนเดียว เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการมั่วสุมและนำไปสู่ปัญหายาเสพติด ปัญหาทางเพศ นักเรียนส่วนใหญ่ต้องทำงานระหว่างเรียนไปด้วยและดูจะกลายเป็นเรื่องสำคัญกว่าการเรียน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องพื้นฐานความรู้ (academic achievement) นักเรียน ม.3 กว่า 40% ไม่สามารถคำนวณคูณ หารได้ ท่องสูตรคูณไม่เป็น ส่วนทักษะและอุปนิสัยการใช้ชีวิต (essential skills and characteristic strengths) การขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ ขาดการปลูกฝังเรื่องความรับผิดชอบและการเคารพผู้อื่น ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ความไม่รู้และไม่พยายามที่จะพัฒนาตัวเอง เพราะไม่เห็นความสำคัญว่า จะเรียนไปเพื่ออะไร

ในทุก ๆ เทอมเราได้เลือกที่จะพัฒนาด้านการคิดวิเคราะห์ (critical thinking) การสร้างความรับผิดชอบ (agency) เพราะอยากให้นักเรียนเริ่มคิดเองเป็น มีเหตุผล ไม่หลงเชื่อใครง่าย ๆ และรับผิดชอบผลการกระทำของตัวเอง ดังนั้นห้องเรียนในทุกคาบ เราจะพูดกับนักเรียนด้วยเหตุผล เลือกวิธีลงโทษที่ยอมรับ จากข้อตกลงที่พวกเขามีส่วนร่วมในการกำหนดกฎของห้อง ในเทอมแรกเริ่มใช้ระบบรางวัล (reward system) สร้างแรงจูงใจให้อยากพัฒนาตัวเอง โดยให้แสตมป์สะสมเมื่อส่งงานตรงเวลา ขอทำแบบฝึกหัดเพิ่ม มาเรียนเพิ่มตอนเย็น ฯลฯ  จัดแข่งขันระหว่างห้องให้คะแนนห้องทุกคาบ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักหน้าที่ของตัวเองในห้องเรียน ชื่นชมจากใจจริงเมื่อทำดี 

ผลตอบรับค่อนข้างดีมาก นักเรียนกระตือรือร้น มีความรับผิดชอบ เห็นคุณค่าในตัวเอง หลายคนพยายามคิดเองแทนที่จะรอลอกเพื่อนหรือนั่งเฉย ๆ ด้วยวิธีการสอนที่กระตุ้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ เน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ได้คิดเองก่อนโดยไม่มีผิดถูก เป้าหมายคืออยากให้นักเรียนฝึกตั้งคำถามและเรียนรู้เองได้ตลอดชีวิต เมื่อปรับพฤติกรรมได้แล้ว ผลการเรียนจึงดีขึ้นตามมา โดยพบว่า จากการทดสอบ นักเรียนมีพัฒนาการในรายวิชาคณิตศาสตร์ดีขึ้นจากเดิม 50.59% เป็น 54.82% โดยเฉลี่ย

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง แต่ต้องใช้เวลาและกำลังคนที่มีความสามารถจำนวนมากเข้ามาร่วมพัฒนา ดังนั้นมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จึงร่วมกับทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้แน่ใจว่า ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะสามารถสร้างผลกระทบต่อการศึกษา ทั้งในห้องเรียน และหลังจบโครงการ 2 ปีได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งครูในโครงการฯ จะต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้น มีศิษย์เก่า 78 คน และครูที่ยังปฎิบัติการสอนในโรงเรียนอยู่ 70 คน กระจายตัวอยู่ใน 54 โรงเรียน ทั้งจาก กทม. สพฐ. และ สช. ในโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล นครสวรรค์ และ กาญจนบุรี โดยได้เข้าถึงนักเรียนมากกว่า 12,600 คน และปัจจุบันมีครู 4 รุ่นและจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในนโยบายที่เกื้อหนุนการขับเคลื่อนสนับสนุนให้การเปลี่ยนแปลง

นี่คือภารกิจที่ท้าทาย แม้ต้องใช้เวลาอีกนาน แต่อย่างน้อยเมื่อได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนจริง ๆ เชื่อมั่นได้ว่า ยังมีเรื่องราวความสำเร็จของนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสอีกมาก จากห้องเรียนของครูทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และมีนักเรียนอีกจำนวนมากที่รอคอยการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับเด็กหญิงชั้น ม.2 ที่เริ่มต้นเรื่องอีกด้วย หรือติดตามการทำงานได้ที่ http://teachforthailand.org/TH/ ก่อนที่เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาเหล่านี้จะสาบสูญไป

 

โดย...

ชมปรางค์ วงศ์รัศมีเดือน 

[email protected]