STEMpathy กับคนยุคใหม่

STEMpathy กับคนยุคใหม่

ในช่วงเวลานี้สำหรับนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในชั้นปีสุดท้าย จะเป็นช่วงของการสอบปลายภาคและการเตรียมตัวเข้าสู่ชีวิตการทำงาน

ซึ่งช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงทดสอบจิตใจและความพร้อมของทั้งบัณฑิตใหม่ (ว่าจะได้งานหรือไม่?) ขององค์กรต่างๆ (ว่าจะมีพนักงานใหม่ที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานหรือไม่?) รวมทั้งของสถาบันการศึกษาต่างๆ (ว่าบัณฑิตของตนเองจะได้งานทำหรือไม่?) อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่หลายๆ ฝ่ายอาจจะไม่ได้ตระหนักก็คือ ในปัจจุบัน งานในระดับแรกเข้า (entry-level jobs) นั้นแตกต่างจากในอดีต ทำให้ทั้งบัณฑิต องค์กรที่รับพนักงาน และสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตควรจะต้องคิดใหม่ และเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

การเปลี่ยนแปลงใน งานแรกเข้าเกิดขึ้นทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ที่ทำให้รูปแบบ กระบวนการ และวิธีการในการทำงานเปลี่ยนไป รวมทั้งเกิดจากคนรุ่น Generation Z ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน และซึ่งคนรุ่น Gen Z เหล่านี้จะมีทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับงานที่แตกต่างจากในอดีต

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดความท้าทายต่อบัณฑิตว่า ตนเองมีความรู้ ทักษะที่จำเป็นและเพียงพอสำหรับการที่จะได้ทำงานในองค์กรดีๆ หรือไม่? หรือ ต่อองค์กรเองว่าได้ออกแบบงานให้น่าดึงดูดใจและท้าทายสำหรับคน Gen Z ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือไม่? หรือ ต่อตัวสถาบันการศึกษาที่หลักสูตรการเรียนการสอนนั้นทำให้สามารถผลิตบัณฑิตที่มีทักษะและความรู้ที่เหมาะกับการทำงานในปัจจุบันหรือไม่?

จากงานศึกษาของ Deloitte ในต่างประเทศพบว่า คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับดิจิทัลเทคโนโลยี จะมีความเป็น Digital Native มากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญสำหรับกลุ่มคนที่เติบโตเหล่านี้ กลับกลายเป็นการขาดทักษะในสิ่งที่เรียกว่า Cognitive social skills ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหา การคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสาร รวมทั้งการทำงานร่วมกับผู้อื่น เทคโนโลยีที่ทำให้คำตอบต่างๆ อยู่ในรูปแบบของโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต ทำให้คนรุ่นใหม่ขาดโอกาสในการฝึกฝนทักษะในการแก้ไขปัญหาและการคิดเชิงวิพากษ์ (เพียงกดมือถือก็สามารถที่จะได้คำตอบต่างๆ ที่ต้องการ) ขณะเดียวกันรูปแบบการสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ก็ทำนำไปสู่ปัญหาเรื่องการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ (คนรุ่นใหม่จะสื่อสารแบบสั้นๆ กระชับ ทำให้เกิดปัญหาการสื่อสารกับคนรุ่นเก่าๆ เนื่องจากการสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์นั้นจะเน้นความสั้นและกระชับ)

เมื่อไม่นานมานี้ เราตื่นเต้นกันเรื่องของการศึกษาที่เน้นในเรื่องของ STEM (Science, Technology, Engineering, Mathemathics) แต่ปัญหาที่พบมากขึ้นกลับกลายเป็นพวก STEM นั้นจะขาดทักษะที่เกี่ยวข้องกับคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นจึงเริ่มมีอีกแนวคิดหนึ่งที่เสริมเข้ามาคือ STEMpathy ที่นอกเหนือจากคนรุ่นใหม่จะต้องมีความรู้ในเรื่องทางด้านเทคนิคแล้ว คนเหล่านี้จะต้องมีความเข้าใจและสามารถที่จะทำงานร่วมกับมนุษย์คนอื่นด้วย โดยคำว่า STEMpathy มาจากคำว่า STEM ผสมกับ Empathy

การที่องค์กรจะสามารถรับพนักงานใหม่ที่มีลักษณะ STEMpathy ได้นั้น กระบวนการและวิธีการในการคัดเลือกก็จะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม มีตัวอย่างของบริษัทซอฟแวร์แห่งหนึ่งที่มองว่าการเขียนโปรแกรมนั้นเป็นทักษะที่สามารถสอนได้ แต่ทักษะที่สำคัญกว่าและยากที่จะสอนคือการทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นแทนที่จะมีวิธีการคัดเลือกด้วยวิธีการปกติ ก็จะให้ผู้สมัครได้จับคู่ทำงานร่วมกัน และสิ่งที่มีการประเมินคือผู้สมัครสามารถทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานและดึงศักยภาพของเพื่อนร่วมงานออกมาได้หรือไม่

สำหรับสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้น การบูรณาการระหว่างฝั่งเทคโนโลยีกับฝั่งมนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น การมุ่งเน้นแต่ STEM เพียงอย่างเดียว จะเป็นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้าน แต่กลับกลายเป็นผู้ที่ไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ได้ รวมทั้งไม่เข้าใจและไม่ได้เห็นความสำคัญของบุคคลอื่น ดังนั้นความท้าทายของสถาบันการศึกษาคือการสร้างบัณฑิตที่มีความรอบด้าน ในรูปแบบของ STEMpathy