หวังให้การศึกษาช่วยยกระดับฐานะ

หวังให้การศึกษาช่วยยกระดับฐานะ

หวังให้การศึกษาช่วยยกระดับฐานะ

ใกล้เปิดเทอมแล้ว ผู้ปกครองทั้งหลายต่างก็รับภาระซื้อข้าวของเครื่องใช้ หนังสือ หนังหา ชุดเครื่องแบบนักเรียนกันวุ่นวาย หลายคนก็หาซื้อได้อย่างสบายๆ ในขณะที่หลายครอบครัวก็มีความเหนื่อยใจในการหาเงินมาจัดการสิ่งเหล่านี้

อย่างไรก็ดี อยากให้กัดฟันหน่อยนะคะ เพราะการลงทุนเรื่องการศึกษาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากๆค่ะ

World Inequality Report 2018 พยายามแสดงข้อมูลที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงให้มากที่สุดเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ พบว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นมากในช่วง 36 ปีที่ผ่านมา ด้วยสาเหตุจาก ความไม่เท่าเทียมเรื่องการศึกษา และระบบภาษีที่มีอัตราก้าวหน้าน้อยลง แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงมากในช่วงทศวรรษที่ 1980 ก็ตาม

จากการสำรวจพบว่า ในบรรดาลูกของคนจนที่มีรายได้ต่ำ มีเพียง 10%เท่านั้นที่มีโอกาสได้รับการศึกษาถึงระดับวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย ในขณะที่หากเป็นลูกของผู้มีรายได้ระดับบน 10% แรกของประเทศ มีโอกาสเข้าเรียนระดับวิทยาลัย/มหาวิทยาลัยถึง 90%

เมื่อเป็นอย่างนี้ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน คนรุ่นใหม่ที่เป็นบุตรหลานของคนรายได้ต่ำ จึงไม่มีโอกาสยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมา

เมื่อแบ่งกลุ่มประชากรเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่างๆกัน 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่ม 50% ด้านล่างที่มีรายได้น้อย กลุ่มรายได้ปานกลาง 40% กลุ่มรายได้สูง 10% บน พบว่า ค่าเฉลี่ยของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น 63% ในช่วง 36 ปี คือในช่วงปี ค.ศ.1980 ถึง 2016  

เมื่อแบ่งกลุ่มจะพบว่า กลุ่ม 50% ล่าง มีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 5% กลุ่ม 40%กลาง มีรายได้เพิ่มขึ้น 44% ในขณะที่กลุ่ม 10% บน มีรายได้เพิ่มขึ้น 123% และเมื่อส่องลึกลงไปจะเห็นว่า กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 0.001% แรก หรือประมาณ 3,000 คนที่มีรายได้สูงที่สุดของประเทศนั้น มีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตรา 629% ในช่วง 36 ปี

สำหรับส่วนแบ่งรายได้ของคนรวยที่สุด 1% แรกของสหรัฐอเมริกา ได้เพิ่มจาก 22% ในปี 1980 เป็น 39% ในปี 2014

สรุปง่ายๆ คือ คนจนจนลง คนรวยรวยขึ้น

นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ออกนโยบายมาถูกใจผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางของสหรัฐ จนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อสองปีก่อนค่ะ

ขณะที่ข้ามมาอีกฝากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก กลุ่มประเทศยุโรปที่พัฒนาแล้ว มีความเหลื่อมล้ำลดลง ทางผู้วิเคราะห์สรุปว่า โดยมีสาเหตุจากการที่ อัตราภาษีก้าวหน้าใช้ได้ผล และค่าจ้างมีความไม่เท่าเทียมกันน้อยลง ซึ่งเป็นผลจากการที่ประชากรมีการศึกษาเพิ่มขึ้น และนโยบายค่าแรง จากการปรับนโยบายต่างๆของรัฐที่เอื้อต่อคนรายได้น้อยและปานกลาง

สำหรับประเทศกำลังพัฒนานั้น มองในภาพรวม เศรษฐกิจที่มีการเติบโตรวดเร็ว ทำให้ความมั่งคั่งของประเทศเพิ่มขึ้น และชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น มีระดับมหาเศรษฐีไปเทียบชั้นกับโลกตะวันตกมากขึ้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศลดลง แต่ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศมีมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่จีนและรัสเซีย เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากคอมมิวนิสต์มาเป็นทุนนิยม

แม้ว่าคนจนของประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ จะมีรายได้ดีขึ้น แต่ความมั่งคั่งไม่ได้กระจายไปสู่ทุกคน จากการศึกษาพบว่า คนรวยที่สุด 1% แรกของจีน มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นจาก 15% ในปี 1995 เป็น 30%ในปี 2015 และคนรวยที่สุด 1% แรกของรัสเซีย มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 1995 เป็น 43%ในปี 2015

เมื่อแบ่งกลุ่มจะพบว่าในประเทศจีน กลุ่ม 50% ล่าง มีรายได้เพิ่มขึ้น 417% กลุ่ม 40%กลาง มีรายได้เพิ่มขึ้น 785% ในขณะที่กลุ่ม 10% บน มีรายได้เพิ่มขึ้น 1,316% และเมื่อส่องลึกลงไปจะเห็นว่า กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 0.001% แรก หรือประมาณ 13,000 คนที่มีรายได้สูงที่สุดของประเทศนั้น มีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึง 3,752% ในช่วง 36 ปี

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทำได้ไม่ง่าย ต้องอาศัยทรัพยากรมหาศาล และต้องทำเป็นเวลาต่อเนื่องนานพอสมควรจึงจะเห็นผล  ดิฉันคิดว่า หากเป็นไปตามธรรมชาติ ต้องใช้เวลาข้ามรุ่นค่ะ คือประมาณ 30 ปี เพื่อให้รุ่นลูกที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้น สามารถทำงานและยกระดับฐานะโดยรวมของครอบครัวได้

ผู้จัดทำรายงานทิ้งท้ายไว้ว่า โดยปกติ รัฐจะเป็นผู้กำกับเศรษฐกิจ เป็นผู้จัดสรรทรัพยากร แต่สถานการณ์ของภาครัฐในประเทศพัฒนาแล้วกลับย่ำแย่ เพราะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980เป็นต้นมา ในทุกประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศที่รวยหรือจน ความมั่งคั่งได้ย้ายจากภาครัฐไปอยู่ภาคเอกชน และในประเทศร่ำรวย ความมั่งคั่งของรัฐ  ล้วนแล้วแต่ติดลบหรือใกล้เคียงกับ 0 ทั้งสิ้น จึงมีความสามารถในการกำกับเศรษฐกิจ หรือจัดสรรทรัพยากร ด้วยการกระจายรายได้น้อยลง จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก ในการจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชากรในประเทศ

เขาเสนอว่าทุกประเทศต้องทำให้โอกาสในการศึกษาโปร่งใส พิสูจน์ได้ เปลี่ยนระบบการรับสมัครและการอุดหนุนการศึกษาให้มีการเข้าถึงได้มากขึ้น

ดิฉันขอเพิ่มว่า ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ภาครัฐก็ต้องรักษาฐานะการเงินการคลังของประเทศให้ดี กำหนดนโยบายจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการเข้าไปแทรกแซงในบางกรณี ภาคเอกชนก็ควรมีใจเปิดกว้าง ช่วยเหลือ ให้โอกาส ให้ทรัพยากรที่จะช่วยลดช่องว่างนี้ค่ะ