ความเขลาประดิษฐ์

ความเขลาประดิษฐ์

วันนี้คำว่า ปัญญาประดิษฐ์ เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ปัญญาที่มนุษย์ประดิษฐ์ให้กับเครื่องจักรต่างๆ

ทำให้หลายเรื่องในชีวิตเราง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เราประดิษฐ์ปัญญาให้เตารีดจนเราไม่ต้องคอยปรับความร้อน ปรับไอน้ำตามชนิดของเสื้อผ้าที่จะรีด เตารีดที่ได้รับการประดิษฐ์ปัญญาขึ้นมาสามารถจัดการปรับความร้อน ปรับไอน้ำแทนเราได้ทั้งหมด ในทางตรงข้ามกับการที่เราประดิษฐ์ปัญญาให้กับเครื่องจักร กลับพบได้เสมอว่าเราประดิษฐ์ความเขลาให้กับตนเอง คนฉลาดแกล้งโง่มีตัวอย่างให้เห็นอยู่เสมอ คนเราฉลาดก็ดีอยู่แล้ว แต่เรากลับประดิษฐ์ความเขลาให้เกิดขึ้นกับผู้คนที่ชาญฉลาด ทำไมเราแกล้งไม่ฉลาดในบางครั้ง บางโอกาส

เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มไม่อยากทราบความจริงแท้ที่เกิดขึ้น เราจะประดิษฐ์ความเขลาขึ้นมาด้วยการลำเอียงเลือกรับรู้เฉพาะเรื่องที่เราอยากให้เป็น ความจริงคือเศรษฐกิจย่ำแย่ แต่เราไม่อยากรับรู้ความย่ำแย่ของเศรษฐกิจ เพราะรับรู้แล้วอาจต้องทุ่มเททำงานหนักขึ้น เราจึงสร้างความเขลาขึ้นมาป้องกันไม่ให้เราฉลาดพอจะเข้าใจตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็น เมื่อบังคับให้ตนเองฉลาดน้อยลง ตัวเลขที่บ่งบอกความเป็นจริงต่างๆ ก็เข้าหูซ้ายทะลุออกหูขวาไปเลย ไม่แวะมาที่สมองแต่อย่างใด แกล้งเขลาเพื่อให้ไม่ต้องเข้าใจความจริงที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ผู้บริหารที่ต้องการปกปิดหรือบิดเบือนความจริง มักจะประดิษฐ์ความเขลาขึ้นมาโดยทำเป็นไม่เข้าใจ ทำเป็นไม่รู้ความรู้พื้นฐานต่างๆ ในเรื่องที่ตนอยากปกปิดบิดเบือน จะได้ป่าวประกาศเรื่องไม่จริงได้อย่างมั่นอกมั่นใจ ถ้าไม่ประดิษฐ์ความเขลาขึ้นมาจนไม่รู้เรื่องพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่อยากปกปิดบิดเบือน จะป่าวประกาศอะไรที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงย่อมทำได้ไม่แนบเนียน

แม้ว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ชอบรับรู้เรื่องราวที่ซับซ้อน ชอบใช้ปัญญาคิดวิเคราะห์จนรู้เรื่องว่าอะไรเป็นอย่างไร แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากรับรู้เรื่องที่ซับซ้อน แต่ไม่ชอบคิด คนกลุ่มที่อยากรู้แต่ไม่อยากคิด จึงแสวงหาทางลัดด้วยการลดทอนปัญญาในการตั้งคำถาม บอกอะไรมาก็เชื่อไปหมด คนกลุ่มนี้ประดิษฐ์ความเขลามาขัดขวางการตั้งคำถาม เมื่อถามไม่เป็น เรื่องยากๆ ที่ซับซ้อนจะกลายเป็นเรื่องง่ายทั้งหมด บอกอะไรมาก็เชื่อตามนั้น ซึ่งนำมาสู่ความสบายใจจากการหลอกตนเองว่าได้รู้เรื่องที่ซับซ้อนนั้นแล้ว เราประดิษฐ์ความเขลาขึ้นมาเพื่อให้สงสัยน้อยลง จะได้ยอมรับรู้แบบผิดๆ เพราะเบื่อที่จะคิดเรื่องยากๆ นั้นแล้ว

เราไม่ค่อยพบเห็นปราชญ์ที่เก่งจริงๆ มาพูดถึงการแก้ปัญหาใหญ่ๆ เรื่องนั้นเรื่องนี้ตามสื่อมวลชนต่างๆ แต่เรามักได้เห็นคนที่คิดว่าตนเองเป็นปราชญ์มาพร่ำพูดถึงทางแก้ปัญหาที่ซับซ้อน โดยวิธีการที่ง่ายแสนง่าย ซึ่งถ้าบังเอิญตรงใจที่เราอยากได้ทางออกเรื่องนั้น วิธีที่เสนอโดยคนที่นึกว่าตนเองเป็นปราชญ์จะเข้าหูเรามากกว่าวิธีการแก้ปัญหาที่ทำได้จริงแต่มีขั้นตอนที่ซับซ้อน เด็กนักเรียนที่เบื่อที่จะคิด จะสร้างความเขลาในการตั้งคำถาม แล้วพากันไปโรงเรียนกวดวิชา เพื่อหาวิธีการง่ายๆ ในการสอบวิชาที่เนื้อหาสาระซับซ้อน โดยปราศจากข้อกังขาใดๆ กับวิธีการที่ง่ายเกินจริงที่รับรู้มา ปราชญ์ตัวจริงรู้เยอะรู้จริงไม่เป็นที่น่าสนใจในหมู่ผู้คน ปราชญ์ตัวปลอมกลับเป็นที่น่าเชื่อถือมากกว่า เพราะตัวปลอมพูดเรื่องง่ายที่ไม่จริง ตัวจริงพูดเรื่องจริงที่ไม่ง่าย

ถ้าใครก็ตามที่อยากให้คนอื่นเห็นความสำคัญของตนเอง หนทางหนึ่งคือการใช้กำลังข่มขู่ ซึ่งดูไม่ค่อยเหมือนหนทางของสังคมที่เจริญแล้วเท่าใดนัก หนทางที่ดูดีกว่าการใช้กำลังคือสร้างความเขลาให้เกิดขึ้นกับคนอื่น คนสอนที่ต้องการให้คนเรียนเห็นความสำคัญของตนเองจะไม่สร้างความฉลาดให้กับคนเรียน เพราะคนเรียนที่ฉลาดจะคิดได้เอง ไม่ต้องพึ่งพาคนสอน ความสำคัญของคนสอนจึงลดลง แต่ถ้าสอนให้คนเรียนไม่ฉลาด คนสอนจะเป็นที่พึ่งพาของคนเรียนตลอดชาติ ผู้บริหารที่อยากให้พนักงานเห็นว่าตนเองเก่งกาจ มี 2 ทางที่อยู่คนละด้าน ทางหนึ่งคือแสดงฝีมือของตนให้เป็นที่ประจักษ์ อีกทางหนึ่งคือออกกฎระเบียบที่ทำให้เกิดความเขลากับพนักงานผู้ปฏิบัติ คือระเบียบหรือหนทางทำงานที่คนปกติทั่วไปไม่สามารถรู้เรื่องว่าจะทำอย่างไรต่อไป ทุกอย่างที่จะทำจึงต้องอาศัยปัญญาของท่านผู้นำแต่เพียงผู้เดียว ถ้าเป็นเช่นนี้แปลว่าที่นั่นได้ผู้บริหารที่เชี่ยวชาญด้านความเขลาประดิษฐ์ ที่จะประดิษฐ์ความเขลาให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนตลอดไป