“8 ล้านเสียง” ตัวแปรการเมือง?

“8 ล้านเสียง” ตัวแปรการเมือง?

ครม.สัญจร ที่กำลังถูกจับจ้องเรื่องสำรวจพื้นที่ “ดูด” ของพรรคทหาร หลังจบทริปสุรินทร์-บุรีรัมย์ ถิ่นเนวิน-อนุทิน แห่งภูมิใจไทย

 เป้าหมายต่อไปพื้นท่ี่สระแก้ว ฐานที่มั่นของ เสนาะ เทียนทอง เจ้าพ่อวังน้ำเย็น 

เช็คกระแสนักเลือกตั้ง มีทั้งสองด้าน ฟากหนึ่งบอกว่า ไม่สะทกสะท้าน เพราะการเมืองยังต้องดูกันยาวๆ 

ขณะที่อีกฟาก ยอมรับว่ามีกลุ่ม หวั่นไหว” เพราะตอนนี้ในพรรค ไม่มีใครดูแลใครถ้ายังไม่ถึงฤดูเลือกตั้ง 

ยามนี้ หากมีใครยื่นข้อเสนอชวนหวั่นไหว ก็มีนักเลือกตั้งพร้อม พิจารณาเป็นทางเลือกและทางรอด

ว่ากันว่า พื้นที่เสี่ยง คือ โซนภาคกลาง ที่กระแสพรรคภาคนิยม ต่างจากถิ่นอื่น เพราะใครจะย้ายก็ไม่กลัวกระแส

สำคัญกว่า คือ เอาตัวรอดเข้าไปให้ถึงสภาฯให้ได้ก็พอ เพราะกติกาใหม่สมัยหน้า นักธุรกิจการเมือง คงทำมาหากินพ่วงคงยาก จะใช้แผนเสนอโครงการ 20-30 ล้าน เอางบจังหวัดไปลงพื้นที่ก็ไม่ได้

จะว่าไปแล้ว ถ้ามองเชิงยุทธศาสตร์การเมือง บรรดานักเลือกตั้งก็ลุ้น “ตัวแปรการเมืองรอบนี้ นั่นคือ "โหวตเตอร์ใหม่ 7-8 ล้านคนที่จะเปิดซิงในสนามเลือกตั้งครั้งแรก 

เพราะ 7-8 ล้านเสียงของกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่เข้าถึงเทคโนโลยี และอาจมีส่วนโน้มน้าวคนในครอบครัวตัวเองได้ อย่างมากก็อาจจะได้ถึงครึ่งๆ 

ถ้า 21 ล้านเสียงของโหวตเตอร์เดิม ถูก 7-8 ล้านชี้นำได้บางส่วน หรือถึงครึ่งก็ถือว่าไม่ธรรมดา และอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ 

สนามทดสอบ โหวตเตอร์ใหม่นี้ คือ สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่จะเป็นสนามชี้วัดการเมืองภาพใหญ่ของประเทศ เป็นตัวจุดกระแสได้ 

อย่างน้อยถ้าเสียง 2-3 ล้านโหวตเตอร์ใหม่ออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก็จะพอจับทิศการเมืองสนามใหญ่ได้

เพราะกลุ่มนี้ อยู่ในช่วง ม.44 ไม่ได้มีอิสระในทางการเมือง อย่างน้อยรัฐบาล คสช.ก็จะได้รู้ว่า คนรุ่นนี้ยอมรับการบริหารแบบทุกวันนี้ได้ไหม 

ผลที่ออกมา อาจทำให้ คสช.ได้พิสูจน์ตัวเอง หรือต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าพลาดตรงไหน 

อยู่มา 4 ปี ทั้งที่ ทักษิณไม่อยู่  ยิ่งลักษณ์ก็เผ่น อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่ารัฐบาลนี้ มีดีกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาหรือไม่