จะเกิดอะไรในสงครามเย็นครั้งที่ 2

จะเกิดอะไรในสงครามเย็นครั้งที่ 2

เนื่องจากโลกมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เอื้อให้สื่อพาดหัวข่าวได้ไม่ขาด การรื้อฟื้นกองทัพเรือที่ 2 ของสหรัฐขึ้นมาอีกครั้ง

 หลังยุบเลิกไป 7 ปีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงไม่มีสื่อใดสนใจนำเสนอเป็นข่าวสำคัญ กองทัพเรือที่ 2 มีกองบัญชาการอยู่บนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ห่างจากกรุงวอชิงตันราว 300 กิโลเมตร สหรัฐมองว่าสถานการณ์โลกได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลา 7 ปี โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับรัสเซียในหลายภาคพื้นของโลก กองทัพเรือนั้นถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ปกป้องชายฝั่งทางตะวันออกของประเทศ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ โลกตกอยู่ในสภาพแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย ระหว่างฝ่ายที่ไม่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์ นำโดยสหรัฐ กับฝ่ายที่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์ นำโดยสหภาพโซเวียต การแข่งขันกันนี้บางทีก็เรียกว่าสงครามเย็น เพราะหัวหน้าของ 2 ฝ่ายมิได้เปิดหน้าฆ่ากันโดยตรง หากใช้สงครามตัวแทนในประเทศต่างๆ รวมทั้งในเกาหลีและเวียดนาม พร้อมกับทำสงครามช่วงชิงความนิยม หลังสู้รบกันอยู่ 45 ปี ฝ่ายคอมมิวนิสต์พ่ายแพ้ สหภาพโซเวียตแตกเป็น 14 เสี่ยง โดยมีรัสเซียรับมรดกตกทอดทางการทหารและทางเทคโนโลยีจากสหภาพโซเวียต ตอนนั้นรัสเซียไม่สามารถปะทะกับสหรัฐได้ เพราะเศรษฐกิจตกอยู่ในสภาพอ่อนเปลี้ย

การพ่ายแพ้ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ส่งผลให้นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจบางคนมองว่า โลกจะไม่มีสงครามอันเกิดจากความแตกต่างทางแนวคิด หรือคตินิยมอีกต่อไป ผู้นำของมุมมองนี้ได้แก่ ฟรานซิส ฟูกุยามา ผู้เขียนหนังสือชื่อ The End of History and the Last Man ในขณะเดียวกันอาจารย์ของเขาชื่อ แซมมวล ฮันติงตัน เห็นต่างอย่างแรง เพราะมองว่าสงครามจะมีต่อไป แต่จะเป็นในรูปของความขัดแย้งรุนแรงจนเป็นสงครามระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งทางศาสนา เช่น อิสลามและคริสต์ เขาเสนอแนวคิดไว้ในหนังสือชื่อ The Clash of Civilizations and the Remaking of the World Order (มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ www.bannareader.com)

สถานการณ์โลกในช่วงหลังสงครามเย็นยุติบ่งชี้ว่าฮันติงตันน่าจะถูก เพราะโลกกลับมาตกอยู่ในสภาพขัดแย้งและแข่งขันกันอย่างเข้มข้น จนเป็นสงครามในหลายรูปแบบเสมือนกับเป็นการทำสงครามเย็นกันอีกครั้งระหว่างมหาอำนาจ เนื่องจากเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการแข่งขัน ฉะนั้นมหาอำนาจจึงทุ่มเทค้นคว้าหาเทคโนโลยีใหม่ๆ และนำมาใช้แบบไม่หยุดหย่อน ก่อนการยกเลิกกองทัพเรือที่ 2 ไม่นาน สหรัฐปรับเปลี่ยนภาระงานของกองทัพเรือที่ 10 ให้เป็นศูนย์การทำสงครามไซเบอร์ อันมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหัวจักร ณ วันนี้มหาอำนาจต่างมีกองกำลังไซเบอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งชิงไหวชิงพริบกันอย่างเข้มข้น จนอาวุธไซเบอร์กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำสงครามเย็นครั้งที่ 2

อาวุธไซเบอร์ที่มหาอำนาจใช้คงมีหลายอย่างซึ่งบุคคลทั่วไปไม่สามารถหยั่งรู้ได้ จากรายงานต่างๆ ที่ออกมาทางสื่อ สิ่งหนึ่งซึ่งสหรัฐกังวลมากที่สุดได้แก่ การถูกโจมตีด้วยระบบรหัสดิจิทัลที่ประกอบกันเป็นเชื้อไวรัส ส่งไปเข้าคอมพิวเตอร์ควบคุมระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าและการสื่อสาร ทั้งนี้เพราะในยุคนี้โลกส่วนใหญ่อยู่ยากหากขาดไฟฟ้าและการสื่อสารระบบดิจิทัล ความกังวลนั้นอาจอ่านได้ว่าสหรัฐเองมีอาวุธชนิดนี้พร้อมใช้โจมตีประเทศอื่นแล้วแน่นอน (สื่อบางสำนักเคยรายงานว่าสหรัฐโจมตีโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของอิหร่านจนใช้การไม่ได้ด้วยอาวุธไซเบอร์)

ในระหว่างสงครามเย็นครั้งที่ 1 ไทยส่งทหารไปร่วมในสงครามตัวแทน ทั้งที่เกาหลีและที่เวียดนามซึ่งเป็นสนามรบใหญ่ เมืองไทยเป็นสนามรบเช่นกัน แต่เป็นในด้านแข่งกันสร้างความนิยมของมหาอำนาจ ในสงครามเย็นครั้งที่ 2 จากมุมมองของอาวุธที่ใช้ สนามรบอาจขยายออกไปอย่างรวดเร็ว โดยผู้ถูกโจมตีไม่มีโอกาสรู้ตัวว่าตนมีศัตรูมาก่อน หรือไม่ตระหนักด้วยซ้ำว่าถูกโจมตีหากศัตรูใช้อาวุธไซเบอร์ ส่วนการแข่งขันด้านสร้างความนิยมนั้น มหาอำนาจยังทำกันอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบของอาวุธไซเบอร์จะเป็นอย่างไร อาจเห็นได้จากความโกลาหลเมื่อสนามบินอุบลฯ ขาดไฟฟ้าเมื่อสัปดาห์ก่อนเพียงชั่วคราว จะเกิดอะไรเมื่อไม่มีไฟฟ้าทำอาหารและการสื่อสารดิจิทัลถูกตัดขาดทั่วเมืองไทยเป็นเวลานาน เราจะอดข้าวกันไหมและจะติดต่อกันอย่างไรในสภาพเช่นนั้น เตรียมตัวกันไว้บ้างหรือยัง?