เลิกสอบเข้าอนุบาล ก้าวแรกของการเดินทางไกล

เลิกสอบเข้าอนุบาล ก้าวแรกของการเดินทางไกล

มติของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งกำหนดให้เด็กอายุ 3-8 ปีบริบูรณ์

สามารถเข้าเรียนได้โดยไม่ต้องสอบคัดเลือกในแบบที่เคยทำกันมา แต่ให้ประเมินสมรรถนะของเด็กแทน ถือเป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา เห็นได้จากเสียงตอบรับที่ดีจากสังคม โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก เพราะอย่างน้อยก็เบาใจไปอีกเปลาะหนึ่งว่า เด็กเล็กไม่ต้องมาแบกรับความกดดันในการต้องเรียนเกินตัว เพื่อทำคะแนนให้สูงพอจะเรียนต่อได้

ข่าวดีนี้ถือเป็นก้าวแรกของการเดินทางไกล ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องคิดกันต่อ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

เรื่องแรก การหาเกณฑ์การประเมินสมรรถนะที่เป็นกลาง มีวิธีการน่าเชื่อถือ คนออกแบบการประเมินต้องมีความเข้าใจหลักการประเมินสมรรถนะมากพอ สามารถประเมินตัวเด็กตามระดับการพัฒนาการที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน เพราะหากคนประเมินไม่ได้เชี่ยวชาญจริง สุดท้ายก็จะกลายเป็นการประเมินเด็กตาม เกณฑ์” เดียวกันที่กำหนดขึ้นอยู่ดี

เมื่อใดที่ใช้เกณฑ์เดียวกันกับเด็กทุกคน ถึงแม้เด็กจะไม่ต้องเข้าไปนั่งสอบแต่เนื้อแท้ก็เป็นการคัดเลือกแบบเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากการนั่งสอบเป็นการใช้ธงอื่นมาประเมินก็เท่านั้นเอง สมรรถนะที่ได้จากการประเมินแบบนี้ จะกลายเป็นสมรรถนะปลอม ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่นสมมติว่าโรงเรียนที่ผู้ปกครองหมายตาไว้ประเมินเด็กจากความสามารถในการร้องเพลงลูกทุ่ง เด็กก็จะโดนเคี่ยวเข็ญให้หัดร้องเพลงลูกทุ่ง แม้ว่าตัวเองอาจจะไม่ได้ชอบร้องเพลงเลย ถ้าเป็นแบบนี้ก็แค่เปลี่ยนวิธีท่องจำ ไม่ได้ต่างไปจากเดิม ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดพัฒนาการของเด็กอย่างแท้จริง

เรื่องที่ 2 การประเมินด้วยสมรรถนะไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำของโอกาส ผู้ปกครองที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า ย่อมสามารถส่งลูกไปเสริมสมรรถนะในโรงเรียนเสริมสมรรถนะที่แปลงร่างมาจากโรงเรียนกวดวิชาได้ ดังนั้น เมื่อต้องลงสู่สนามประเมิน โดยเฉพาะการประเมินสมรรถนะเพื่อเข้าสู่โรงเรียนที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีการแข่งขันกันสูง เกณฑ์ด้านสมรรถนะก็ย่อมมีความเข้มข้นมากขึ้นไปด้วย เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีกว่าก็ยังมีความได้เปรียบอยู่เช่นเดิม

เรื่องที่ 3 ถึงจะไม่ต้องสอบเข้าอนุบาลกับประถม แต่พอเข้ามัธยมก็ยังต้องแข่งกันสอบเข้าอยู่ดี โดยธรรมชาติแล้วผู้ปกครองทุกคนย่อมหวังดีกับลูกหลานของตัวเอง มีการวางแผนไว้แล้วว่าเด็กจะต้องไปเรียนระดับมัธยมที่ไหน หรืออย่างน้อยก็มีรายชื่อโรงเรียนใจในอยู่คร่าวๆ หากโรงเรียนเหล่านี้มีการแข่งขันกันสูง ก็หมายความว่าเด็กต้องเตรียมตัวสอบเข้าแต่เนิ่นๆ ดังนั้นเมื่อเริ่มชีวิตในระดับประถม เด็กก็ต้องเรียนกวดวิชาเพื่อเตรียมเรียนต่อในระดับมัธยมอยู่ดี เพราะการแข่งขันกันสอบเข้าแบบเดิม ใครเริ่มเตรียมตัวก่อนย่อมได้เปรียบเมื่อเป็นแบบนี้เด็กก็หนีไม่พ้นต้องเรียนเสริมกันหนักเหมือนเดิม

เรื่องที่ 4 การจ่ายเงินใต้โต๊ะอาจมากขึ้นกว่าเดิม การใช้เกณฑ์ที่กำหนดขึ้นและประเมินโดยกรรมการ ย่อมเปิดโอกาสให้มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้ลูกหลานของตนเองมีผลงาน เข้าตากรรมการ โดยเฉพาะโรงเรียนที่คณะผู้บริหารไม่ได้มีธรรมภิบาลสูงพอ การจ่ายเงินเพื่อเพิ่มโอกาสนี้อาจจะมีมากกว่ากรณีที่ใช้เกณฑ์ประเมินจากผลคะแนนสอบที่มีข้อถูกข้อผิดชัดเจน สามารถตรวจสอบกันได้

ในทางทฤษฎีแล้ว ความท้าทายทั้ง 4 เรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำให้คุณภาพของโรงเรียนมีความเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติเรื่องนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย เพราะคุณภาพของโรงเรียนขึ้นอยู่กับคุณภาพของครู คุณภาพของผู้บริหาร คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพของวัฒนธรรมองค์กร คุณภาพของชุมชน และคุณภาพของนักเรียนเองด้วย ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็มีระดับคุณภาพเหล่านี้แตกต่างกันไป

ดังนั้นต่อให้วันนี้เราล้างไพ่ด้วยการเอารายชื่อครูและผู้บริหารโรงเรียนทุกแห่งมากองรวมกัน แล้วสุ่มเลือกว่าครูและผู้บริหารแต่ละคนจะไปอยู่ที่โรงเรียนไหน แล้วจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับทุกโรงเรียน สุดท้ายแล้วคุณภาพของโรงเรียนก็ยังแตกต่างกันอยู่ดี

นี่ไม่ได้หมายความว่าเราหมดหวังแล้ว บทเรียนจากหลายประเทศได้ข้อสรุปไปในแนวทางเดียวกันว่า การปฏิรูปการศึกษาไม่ได้มีแค่การปฏิรูปวิธีการประเมินผลนักเรียน หรือวิธีการเรียนการสอน แต่ต้องเป็นการปฏิรูปกันตั้งแต่ระดับทัศนคติ เพื่อให้ทุกคนในสังคมเห็นตรงกันว่าหัวใจสำคัญของการศึกษาไม่ใช่การได้คะแนนดี หรือสอบเข้าโรงเรียนชื่อดัง การศึกษาคือการเดินทางไปสู่การค้นพบตนเอง ซึ่งเด็กแต่ละคนอาจเดินเส้นทางที่แตกต่างกันได้ และโรงเรียนเป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา ครอบครัว ชุมชน และสังคมไทยในภาพรวมก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะถึงคุณภาพของโรงเรียนเท่ากันหมด แต่ถ้าผู้ปกครองไม่ได้ใส่ใจอบรมสั่งสอน รายการโทรทัศน์มีแต่ละครที่ใช้ความรุนแรง รอบตัวเด็กมีแต่บรรยากาศของการแข่งขัน ต่อให้ออกกฎหมายออกมาใหม่อีกกี่ฉบับ สุดท้ายเด็กก็กลายเป็นเหยื่ออยู่ดี