รถไฟญี่ปุ่น เส้นเลือดของประเทศ

รถไฟญี่ปุ่น เส้นเลือดของประเทศ

เป็นที่น่ายินดีว่า รถไฟไทย ได้รับการให้ความสำคัญอีกครั้งนะครับ จากนโยบายรัฐบาล 4.0 และคาดหวังให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

เพื่อการพัฒนาประเทศ หลังจากถูกละเลยไม่ได้มีการพัฒนามานาน ตามที่เรารับรู้กันอยู่แล้ว

ผมพึ่งได้มีโอกาสไปญี่ปุ่นอีกครั้ง หลังจากกลับมาจากการใช้ชีวิตหลายปีที่นั่น แล้วพบว่ามีแง่มุมเกี่ยวกับรถไฟญี่ปุ่น ที่น่าจะได้เรียนรู้และนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

เมื่อพูดถึงรถไฟระดับโลกแล้ว แน่นอนว่าชื่อของรถไฟญี่ปุ่นมาในระดับต้นๆ ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างความสะอาดของตัวรถไฟและสถานีรถไฟ สิ่งอำนวยความสะดวกในห้องโดยสาร จนถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ความตรงต่อเวลาชนิดที่ไม่ยอมให้เพี้ยนแม้แต่นาทีเดียว

อีกเรื่องที่ขึ้นชื่อคือรถไฟความเร็วสูง ที่เรียกกันว่า รถไฟหัวกระสุน (Bullet Train) ซึ่งผ่านเส้นทางเมืองหลักๆ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ควบคู่ไปกับรถไฟสายอื่นๆ ทั้งที่เป็นรถไฟระหว่างเมือง รถไฟท้องถิ่นบนดิน และรถไฟใต้ดินที่วิ่งอยู่ในเมืองใหญ่ๆ จากนั้นก็เชื่อมต่อกับการเดินทางอื่นคือ รถเมล์ แท็กซี่ จักรยาน กลายเป็นโครงข่ายการสัญจรทั่วประเทศ ราวกับเส้นเลือดในร่างกายคน

ตอนผมทำงานที่โตเกียว ถ้าไม่นับเบอร์หนึ่งขององค์กรที่มีรถประจำตำแหน่งแล้ว ทุกคนที่เหลือไม่มีใครขับรถมาทำงานเลย เดินทางด้วยรถไฟกันทั้งหมด เพื่อนร่วมงานชายอายุราว 40 คนหนึ่งเคยบอกผมว่า ไม่มีความคิดจะซื้อรถในหัวเลย ทั้งๆ ที่แน่นอนว่าเขามีกำลังซื้ออยู่แล้ว น่าแปลกใจไหมครับ?

ผมถามว่าไม่อยากมีรถเพื่อเอาไว้ขับไปเที่ยวในวันหยุดหรือ คำตอบของเขาคือ ไม่จำเป็นเลย นั่งรถไฟก็สะดวกดีอยู่แล้ว แล้วถ้าสถานที่ที่จะไปห่างจากสถานีรถไฟ ก็แค่นั่งรถไฟไป แล้วเช่ารถขับหรือเรียกแท็กซี่จากที่สถานีเท่านั้นเอง

ผมก็ถามต่อว่าแล้วในภาวะฉุกเฉินล่ะ เช่นถ้าลูกไม่สบายตอนกลางคืนทำอย่างไร คำตอบคือโทรศัพท์แป๊บเดียวรถแท็กซี่ก็มารับที่หน้าบ้านแล้ว แล้วปัญหาของการมีรถเองคือ ต้องวุ่นวายหาที่จอดรถ และแพงมากด้วย (ในเมืองโตเกียววันทำงาน ค่าจอดรถคือประมาณ 100 เยนต่อ 10 นาที)

บทสนทนานี้ทำให้ผมเรียนรู้ว่าการจะแก้ปัญหาจราจรนั้น ขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพคือคำตอบสำคัญ เมืองใหญ่อย่างโตเกียวที่มีคนเป็นหลายๆ ล้านคน เดินทางกันในแต่ละวัน แต่รถไม่ติด เพราะคนใช้รถไฟเป็นหลัก

นอกจากเรื่องทางด้านเทคโนโลยีที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากรถไฟญี่ปุ่นแล้ว ผมคิดว่ายังมี แง่มุมทางด้านการจัดการ หลายๆ อย่างที่น่าสนใจด้วยครับ

ความท้าทายอย่างมากประการหนึ่งต่อการจัดการเดินรถไฟในชั่วโมงเร่งด่วนคือ ทำอย่างไรให้รถไฟที่เข้าสถานีปลายทางแล้ว สามารถพร้อมเดินทางต่อได้เร็วที่สุด เพื่อให้รองรับปริมาณผู้โดยสารได้มากที่สุด ด้วยจำนวนรถที่มีอยู่จำกัด

เมื่อรถไฟหัวกระสุนเข้าจอดที่ชานชาลาสถานีโตเกียวแล้ว งานที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะต้องทำคือการทำความสะอาด ทิ้งขยะ หมุนที่นั่งกลับทิศทาง เช็คความเรียบร้อยในตู้โดยสาร เพื่อความพร้อมสำหรับการเดินรถในรอบต่อไป

งานทั้งหมดนี้ต้องทำให้เสร็จเพื่อให้รถสามารถเดินทางต่อไปได้ภายในมาตรฐานเวลา 7 นาที ถ้าสนใจลองเข้าไปดู Video Clip ที่ใช้ชื่อว่า Miracle of 7 Minutes* หรือ 7 นาทีมหัศจรรย์ ที่ได้อธิบายปฏิบัติการนี้ครับ

ความจริงแนวคิดการจัดการเช่นนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกหลายเรื่อง หัวใจสำคัญคือการเตรียมความพร้อมก่อนรถเข้าเทียบชานชาลา พนักงานทุกคนต้องได้รับการอบรมและฝึกฝนมาอย่างดี อุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็น ต้องพร้อมใช้งานและสามารถหยิบใช้ได้อย่างสะดวก

เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในภาวะชะงักงัน แทบไม่เติบโตมามากกว่า 20 ปีแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นทราบดีว่าธรรมชาติ วัฒนธรรม และเทคโนโลยีของประเทศเป็นจุดขายให้กับนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อย การส่งเสริมการท่องเที่ยวจึงกลายเป็นนโยบายสำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ผมคาดว่าการบ้านของรถไฟญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนนโยบายนี้คือ สร้างความเป็นมิตรกับผู้ใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น ความเปลี่ยนแปลงล่าสุดหนึ่งที่ผมพบคือ การปรับปรุงป้ายบอกทางต่างๆ ประจำสถานี ทั้งในเรื่องของจำนวนป้ายที่มีมากขึ้น ขนาดป้ายและตัวหนังสือใหญ่โตขึ้น

ก่อนหน้านี้ที่สถานีจะมีแต่ชื่อภาษาญี่ปุ่น ที่สะกดด้วยภาษาอังกฤษเท่านั้น คนต่างชาติที่ไม่คุ้นชินกับภาษาญี่ปุ่น ก็อ่านออกเสียงลำบาก ป้ายสถานีในปัจจุบันได้เพิ่มระบบหมายเลขควบคู่ไปกับชื่อสถานีด้วย เช่น สถานีชินจูกุคือ JY17 ทำให้สามารถเรียกชื่อสถานีได้ง่ายๆ ด้วยตัวอักษรและหมายเลขแทน

คุณผู้อ่านเคยต้องถามทางไปห้องน้ำในสถานที่สาธารณะบ้างไหมครับ ถ้ามาคิดกันว่าทำไมต้องถามด้วย คำตอบคือ เพราะป้ายบอกทางมีไม่มากพอ หรือที่มีอยู่ก็ไม่ชัดเจนพอ เล็กเกินไป ที่สถานีรถไฟในญี่ปุ่นการหาป้ายบอกทางไปห้องน้ำเป็นเรื่องไม่ยากเลย

ผมคาดว่าผู้ออกแบบและปรับปรุงระบบป้ายบอกทาง ต้องมีแนวคิด ผู้ใช้บริการเป็นตัวตั้ง มีการกำหนดแนวทางเช่น ผู้ใช้บริการไม่ว่าอยู่ที่จุดไหนต้องสามารถมองเห็นป้ายบอกทาง ภายในการเดินในระยะกี่ก้าวและสามารถอ่านได้จากระยะกี่เมตร

ยังมีเรื่องราวของรถไฟญี่ปุ่นให้เขียนเป็นกรณีศึกษากันต่อครับ ในบทความหน้าผมจะเชื่อมโยงไปกับองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของระบบ Lean ที่เรียกว่า Continuous Flow หรือการไหลอย่างต่อเนื่อง แล้วติดตามกันครับ

 *https://www.youtube.com/watch?v=ZyMStUaGmgA

 โดย... 

กฤชชัย อนรรฆมณี

Lean and Productivity Consultant / Trainer

[email protected]