อย่าให้ความคิดต่างฉุดรั้งโลก

อย่าให้ความคิดต่างฉุดรั้งโลก

หากเราอยู่ในเรือที่กำลังรั่ว พลังงานที่ใช้ในการย้ายเรือ คุ้มค่ากว่าการพยายามไปอุดรูรั่ว

เมื่อวันเสาร์ที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา ผมนั่งชมถ่ายทอดสดการประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท เบิร์คเชียร์ แฮธาเวย์ อยู่ที่บ้าน และแปลเนื้อหาเป็นภาษาไทยลงในเฟซบุ๊ก Club VI แบบสดๆ จึงอยากเก็บตกประเด็นที่น่าสนใจในช่วงถามตอบ โดยเฉพาะคมความคิดจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ และ ชาร์ลี มังเกอร์ สองสุดยอดนักลงทุน มาถ่ายทอดไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ

เริ่มต้นจากคำถามแรก ถามว่า บัฟเฟตต์เคยกล่าวไว้ว่า หน้าที่สองประการของเขาที่เบิร์คเชียร์ คือการ 'บริหารคน' กับการ 'จัดสรรเงินทุน' แต่ตอนนี้ เขามี เท็ด เวสช์เลอร์ กับ ท็อดด์ คอมบ์ส สองผู้จัดการกองทุนรุ่นน้องมาเลือกหุ้นให้ นั่นหมายความว่าบัฟเฟตต์เกษียณตัวเองไปแล้วครึ่งหนึ่ง (semi-retired) ใช่หรือไม่? (เป็นคำถามที่เรียกเสียงหัวเราะได้ลั่นห้องประชุม)

'ปู่' ตอบขำๆ ว่า ตัวแก 'กึ่งเกษียณ' มาหลายทศวรรษแล้ว ก่อนจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เท็ด และ ท็อดด์ บริหารเงินคนละ 12-13 ล้านเหรียญ แต่อีก 300 ล้านเหรียญ แกยังเป็นผู้รับผิดชอบอยู่

ผู้ถือหุ้นอีกท่านหนึ่งถามว่า บัฟเฟตต์เคยกล่าวไว้ว่า หากเราอยู่ในเรือที่กำลังรั่ว พลังงานที่ใช้ในการย้ายเรือ คุ้มค่ากว่าการพยายามไปอุดรูรั่วนั้น เช่นนี้แล้ว เพราะเหตุใดปู่จึงไม่ยอมขายหุ้น เวลส์ ฟาร์โก ธนาคารยักษ์ใหญ่ในเครือทิ้งซะ หลังจากแบงก์ชื่อดังเกิดเรื่องอื้อฉาว จากการที่พนักงานไปสร้างบัญชีเงินฝากปลอมขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

บัฟเฟตต์ตอบว่า บริษัทใหญ่ๆ ล้วนเคยประสบปัญหาด้วยกันทั้งนั้น อเมริกัน เอ็กซ์เพรส และ ไกโค สองบริษัทของเบิร์คเชียร์ก็เคยเจอวิกฤตและกลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิมได้ แกจึงไม่เห็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใด เวลส์ ฟาร์โก จะผ่านพ้นอุปสรรคไปไม่ได้ในครั้งนี้

มีคนถามด้วยว่า ตามที่ อีลอน มัสก์ นายใหญ่ของเทสล่ากล่าวว่า moat หรือ 'คูเมือง' (ซึ่งเป็นคำที่บัฟเฟตต์ใช้เปรียบเทียบกับ 'ความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจ') เป็นไอเดียที่ไม่เข้าท่าและตกยุค ปู่จะว่าอย่างไร แกก็ตอบทำนองว่า อีลอนอาจเป็นคนฝันไกล มุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโลก แต่กับธุรกิจดั้งเดิม อย่างไรเสียคูเมืองก็ยังมีความสำคัญ ทั้งยังพูดขำๆ ว่า 'ผมไม่คิดว่าเขาจะมาขายลูกกวาดแข่งกับเราหรอกนะ'

ขอเลือกปิดท้ายด้วยคำถามเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน โดยนักลงทุนเลือดมังกรที่ถือหุ้น BRK มายาวนานถึง 12 ปีได้ลุกขึ้นมาถามว่า แทนที่จะสู้กัน ทั้งสองประเทศจะหาจุดร่วมเพื่อให้เกิดสถานการณ์ วิน-วิน ได้หรือไม่ ?

บัฟเฟตต์ตอบว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีนจะเป็นประเทศมหาอำนาจไปอีกนาน โดยสองฝ่ายต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมกันเยอะมาก และเชื่อว่า หากค้าขายกันอย่างเสรี ก็จะเป็นสถานการณ์ที่มีแต่ได้ด้วยกันทั้งคู่ แม้ประเทศทั้งสองจะทำอะไรโง่ๆ อยู่บ่อยครั้ง แต่สุดท้ายแล้ว เชื่อว่าเรา (หมายถึงอเมริกา) คงไม่ปล่อยให้ความคิดต่าง ความอยากเอาชนะ ไปทำลายความเจริญรุ่งเรืองของโลกแน่ๆ

เป็นถ้อยคำจากนักลงทุนหมายเลขหนึ่งของโลก ที่หวังว่าน่าจะช่วยกระตุ้นเตือนให้ผู้นำประเทศที่กำลังบ้าระห่ำฉุกคิดขึ้นมาได้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ