ทำความรู้จักรัฐเบงกอลตะวันตก***

ทำความรู้จักรัฐเบงกอลตะวันตก***

ท่ามกลางความลังเล สงสัยของเอกชนไทยว่า อินเดียมีดีจริงหรือไม่

แต่ข้อเท็จจริงก็คือปัจจุบันมีบริษัททั้งรายเล็กและรายใหญ่ของไทยมาลงทุนในอินเดียแล้วมากกว่า 20 บริษัท และบริษัทส่วนใหญ่ก็ล้วนประสบความสำเร็จและกำลังพยายามต่อยอดขยายธุรกิจต่อไปเรื่อย ๆ ล่าสุด บริษัท สยามแม็คโครจำกัด (มหาชน) ก็ได้เริ่มตั้งบริษัทลูกในอินเดีย ในนาม LOTS Wholesale Solotions เพื่อดำเนินกิจการร้านค้าปลีก ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่รายแรก ๆ ของอินเดีย ไม่นับรวมจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ที่มีทั้งบริษัท ชุมชน และร้านอาหาร เป็นย่านเฉพาะของตัวเองกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศอินเดีย

โดยที่อินเดียประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ มากมาย และแต่รัฐก็ต่างมีจุดดีและจุดด้อยแตกต่างกันไป ในวันนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอใช้โอกาสที่ท่านทูตชุตินทร คงศักดิ์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐอินเดีย ไปเข้าร่วมงานเสวนาโอกาสการค้าการลงทุนในรัฐเบงกอลตะวันตก (Interactive Session on Trade and Investment Opportunities in the State of West Bengal) ที่จัดโดยรัฐบาลรัฐเบงกอลตะวันตก (แต่ละรัฐจะมีรัฐบาลเฉพาะของตนเอง) ร่วมกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา มาถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้เรียนร่วมกัน

รัฐเบงกอลตะวันตก มีเมืองหลวงชื่อคุ้นหูคนไทย นั่นคือ เมืองกัลกัตตา แม้จะชื่อรัฐเบงกอลตะวันตก แต่รัฐนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอินเดียและอยู่ใกล้กลับประเทศไทยมาก ปัจจุบันมีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ – กัลกัตตาอยู่หลายสายการบิน และใช้เวลาบินเพียงประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ รัฐเบงกอลตะวันตกเป็นรัฐที่ร่ำรวยไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบอังกฤษ เพราะเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงเก่าในสมัยที่อังกฤษยังปกครองอินเดีย ภาพในอดีตของเมืองกัลกัตตา ของคนไทยคือเมืองที่แออัด ไม่เจริญ และสกปรก แต่ในวันนี้รัฐบาลรัฐเบงกอลตะวันตกได้ทำงานอย่างหนักเพื่อแปลงโฉมรัฐใหม่ แม้จะยังไม่ทันสมัยทัดเทียมนิวเดลี แต่ก็มีจุดเด่นที่สะดุดตานักธุรกิจและนักลงทุนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ จะกล่าวถึงจุดเด่น 4 ประการของรัฐนี้ คือ

  1. เป็นรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการบริโภคภายในรัฐอย่างมหาศาล (เป็นรัฐที่บริโภคเนื้อไก่มากที่สุดในประเทศ) มีแรงงานที่มีศักยภาพ พร้อมรับการฝึกอบรม และแรงงายยังนิยมทำงานในระยะยาวโดยไม่ย้ายถิ่นฐานหรือย้ายงานบ่อย
  2. มีโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งโดยมีเครือข่ายถนนหลวงภายในรัฐหนาแน่นเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ มีท่าอากาศยานนานาชาติ 2 แห่งคือท่าอากาศยานนานาชาติกัลกัตตา และบักโดกรา (Bagdogra) และมีท่าเรือ 4 แห่ง ทั้งนี้ รัฐบาลรัฐเบงกอลตะวันตกยังมีนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนกลางเพิ่มเติม โดยเฉพาะแผนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก 3 แห่งภายในรัฐ ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการขนส่งสินค้า ซึ่งแต่เดิมนักลงทุนต้องอาศัยขนส่งสินค้าผ่านทางท่าเรือน้ำลึกจากรัฐอื่น ๆ เช่นเมืองมุมไบ รัฐมหาราษฏระ
  3. มีโครงการที่เป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนอาทิ มีการจัดทำโซนอุตสาหกรรม (Industrial Park) ให้แก่ธุรกิจในสาขาต่าง ๆ แบบเฉพาะเจาะจง อาทิ โซนอุตสาหกรรมเคมี โซนอุตสาหกรรมผ้า โซนอุตสาหกรรมอาหาร โซนอุตสาหกรรมไอที และโซตอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังพร้อมช่วยจัดสรรที่ดินให้แก่นักลงทุนทั้งในรูปแบบการเช่าระยะยาวในราคาต่ำ หรือขายให้เอกชนถือครองได้อีกด้วย

และ 4. รัฐบาลรัฐเบงกอลตะวันตกมีความตั้งใจจริงในการพัฒนาให้รัฐมีศักยภาพโดดเด่น เพื่อดึงดูดนักลงทุน เห็นได้จากการพัฒนาให้รัฐได้รับจัดอันดับให้มี Ease of Doing Business เป็นลำดับที่ 1 ของประเทศ (จัดลำดับโดยกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย)

อย่างไรก็ดี การลงทุนในรัฐเบงกอลตะวันตกและพื้นที่อื่น ๆ ของอินเดีย ก็ยังต้องอาศัยการศึกษาที่รอบคอบทั้งในแง่การตลาด และแนวทางการดำเนินกิจการ เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีธุรกิจรายใหญ่ของไทยต้องปิดกิจการลงเนื่องจากประสบปัญหาการถูกคุกคามโดยกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ในการนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอกระซิบเคล็ดลับการเริ่มธุรกิจในรัฐเบงกอลตะวันตกตามที่ได้รับคำแนะนำจากนายอมิต มิตรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อุตสาหกรรม และพาณิชย์ประจำรัฐเบงกอลตะวันตกว่า การลงทุนในรัฐเบงกอลตะวันตกควรเริ่มต้นจากการหารือร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อให้รัฐได้ช่วยเลือกสรรสถานที่ลงทุนให้เหมาะสมและปลอดภัย เนื่องจากรัฐเบงกอลตะวันตกมีประชากรหนาแน่นและหลากหลายเกินกว่าที่รัฐจะสามารถกำจัดกลุ่มอิทธิพลได้ทั้งหมด

แม้สภาพปัญหาเรื่องกลุ่มอิทธิพลอาจจะฟังดูน่ากลัวไปบ้าง แต่รัฐเบงกองตะวันตกแห่งนี้กลับได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติจากหลากหลายประเทศ อาทิ ซาอุดิอารเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้แสดงความสนใจในการเชื่อมโยงให้สภาธุรกิจของตนหารือร่วมกับรัฐเบงกอลตะวันตกเพื่อส่งเสริมความร่วมมือ ด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน สเปนสนใจจะหันมาเรียนรู้ศักยภาพของรัฐเบงกอลตะวันตกมากขึ้นเพื่อให้อินเดียเป็นตลาดใหม่นอกเหนือจากการไปลงทุนในลาตินอเมริกา และญี่ปุ่นก็กำลังวางแผนขยายสาขาการลงทุนในรัฐเบงกอลตะวันตกให้หลากหลายมากขึ้นกว่าการลงทุนด้านยานยนต์ที่มีอยู่แล้วในรัฐดังกล่าว

ดังนั้น รัฐเบงกอลตะวันตกจึงเป็นเป็นรัฐที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทย เพราะมีศักยภาพสูงทั้งในแง่การลงทุน ในแง่ตลาดทั้งภายในรัฐเองและการขยายไปสู่รัฐและพื้นที่ใกล้เคียงอื่น ๆ และในแง่ที่ตั้งและความเชื่อมโยง เนื่องจากรัฐนี้อยู่ในจุดที่จะสามารถรองรับการขยายตัวของโครงการความเชื่อมโยงในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ BIMSTEC และโครงการอื่น เช่น โครงการความเชื่อมโยงบังกลาเทศ-ภูฏาน-อินเดีย-เนปาลได้ ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตาพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมให้นักลงทุนได้พบปะและทำความรู้จักรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐเบงกอลตะวันตก รวมถึงรัฐอื่น ๆ เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจในอินเดียได้อย่างราบรื่น

 

*** ชื่อเต็ม: ทำความรู้จักรัฐเบงกอลตะวันตก ที่อยู่ห่างจากประเทศไทยแค่สองชั่วโมงบิน

โดย... 

เชษฐ์ธิดา กิตติ์ชัยวัชร์

เลขานุการโท

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี