รถยนต์ไร้คนขับ ประเทศไทยพร้อมหรือยัง?

รถยนต์ไร้คนขับ ประเทศไทยพร้อมหรือยัง?

ในขณะที่ประเทศไทย ยังคงวงเวียนอยู่ในวิบากกรรมด้านพลังงาน ที่มีทั้งกลุ่มที่อยากเห็นประเทศไทยก้าวหน้าเข้าสู่ยุคของพลังงานหมุนเวียน

(แดด ลม เป็นต้น) เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ และกลุ่มที่ยังคงยึดมั่นอย่างมั่นคงอยู่กับพลังงานจากฟอซซิล (ปิโตรเลียม แก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน)

ยังมีหลากหลายประเทศ ที่พัฒนาเข้าสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเต็ม 100% โดยรวมไปถึงประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเพื่อนบ้านของไทย และประเทศกำลังพัฒนาในแอฟริกา

ยิ่งไปกว่านั้น ในประเทศที่มีแนวคิดก้าวหน้าแล้ว รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อน เช่น เทสล่า กลับไม่ได้รับการยอมรับ หากเป็นการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตมาจากโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล นี่จึงเป็นเหตุให้ อีลอน มัสก์ ประกาศจะผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียนด้วยตนเอง เพื่อให้บริการกับรถเทสล่า

อย่างไรก็ดี หากกล่าวถึง เทสล่า ในปัจจุบัน ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในนานาอารยประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้าน เทคโนโลยี เศรษฐกิจ หรือสังคม นั้น ได้ก้าวข้ามเรื่องของพลังงานมานานมากแล้ว

ทุกวันนี้ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ กลับเป็นกรณีที่ทุกฝ่ายกำลังให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด ซึ่งเมื่อกล่าวถึงเทสล่า ทุกคนจะต้องคิดถึงเรื่องของ เอไอ มากกว่าเรื่องของพลังงาน

สำหรับเทสล่า เทคโนโลยีนี้เรียกกว่า “เทสล่า ออโต้ไพลอต” ที่ถึงแม้เทสล่าจะประกาศว่า เป็นเพียงเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือคนขับและคนขับยังคงต้องอยู่ที่พวงมาลัย แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีผู้ใช้งาน ที่ “ลองของ” แล้วปล่อยให้ เอไอ ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง โดยที่ผู้ใช้ไม่ได้ควบคุมพวงมาลัย หรือกระทั่งนั่งอยู่บนเก้าอี้คนละข้างกับพวงมาลัย

สิ่งที่ตามมา ก็คืออุบัติเหตุ ที่มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย สามครั้ง ซึ่งเทสล่า ได้ออกมาชี้แจงว่า เกิดจากความผิดพลาดของคนขับ ที่ปล่อยมือจากพวงมาลัย

แม้ เทสล่า ออโต้ไพลอต จะถูกประกาศว่าเพียงเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือคนขับ แต่จุดมุ่งหมายของปัญญาประดิษฐ์ที่แท้จริง ก็คือรถยนต์ไร้คนขับที่ขับเคลื่อนโดยเอไอ 100%

และในปัจจุบัน มีความเชื่อว่า เอไอสามารถขับรถได้ปลอดภัยกว่ามนุษย์ และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ได้มีบริษัทประกันที่ลดเบี้ยประกันรถยนต์ หากรถนั้นมีระบบเอไอสำหรับขับเคลื่อนด้วยตนเอง และมีการคาดการณ์ด้วยว่าจะนำไปสู่การสูญเสียรายได้ของบริษัทประกัยภัยในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของรัฐบาลสหรัฐที่มีผลสรุปว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนจะลดลง 80% ภายในปี 2035 จากการแพร่หลายของ เอไอ

แต่ถึงกระนั้น ได้มีตัวอย่างของรัฐบาลอินเดีย ที่ออกมาต่อต้านรถยนต์ไร้คนขับ เพราะเชื่อว่าจะทำให้คนขับรถจำนวนมากต้องตกงานและนำไปสู่ปัญหาด้านอื่นของสังคม

และก็ยังมีข้อโต้เถียงของนักวิชาการส่วนน้อย ที่ยังไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยของเอไอในยุคปัจจุบัน

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ที่ไร้คนขับได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ได้เล็งเห็นการกำลังมาของเทคโนโลยีที่ไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้อีกต่อไป และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับมวลมนุษย์อีกก้าวไกล รวมทั้งผลกระทบที่รวมถึงการว่างงาน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายบริษัทที่กำลังผลักดันเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ เช่น กูเกิล อูเบอร์ หรือกระทั่ง เบนซ์ เป็นต้น เทคโนโลยีนี้จึงมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว

สำหรับประเทศไทยเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์สูงที่สุดในโลก รถยนต์ไร้คนขับ อาจเป็นทางออก ที่ได้ผลดีกว่านโยบายรณรงค์ในด้านต่างๆ

แต่เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ ยังไม่ได้รับความสนใจมากนักในประเทศไทย และเมื่อพูดถึงเทสล่า คนไทยส่วนใหญ่ยังคงนึกถึงด้านพลังงานหรือการใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อน ซึ่งแม้แต่ในด้านนั้น ก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเมื่อเปรียบกับประเทศอื่นๆ