“ทำอย่างไรเศรษฐกิจจะขยายตัวได้สูงขึ้น” ดร.บัณฑิต นิจถาวร

“ทำอย่างไรเศรษฐกิจจะขยายตัวได้สูงขึ้น” ดร.บัณฑิต นิจถาวร

อาทิตย์ที่แล้ว ผมได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นวิทยากรในงานสัมมนา

จัดโดยสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคเอเชียและธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ในหัวข้อ เอเชียในระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ (Asia’s Emergence in the New World Order) พูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียและความท้าทายของประเทศต่างๆ ซึ่งผมได้ตอบคำถามและพูดถึงความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ปัญหาที่เราประสบและแนวทางแก้ไข วันนี้จึงอยากนำประเด็นที่ให้ความเห็นไป มาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต ทราบ 

กรณีของเศรษฐกิจไทย คำถามที่เป็นที่สนใจคือทำไมการขยายตัวของเศรษฐกิจช่วง 10 ปีที่ผ่านมาชะลอลงมาก และโมเดลการเติบโตของเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกและการลงทุนยังใช้ได้อยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว มีความไม่แน่นอนสูง และการแข่งขันรุนแรงขึ้นจากระบบการผลิตที่เน้นการใช้เทคโนโลยี ความรู้ ทักษะแรงงานในระดับที่สูง นี่คือประเด็นที่ผู้จัดงานสัมมนาตั้งคำถามและขอให้ผมให้ความเห็น 

ถ้ามองภาพยาวกลับไป 40-50 ปี ต้องถือว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยประสบความสำเร็จมาก อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจช่วง 40 ปี ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 1997 เฉลี่ย 7.7% ต่อปี นำมาสู่การเติบโตของรายได้และการลดลงของความยากจนในประเทศ แต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เหลือประมาณ 3% ต่อปี จากที่การส่งออกชะลอ เพราะประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานถูก ที่ประเทศอย่างเวียดนามและกัมพูชาแข่งขันได้ดีกว่า ที่สำคัญการลงทุนของประเทศแทบไม่มีการเติบโตในช่วงหลังวิกฤติ อัตราส่วนการลงทุนต่อรายได้ประชาชาติลดลงเหลือประมาณ 20% จากที่เคยสูงถึงร้อยละ 40 ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อภาคเอกชนไม่ลงทุน พร้อมกับภาครัฐก็ล่าช้าที่จะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยจึงไม่ได้สร้างกำลังการผลิตใหม่ไว้ที่จะเพิ่มความสามารถในการส่งออก ผลคือการส่งออกชะลอและขยายตัวติดลบต่อเนื่อง เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอ 

ที่สำคัญเมื่อการลงทุนไม่มี ความสามารถที่เศรษฐกิจจะเติบโตก็ต้องมาจากกำลังแรงงานและการเพิ่มผลิตภาพการผลิต แต่ประเทศเราก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ เพราะไม่ได้ลงทุนหรือเตรียมการไว้ในเรื่องการศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงาน ขณะที่ผลิตภาพการผลิตก็ลดลง เพราะภาคธุรกิจไม่ได้ปรับวิธีการผลิตที่จะนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผลคือเรามีแต่ความไม่พร้อมและการไม่เตรียมตัวเพื่อการเติบโตในอนาคต คือรัฐไม่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนไม่ปรับวิธีการผลิต ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมให้มากขึ้น ภาคแรงงานก็ขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพจากปัญหาเรื่องการศึกษาและการพัฒนาทักษะ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง เศรษฐกิจจึงไม่สามารถขยายตัวในอัตราที่สูงได้เหมือนก่อน นำมาสู่การชะลอตัวของรายได้และการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ 

ต่อคำถามที่ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาสู่การขยายตัวในระดับที่สูงขึ้นได้หรือไม่ และมีอะไรบ้างที่ต้องแก้ไข ในประเด็นนี้ผมได้ให้ความเห็นไปว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยขณะนี้เป็นปัญหาโครงสร้างที่ต้องแก้ไขโดยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใน 3 เรื่อง 

1.ต้องมีการลงทุนใหม่เพื่อสร้างความสามารถในการผลิต พร้อมกับต้องสร้างบรรยากาศในการทำธุรกิจใหม่ให้กับประเทศ โดยรัฐต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถลงทุนตามได้ โดยใช้เทคโนโลยีล่าสุด ขณะเดียวกันภาคธุรกิจเองก็ต้องปรับตัว ปรับวิธีการทำธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ท้ายสุด ภาครัฐและภาคธุรกิจก็ต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศทางธุรกิจใหม่ ที่จะจูงใจให้นักธุรกิจลงทุนและต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย โดยการเปิดเสรีธุรกิจ ลดข้อจำกัด ลดการผูกขาด เพื่อสร้างบรรยากาศการแข่งขันให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำธุรกิจและลงทุน ทั้งหมดจะสร้างความสามารถในการผลิตใหม่ให้กับประเทศ 

2.เราต้องใช้ประโยชน์จากการเติบโตของการค้าและการลงทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ต้องลงทุนสร้างการเชื่อมต่อทั้งภายในประเทศเราเองและภายในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CMLV คือ กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาค โดยพัฒนาการเชื่อมต่อและอุตสาหกรรมบริการของเราให้สามารถให้บริการและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างครบวงจร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำได้ดีจากความได้เปรียบในแง่ที่ตั้ง โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม และความใหญ่ของอุตสาหกรรมบริการที่สามารถให้บริการกลุ่มประเทศในอาเซียนได้ 

3.ต้องใช้ประโยชน์แรงงานของประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยพัฒนาและยกระดับคุณภาพและความสามารถของแรงงานไทยให้สูงขึ้น ปัจจุบันอุปทานแรงงานของเราไม่เพิ่มขึ้นเหมือนก่อน ต้องนำเข้าจากข้างนอก ขณะที่คนในวัยทำงานก็จะมีน้อยลงในอนาคตจากปัญหาประชากรสูงวัย ทำให้การเติบโตของการผลิตจากนี้ไปต้องมาจากคุณภาพของแรงงานเป็นสำคัญ แต่ขณะนี้ความสามารถของแรงงานไทยเป็นปัญหา จากที่ระบบการศึกษาของเราไม่สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับภาคธุรกิจได้ คนจบมาไม่มีงานทำต้องกลับไปภาคเกษตรที่เหมือนเป็นแหล่งพักพิง ทำให้ภาคเกษตรแม้จะมีสัดส่วนเพียง 6% ในรายได้ประชาชาติ แต่มีกำลังแรงงานอยู่ในภาคเกษตรมากถึง 33 % กดดันให้ผลิตภาพของแรงงานในภาคเกษตรลดลงต่ำ และสร้างความเหลื่อมล้ำให้มีมากขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการขาดแรงงานที่มีคุณภาพ ข้อเท็จจริงนี้ทำให้การปรับปรุงผลิตภาพหรือคุณภาพของแรงงาน (labour productivity) จึงเป็นความท้าทายสำคัญที่สุดของประเทศขณะนี้ เพราะคุณภาพของประเทศจะมาจากความสามารถและคุณภาพของคนในประเทศในที่สุด ทำให้การพัฒนาทรัพยากรบุคคลจึงเป็นโจทย์ชี้ขาดอนาคตของเศรษฐกิจ ถ้าทำได้ประเทศก็จะสามารถเติบโตและก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่สูงขึ้น 

ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจจึงสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย ที่เสียโอกาสไปมากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่รัฐไม่ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาไม่มีการปฏิรูป และภาคธุรกิจไม่ปรับตัว ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้อยลง ที่สำคัญเมื่อแข่งขันไม่ได้ บริษัทใหญ่ก็หันมาแข่งกันเองในประเทศ รุกขยายธุรกิจไปในธุรกิจที่ตัวเองไม่เคยทำและไม่ควรทำ เพื่อหารายได้ ทำให้การผูกขาดโดยขนาดโดยบริษัทใหญ่เพิ่มสูงขึ้น การเติบโตของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจึงกระจุกแต่ไม่กระจายอย่างที่คนส่วนใหญ่รู้สึกทุกวันนี้