ทางออกพบทางตันแบบแทบทันทีในยุโรป

ทางออกพบทางตันแบบแทบทันทีในยุโรป

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่า ประเทศยุโรปจำนวนมากพัฒนาจนก้าวหน้าสูง ประชาชนอยู่ดีกินดีและมีสวัสดิการสูง

อย่างไรก็ดี หลายประเทศเริ่มมีปัญหาเพราะปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปสู่การมีผู้สูงวัยในอัตราสูงในขณะที่ผู้อยู่ในวัยทำงานมีรายได้และความมั่นคงน้อยลง เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ได้เข้ามาทำงานแทนคนมากขึ้น รัฐบาลไม่สามารถรักษาโครงการในระบบรัฐสวัสดิการไว้ได้หากไม่เก็บภาษีเพิ่มขึ้น แต่การเก็บภาษีเพิ่มเริ่มเป็นไปได้ยากเนื่องจากประชาชนมักต้องจ่ายภาษีเกิน 40% ของรายได้ไปมากแล้ว ในช่วงหลายปีมานี้จึงมีการมองหาทางออก หนึ่งในจำนวนทางออกได้แก่แนวคิดเรื่องรายได้เบื้องต้น

ฐานของแนวคิดเรื่องรายได้เบื้องต้นได้แก่รัฐบาลจ่ายเงินให้ประชาชนในระดับพอสำหรับเลี้ยงชีพ อาจเริ่มด้วยการจ่ายให้บางกลุ่ม เช่น คนจนและคนตกงาน ขั้นต่อไปอาจจ่ายให้ประชาชนทั้งหมด หลายฝ่ายมองว่าการมีรายได้ขั้นต่ำจะทำให้ลดปัญหาหลายอย่างได้ไม่ว่าปัญหาจะมาจากความยากจน การตกงานเพราะเทคโนโลยีใหม่ถูกนำมาใช้แทนแรงงาน การไม่กล้าเสี่ยงที่จะนำนวัตกรรมและความคิดใหม่ไปสู่ภาคปฏิบัติ การขาดแรงจูงใจของผู้ได้รับรัฐสวัสดิการ หรือความสลับซับซ้อนและค่าบริหารจัดการสูงของการมีโครงการรัฐสวัสดิการจำนวนมาก

ฟินแลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศทางตอนเหนือที่เริ่มทำการทดลอง รัฐบาลฟินแลนด์สนับสนุนโครงการนำร่องเมื่อต้นปีที่แล้ว โครงการสุ่มเลือกผู้ตกงาน 2,000 คนเข้าร่วม แต่ละเดือนผู้อยู่ในโครงการได้รับเงินจากรัฐบาลคิดเป็นเงินไทยได้คนละราว 23,000 บาท การทดลองนี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและบางประเทศส่งคณะไปศึกษารายละเอียด ตามแผนโครงการจะดำเนินไป 2 ปีก่อนที่จะสรุป อย่างไรก็ตามเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏว่ารัฐบาลฟินแลนด์ได้ข้อสรุปแล้ว นั่นคือจะไม่สนับสนุนโครงการต่อไปหลังจากทำนำร่องครบ 2 ปี เหตุผลที่รัฐบาลสรุปเช่นนั้นยังไม่เป็นที่ประจักษ์

ใน เนเธอร์แลนด์ มีการทดลองทำโครงการบนฐานของแนวคิดเรื่องรายได้เบื้องต้นเช่นกัน แต่ทำในระดับเทศบาลเมือง โครงการแยกผู้รับเงินออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อดูว่าผลของแต่ละแบบจะออกมาอย่างไร รัฐบาลจ่ายรายได้เบื้องต้นให้ทุกคนในโครงการราว 23,000 บาทต่อเดือน โดยกลุ่มแรกจะทำงานมากน้อยเท่าไรก็ได้โดยไม่ถูกตัดเงินสนับสนุน กลุ่มที่ 2 ถูกบังคับให้ทำงานด้านจิตอาสา ถ้าหยุดทำก็ไม่ได้รับเงินสนับสนุน กลุ่มที่ 3 ผู้ทำงานจิตอาสาได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มจากที่ได้อยู่แล้ว และกลุ่มที่ 4 ห้ามทำงาน โครงการเริ่มเมื่อเดือน ม.ค.2560 ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป

แนวคิดนี้มีการพูดถึงกันมากในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของยุโรป แต่ความเคลื่อนไหวในสวิตเซอร์แลนด์มิได้นำโดยภาครัฐ หากเป็นภาคเอกชน สื่อรายงานอย่างกว้างขวางแล้วว่าเมื่อกลางปี 2559 ชาวสวิสส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดโดยการออกเสียงคัดค้านสูงถึง 77% ไม่มีพรรคการเมืองในสวิตเซอร์แลนด์สนับสนุนแนวคิดแม้แต่พรรคเดียว แต่ชาวสวิสต้องไปออกเสียงว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพราะมีประชาชน 1 แสนคนเข้าชื่อกันอันเป็นเสมือนการมัดมือรัฐบาลให้จัดทำประชาพิจารณ์ตามรัฐธรรมนูญ ผู้สนับสนุนแนวคิดเสนอว่าในเบื้องต้นรัฐบาลควรจ่ายให้ชาวสวิสทุกคนไม่ว่าเขาจะตกงานหรือไม่ โดยผู้ใหญ่ได้รับเดือนละ 2,500 ฟรังก์ (ราว 84,000 บาท) และเด็กคนละ 625 ฟรังก์ (ราว 20,600 บาท) ผู้สนับสนุนมองว่าชาวสวิสต้องมีรายได้ขั้นต่ำถึงระดับนั้นเพราะสังคมของเขามีมาตรฐานการครองชีพสูง

การที่พรรคการเมืองและประชาชนส่วนใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ไม่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว อาจตีความหมายได้ว่าในสวิตเซอร์แลนด์นโยบายจำพวกนี้ซึ่งมีโอกาสเปลี่ยนรูปโฉมเป็นประชานิยมแบบเลวร้ายได้อย่างง่ายดายจะไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะประชาชนโดยทั่วไปรู้เท่าทันพิษร้ายของมัน

ในขณะที่ประเทศต่างๆ กำลังพิจารณาหาทางออกกันอยู่นั้น มีตัวอย่างสำคัญเกิดขึ้นแบบสดๆ เกี่ยวกับพิษร้ายของนโยบายประชานิยมในยุโรปตอนใต้ นั่นคือในกรีซ รัฐสวัสดิการในกรีซกลายเป็นประชานิยมแบบเลวร้ายอย่างง่ายดาย เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักและรัฐบาลฉ้อฉล ส่งผลให้กรีซเดินเข้าสู่ภาวะล้มละลายเมื่อหลายปีก่อน ในขณะนี้ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ว่าเมื่อไรกรีซจะฟื้น