ระบบการชำระเงินออนไลน์ : ไม่ไหวหรือไปต่อ?

ระบบการชำระเงินออนไลน์ : ไม่ไหวหรือไปต่อ?

ประเด็นที่ยากที่สุดประการหนึ่งของระบบกฎหมายในศตวรรษที่ 21 คือกำหนดข้อบังคับสำหรับการควบคุมระบบการชำระเงินทางพาณิชย์

ที่สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยเฉพาะการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และแม้ว่าประเทศไทยจะมีการควบคุมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 และล่าสุดได้มีการตราพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นเครื่องมือในทางกฎหมายมหาชนในการควบคุมการชำระเงินแล้วก็ตาม

ผู้เขียนมีความเห็นว่านอกจากการกำกับโดยรัฐดังกล่าว กฎหมายเอกชนก็ยังอาจเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดประการหนึ่งเพื่อจัดการกับการพัฒนาทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ ซึ่งในสหรัฐ กฎหมายสัญญามีบทบาทอย่างมากในการกำหนดระบบและหลักเกณฑ์การชำระเงิน ผู้เขียนจึงขอนำระบบกฎหมายของสหรัฐมาประกอบการวิเคราะห์ในบทความนี้ เพื่อพิจารณาถึงทิศทางการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินออนไลน์ของประเทศไทยในอนาคต

ในสหรัฐ ระบบการชำระเงินแบบไม่ใช้กระแสเงินสดถูกควบคุมโดยกฎหมายมหาชนเป็นเวลานานกว่า 1 ศตวรรษ นับตั้งแต่กฎหมาย Uniform Negotiable Instruments Law (1896) ไปจนถึงการชำระเงินด้วยเช็ค ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการชำระเงินที่ไม่ใช่เงินสดที่บัญญัติไว้ใน Uniform Commercial Code 1952 (UCC) โดย UCC ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 และผู้คนส่วนใหญ่มีความเห็นว่า UCC ในเวลานั้นเป็นระบบที่ถูกวางแนวทางไว้สำหรับกฎหมายการชำระเงินในอนาคตแล้ว แต่สมมติฐานดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่จริงเสียทีเดียวในปัจจุบัน เพราะการเปลี่ยนแปลงการชำระหนี้ด้วยเช็คในศตวรรษที่ 21 ลดลงอย่างน่าตกใจ ข้อมูลสถิติจากการศึกษาล่าสุดของ Federal Reserve Payments แสดงให้เห็นว่าในปี 2000 มีการชำระหนี้ด้วยเช็คจำนวน 41.9 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 58% ของการชำระเงินของระบบ แต่ในปี 2012 จำนวนเช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้ได้ลดลงเหลือเพียง 18.3 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเพียง 15% ของการชำระเงินทั้งหมดเท่านั้น

เหตุผลที่การชำระหนี้ด้วยเช็คลดลงในระยะเวลา 12 ปี คือปริมาณการจับจ่ายใช้สอยโดยบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่เพิ่มขึ้น จากข้อมูลสถิติพบว่าหลังปี 2000 บัตรชำระเงินทั้งสองประเภทนี้มีมูลค่าถึง 21.7 พันล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นหนึ่งในสามของการชำระเงินในสหรัฐ และในปี 2012 ยอดรวมการใช้บัตรมีมากถึง 73.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 59% ของการชำระเงิน โดยสาเหตุที่ผู้คนเปลี่ยนจากการชำระหนี้ด้วยเช็คมาใช้ระบบบัตรแทนเป็นเพราะความสะดวกสบาย

ความนิยมของการชำระหนี้โดยบัตรแสดงให้เห็นว่าระบบการชำระเงินด้วยบัตรสามารถกระทำได้ตามกฎหมายเอกชนและไม่จำเป็นต้องมีการบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ ระบบบัตรถูกสร้างขึ้นจากเครือข่ายของสัญญาระหว่างธนาคารผู้ออกบัตรกับผู้ใช้ ระหว่างธนาคารผู้ออกบัตรกับเครือข่ายบัตร ระหว่างเครือข่ายบัตรกับธนาคารที่อำนวยความสะดวกแก่ร้านค้าในการรับบัตรชำระเงิน หรือธนาคารที่อำนวยความสะดวกแก่ร้านค้ากับร้านค้า

แต่ทว่าการเติบโตของการใช้บัตรเครดิตอย่างรวดเร็ว ในที่สุดก็ส่งผลให้สภาคองเกรสต้องหันมาให้ความสนใจยังผลให้เกิดกฎหมายมหาชนของรัฐบาลกลาง อาทิ การแก้ไขเพิ่มเติม Truth in Lending Act 1970 (TILA) โดยการเปลี่ยนความรับผิดต่อความเสียหายจากการฉ้อโกงจากผู้ถือบัตรไปยังผู้ออกบัตรแทน ปัจจุบัน TILA จำกัดความรับผิดของผู้ถือบัตรสำหรับการใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเพียง 50 ดอลลาร์ ทั้งนี้บัตรเดบิตมีการควบคุมด้วยรูปแบบการป้องกันที่คล้ายกันแต่น้อยกว่า และเมื่อรัฐสภาผ่านกฎหมายการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (The Electronic Funds Transfer Act 1978 (EFTA)) เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดให้ผู้ออกบัตรจะต้องรับภาระความเสียหาย ถือเป็นกลไกการป้องกันการฉ้อโกงที่สำคัญและได้สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้บัตรอย่างมาก

จากความนิยมใช้บัตรก็พัฒนามาสู่การจ่ายเงินค่าบริการออนไลน์ผ่านธนาคารของตน โดยใช้ระบบ Automated Clearing House (ACH) ซึ่งได้ประโยชน์จากความคุ้มครองการใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่นเดียวกับ EFTA ส่งผลให้เกิดการรับบัตรจากทางผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ปัญหาเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อระบบการชำระเงินซึ่งอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วโดยมี 2 นวัตกรรมที่สำคัญกล่าวคือ การชำระเงินผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ เช่น Apple Pay และสกุลเงินเสมือนการเข้ารหัสหรือ Crypto currency เป็นต้น

Apple Pay เป็นแอพพลิเคชั่นการชำระเงิน ซึ่งสร้างโครงสร้างการชำระเงินบนโครงข่ายที่มีอยู่เดิม ซึ่งทำหน้าที่เป็นช่องทางสำหรับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต บัตรเดบิต และ ACH ทั้งนี้การคุ้มครองทางกฎหมายของผู้ใช้ปลายทางใน TILA และ EFTA ยังไม่มีผลบังคับใช้กับการชำระเงินผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ ในปี 1970 จึงเกิดคำถามเกี่ยวกับขอบเขตและการบังคับใช้ข้อกำหนดเหล่านี้ เมื่อฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นเหตุให้เกิดการชำระเงินอัตโนมัติโดยไม่ได้รับอนุญาต และในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายที่ครอบคลุมถึงการเข้ารหัสแบบ Crypto currencies โดยใช้เทคโนโลยี “Blockchain”

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าระบบการชำระเงินในปัจจุบันได้ก้าวข้ามมาตรการกำกับดูแลของสถาบันกฎหมายมหาชนตาม UCC อย่างชัดเจน แม้ว่าการคุ้มครองทางกฎหมายของกฎหมายมหาชนต่อผู้ใช้ปลายทางได้พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ และช่วยอำนวยความสะดวกในการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด ระบบการชำระเงินที่เกิดขึ้นใหม่ควรอยู่ภายใต้การแบ่งแยกระหว่างกฎหมายเอกชนกับกฎหมายมหาชนอย่างชัดเจน โดยกฎหมายเอกชนควรมีความสำคัญมากขึ้นเนื่องจากเอื้อต่อการพัฒนารูปแบบการชำระเงิน

ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่ากฎหมายสัญญาในภาคเอกชนยังเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด เพื่อจัดการกับการพัฒนาทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อกำกับดูแลระบบการชำระเงินที่เกิดขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม ระบบการชำระเงินก็ยังควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมหาชนสำหรับกรณีที่ผู้ใช้โดนบังคับ กดขี่ ทุจริต หรือเกิดข้อผิดพลาด