ยาขม คสช.

ยาขม คสช.

นับจากนี้อีก 2 วัน ตามกำหนดนัดชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

การชุมนุมมากหรือน้อย ไม่ใช่ประเด็น อยู่ที่ว่า กลุ่มอยากเลือกตั้งชุมนุมบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น แม้จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยอาศัยอำนาจ ในมาตรา 8 และมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.กฎอัยการศึก 2457

29 ม.ค.ที่ผ่านมา พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. เข้าพบ พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ รอง ผกก.สน.ปทุมวัน เพื่อแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี กับ 1.รังสิมันต์ โรม 2.สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 3.ณัฎฐา มหัทธนา 4.อานนท์ นำภา 5.เอกชัย หงส์กังวาน 6.สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ 7.เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในข้อหา “ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จากการออกมาเคลื่อนไหว 25 ม.ค. และ27 ม.ค.ที่บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน"

แต่หลังจากที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ออกมา เคลื่อนไหว อีกครั้ง เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แกนนำและผู้ชุมนุม 40 คนโดนฟ้อง ศาลนัดตรวจหลักฐาน 4 มิ.ย.นี้

แต่ 24 มี.ค.กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก็ยังทำกิจกรรมเดินเท้า ไปยังกองทัพบก เพื่อขับไล่ รัฐบาลคสช.

ล่าสุดพวกเขานัดกัน 5 พ.ค.นี้

พล.ต.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เตือนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ว่า การชุมนุม ต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายหากมีความวุ่นวายเกิดขึ้น แกนนำกลุ่มฯต้องรับผิดชอบ พร้อมบอกด้วยว่า มีแกนนำคนเสื้อแดงบางส่วนเท่านั้นที่จะเข้าร่วม

กอ.รมน.ประเมินว่า คนจะร่วม 200-300 คน

แต่จากประวัติศาสตร์การชุมนุมที่ผ่านมา ล้วนเริ่มต้นชุมนุมกันไม่กี่คนแต่หาก จุดติด คนนับแสนนับล้านจะออกมาเอง และนั่นจะเป็น ยาขม รัฐบาล และคสช. ต้องเผชิญ

ฝ่ายข่าวทหาร ทั้งกอ.รมน.และคสช.ก็ประเมินออก และย่อมรู้ดีว่า เหตุที่มาถึงวันที่ประชาชนเสื่อมศรัทธา นั้น มาจากวิกฤติตัวบุคคล ภายใน คสช.เอง