การผลิตซ้ำ “ความรุนแรง” เป็นการซ้ำเติมสังคมส่วนรวมโดยแท้

การผลิตซ้ำ “ความรุนแรง” เป็นการซ้ำเติมสังคมส่วนรวมโดยแท้

ปกติเวลาจะได้ดูทีวีหรือแม้แต่รับชมรับฟังข่าวสารที่มีคนมาสัมภาษณ์สอบถามตัวผมเองก็แทบจะหาได้ยากยิ่ง แต่เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนได้ชมรายการทีวี

ของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในขณะนั่งรับประทานอาหารกลางวันอยู่ที่รัฐสภา ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า แม้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่มีหลายเรื่องน่ายกย่อง ผมได้มีโอกาสชมภาพยนตร์หลายเรื่องที่เป็นฝีมือการสร้างและถ่ายทำโดยคนไทย เรามีนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ หลายอย่างเป็นเรื่องดีๆ ที่น่าจะทำซ้ำ หรือที่เขามักเรียกในเชิงวิชาการว่า ลิตซ้ำ" แต่สำหรับรายการหนึ่งที่ผมเห็นเข้าโดยบังเอิญ ผมไม่อาจเรียกว่าผลิตซ้ำ แต่น่าจะเป็นการ "ซ้ำเติมความเจ็บปวดรวดร้าว" หรือ "ทำให้สังคมคุ้นชินกับความรุนแรง" โดยไม่จำเป็น

ผมเข้าใจว่าทางผู้ผลิตเองอาจไม่ทราบถึงผลกระทบในด้านร้ายๆ ของรายการหรือสิ่งที่ตนเองนำเสนอ แต่ในฐานะที่เป็นผู้ที่น่าจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวในสังคมนี้ได้อย่างมีน้ำหนักอยู่บ้าง จึงต้องให้คำแนะนำว่าการนำเสนอสื่อให้สังคมชุมชนส่วนรวม ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภคมากกว่าที่ผมได้เห็นมา เพราะการนำ "ภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวที่มีการโพสต์หรือเผยแพร่ในโลกเสมือนจริง หรือกระทั่งโซเชียลมีเดียทั้งหลาย" หากได้ขออนุญาตแล้วหรือเป็นสิ่งที่เผยแพร่สู่สาธารณะแล้วเกิดประโยชน์ ย่อมไม่มีใครว่าร้ายได้

แต่การนำภาพ เสียง หรือเนื้อหาที่แม้ว่าจะมีอยู่ในโลกเสมือนจริงดังว่า ก็ไม่สมควรที่จะผลิตซ้ำภาพเหล่านั้น ถึงจะเข้าใจดีว่าในโลกแห่งการแข่งขันทางธุรกิจของสื่อจะมีความเข้มข้นรุนแรง ต่างฝ่ายต่างพยายามเอาชนะด้วย "เรตติ้ง" หรือ "กระแสความนิยม" หลายรายการ รวมถึงหลายค่ายใช้ “การโหนกระแส” ไม่ต่างกับกลยุทธ์ทางการตลาดหรือการเมืองที่ใช้ “กระแส” ในการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด แต่สำหรับ "สื่อ" ที่ต้องดูแลและรับผิดชอบต่อผู้บริโภคสื่อ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาเรื่องราวให้รอบคอบ ก่อนนำเนื้อหาเหล่านั้นเผยแพร่ออกสู่สายตาผู้บริโภค

ผมเคยตั้งคำถามว่าหากจะเล่าเรื่องของการทำร้ายกัน จะด้วยการตีรันฟันแทง การทะเลาะวิวาท หรือแม้กระทั่งภาพพระภิกษุสงฆ์ที่อาจประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับสมณเพศ จำเป็นหรือไม่ต้องมีภาพเคลื่อนไหวประกอบให้เห็นการกระทำที่ไม่สมควรเหล่านั้น ฉายวนไปวนมา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้พิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการสาธยายให้ความเห็น กระทั่งเหมือนเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคม

สิ่งที่เป็นความรุนแรง หรือความไม่เหมาะควรเหล่านี้ กำลังเกิดสภาวะ "ระบาด" อย่างหนักในสังคมไทยของเรา เพราะในโปรแกรมสนทนาระหว่างคนในสังคมชุมชน เช่น ไลน์ (Line) เฟซบุ๊ค ก็มักพบการนำภาพและเสียง หรือภาพเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมอันดีคล้ายๆ กันนี้ออกเผยแพร่กันเป็นประจำ หากสถานีโทรทัศน์หรือผู้ผลิตต้องการมุ่งให้ความนิยมในรายการของตนได้รับการยอมรับหรือขึ้นชั้นของการเป็นผู้นำในรายการประเภทที่ตนดำเนินการ ก็น่าจะใช้ความสามารถกันให้มากกว่านี้ เช่น การอธิบายความให้กระชับได้ใจความ โดยไม่ควรเน้นไปที่การนำเสนอภาพความรุนแรงหรือไม่เหมาะสมประกอบในการดำเนินรายการ

ที่สำคัญรายการที่ไปหยิบฉวยภาพหรือเนื้อหาที่มีอยู่ในโลกเสมือนจริง หรือในเว็บไซต์ต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต จัดได้ว่าเป็นการผลิตรายการที่แทบไม่ต้องลงทุนลงแรง หลายรายการไม่ให้เครดิตหรือมีการระบุให้คนทั่วไปได้ทราบถึงผู้ที่เป็นเจ้าของภาพหรือเนื้อหาเหล่านั้น เสมือนหนึ่งว่า "เป็นการชุบมือเปิบ" และมักจะเพียรหาข้อแก้ตัวเมื่อเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์

ผมไม่ห้ามการทำรายการโดยไปหยิบเอาเนื้อหาที่มีผู้อื่นทำการเผยแพร่อยู่แล้วมาเผยแพร่ต่อ แต่วิจารณญาณของผู้เกี่ยวข้องควรให้น้ำหนักกับเรื่องที่สร้างความสุข จรรโลงใจ สร้างคุณูปการให้กับส่วนรวม มากกว่าการผลิตซ้ำ หรือเขียนให้ได้อ่านเพื่อเข้าใจตรงกันว่า "การผลิตซ้ำความรุนแรงหรือเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม" จัดเป็นการซ้ำเติมทั้งสังคมส่วนรวมและคู่กรณีที่เกี่ยวข้องอย่างน่าเห็นใจ เพราะคนที่นำมาโพสต์หรือนำมาเผยแพร่ในภายหลังถือเป็นปลายทาง แต่สำหรับสื่อกระแสหลักทั้งหลาย ซึ่งจัดว่าเป็นองค์กรขนาดใหญ่และมีผลประกอบการค่อนข้างมาก ไปกระทั่งสูงมาก น่าจะมีมุมมองความคิดความอ่านเป็นตัวของตัวเอง ไม่ไปยึดติดกับความเชื่อเรื่องของ “เรตติ้ง” กระทั่งลืม “สารัตถะ” หรือเนื้อหาสาระของสิ่งที่ตนเผยแพร่ เราจะได้ช่วยกันแก้ไขการใช้สื่อในทางสร้างกระแสแบบขาดความรับผิดชอบที่ดีต่อส่วนรวมเช่นที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้