การเมืองสมัยพระนารายณ์-พระเจ้าเสือในสายตาฝรั่ง***

การเมืองสมัยพระนารายณ์-พระเจ้าเสือในสายตาฝรั่ง***

ในสมัยพระนารายณ์มหาราช คณะมิชชันนารีฝรั่งเศส นิกายโรมันคาทอลิกได้เดินทางเข้ามาอยุธยาในปี พ.ศ. 2205 และได้ทำการบันทึกความเห็น

เกี่ยวกับการเมืองภายในอยุธยา สิ่งที่พวกเขาสังเกตได้ชัดเจนก็คือ ความขัดแย้งระหว่างเจ้านายกับขุนนางอันนำไปสู่การลอบสังหารพระนารายณ์ และพระนารายณ์ก็ทรงโต้ตอบการลอบสังหารครั้งนั้นอย่างเด็ดขาดด้วยการประหารวังหน้า มิชชันนารีได้บันทึกไว้ด้วยว่า ถึงแม้พระองค์จะมีความโหดเหี้ยมในการรับมือกับปัญหาทางการเมือง แต่พระองค์ก็ยังทรงรักษาภาพลักษณ์ของการ เป็นกษัตริย์นักบุญผู้เคร่งศาสนาไว้ได้อย่างแนบเนียน" 

ดังที่ Turpin ผู้แก้ไขตรวจทานบันทึกดังกล่าวในชื่อ Histoire civile et naturelle du royaume de siam ได้ถอดความไว้ว่า พระองค์มีความโน้มเอียงที่จะมีมนุษยธรรม แต่ก็โหดเหี้ยมด้วยนโยบาย พระองค์เข้าใจดีว่าพระองค์จะต้องถืออาวุธในมือเสมอเพื่อให้ผู้คนสยบยอม และพร้อมที่จะปราบปรามเมื่อพวกเขาไม่หวาดกลัวและต่อต้านพระองค์’” ต่อมาในปี พ.ศ. 2230 ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ได้เดินทางมาเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและส่งเสริมการค้าของฝรั่งเศสในอยุธยา 

ลา ลูแบร์ได้เขียนบันทึกส่งกลับไปให้ราชสำนักฝรั่งเศส อันเป็นที่มาของงานเขียนชิ้นสำคัญที่ชื่อว่า Du Royaume de Siam ที่ถือว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา ในบันทึกของลา ลูแบร์ ได้กล่าวถึงวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี และการปกครองของอยุธยาไว้อย่างละเอียด มีบทที่ว่าด้วย การดำเนินนโยบายอันโหดเหี้ยมของกษัตริย์อยุธยา และ ภาพลักษณ์ทางศาสนาของกษัตริย์อยุธยา โดยลา ลูแบร์ สรุปว่า กษัตริย์ของอยุธยามีนโยบายการรักษาอำนาจที่โดดเด่นนั่นคือ ทำให้ประชาชนกลัวมากกว่าทำให้ประชาชนรัก และไม่ไว้วางพระทัยขุนนางคนใดเลย และเพื่อรักษาไว้ซึ่งพระราชอำนาจ พระองค์พร้อมที่สังหารทุกคน แต่พระองค์จะแสดงทีท่าที่เมตตาในยามที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน 

ขณะเดียวกัน ลา ลูแบร์ ได้กล่าวถึงข้อเสียของชาวอยุธยา เช่น เชื่อโชคลางอย่างหนัก โลภ เกียจคร้าน ไม่ใฝ่รู้ ขุนนางยักยอกเงินหลวง ฯลฯ และเขาแสดงความเชื่อมั่นว่า เมื่ออยุธยาได้เปลี่ยนเป็นคริสเตียนแล้ว ปัญหาต่างๆเหล่านี้จะหมดไป จึงไม่แปลกที่ว่าเหตุใดคณะทูตชาวตะวันตกทั้งหลายโดยเฉพาะจากฝรั่งเศส จึงนิยมบรรยายพฤติกรรมของกษัตริย์อยุธยาว่าเป็นพวกนอกรีต และเมื่อคนเถื่อนในอยุธยาถูกปกครองโดยเจ้าที่นอกรีต ก็ย่อมเป็นเหตุให้ฝรั่งเศสฉวยโอกาสหาเป็นข้ออ้างเข้าไปแทรกแซงเพื่อเผยแพร่คริสต์ศาสนาและขยายแขนขาในดินแดนแถบนั้นได้ง่ายขึ้น 

 ในสมัยแผ่นดินพระเจ้าเสือหรือพระเจ้าสรรเพชญ์ที่ 8 ได้ปรากฏจดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสเช่นกัน มีข้อความบางส่วนที่บาทหลวงเดอซีเซ กล่าวถึงบุคลิกของพระเจ้าเสือว่า “แลเพื่อจะได้ครองราชย์สมบัติให้เป็นสุขโดย ไม่มีใครมารบกวนนั้น พระมหาอุปราชจึงได้ประหารพระญาติของราชวงศ์เก่าจนหมดสิ้น การที่ทำเช่นนี้ก็ดำเนินตามแบบอย่างของเมืองอันเป็นมิจฉาทิฐินั้นเอง” การบรรยายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าเสือนั้นใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดในการกำจัดเชื้อสายของกลุ่มอำนาจเก่า พระองค์มิได้คำนึงถึงความถูกผิดทางศีลธรรมและความเป็นมิตรที่มีอยู่ก่อน พระองค์พร้อมจะกำจัดเจ้าพระยาสุรสงคราม ผู้เป็นมิตรเก่าแก่ได้ทันทีหากเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ของพระองค์ 

ยิ่งไปกว่านั้น แต่เดิมทีที่พระองค์และพระเพทราชารังเกียจฝรั่ง และเมื่อพระเพทราชาขึ้นสู่อำนาจ ก็มิได้เป็นมิตรกับฝรั่ง แต่เมื่อพระองค์ขึ้นสู่อำนาจ ก็กลับมาเป็นพันธมิตรกับฝรั่ง เพื่อรักษาไว้ซึ่งพระราชอำนาจของพระองค์ ดังที่พระองค์มีพระราชดำรัสแก่บาทหลวงฝรั่งเศสว่า “มีความนับถือประเทศฝรั่งเศสมาก ...สิ่งที่ ข้าพเจ้าจะทำให้พอพระทัยนั้นไม่มีอย่างใดยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าจะเป็นธุระช่วย ให้ไมตรีซึ่งเคยมีในระหว่างไทยกับฝรั่งเศสมาแต่ก่อนนั้น ได้คงมีอยู่ตามเดิม” 

แต่อย่างไรก็ดี พระองค์ก็เรียนรู้ที่จะแสดงท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับฝรั่งจนเกินไป อันจะนำไปสู่การเสื่อมเสียพระเกียรติของพระองค์ พระองค์จึง “แกล้งทำอิดออดต่าง ๆ แต่ความจริงนั้นทรงยินดีเป็นอย่างยิ่ง” เพื่อให้ข้าราชการอยุธยาไม่หวาดระแวงพระองค์เหมือนเมื่อครั้งสมัยพระนารายณ์ ซึ่งทำให้พระองค์สามารถรักษาพระราชอำนาจเอาไว้ได้ด้วยบุคลิกเช่นว่านี้ จึงทำให้ชาวตะวันตกมีความหวั่นเกรงและคิดหาทางใช้อุบายทางการเมืองกับพระองค์ 

ดังที่บาทหลวงเดอซีเซกล่าวว่า “บางทีถ้าได้ดำเนินการปอลิติกอย่างดีก็อาจจะทำให้เปลี่ยนพระนิสัยได้บ้างกระมัง” ผู้ที่ศึกษาในเรื่องนี้มีความเห็นว่า เราไม่อาจทราบได้ว่าคำว่า ปอลิติก (politic)” ของบาทหลวงฝรั่งเศสนี้หมายถึงอะไร ที่จะสามารถเปลี่ยนพระนิสัยของพระเจ้าเสือได้ และก็น่าสนใจว่า ในการเปลี่ยนนิสัยเจ้าผู้ปกครองต่างแดน ทำไมคณะบาทหลวงจะใช้การเมืองแทนที่จะใช้คำสอนทางศาสนา การที่บาทหลวงจำใจที่ต้องใช้วิธีการทางการเมืองเช่นนี้ ก็อาจเป็นไปได้ว่า ลำพังคำสอนทางศาสนาอาจจะไม่ได้ผลกับกษัตริย์ที่ช่ำชองในกุศโลบายทางการเมืองอย่างพระเจ้าเสือ 

เป็นไปได้ว่า พระองค์อาจจะซึมซับความชำนาญทางการเมืองนี้มาแต่ครั้งการเมืองในสมัยพระนารายณ์ หรือไม่ก็เป็นคุณสมบัติของผู้ที่เป็น เจ้าผู้ปกครองที่แท้ย่อมต้องมีอยู่เสมอ (ผู้เขียนคัดลอก-ปรับปรุง-ดัดแปลงและตัดทอนจากส่วนหนึ่งของ “การสร้างความนิยมและการตีความ เจ้าผู้ปกครองของมาคิอาเวลลีในบริบทการเมืองไทย วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาทฤษฎีการเมือง ระดับดีมาก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของ ดร. กานต์ บุณยะกาญจน อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย)

*** ชื่อเต็ม: เจ้าผู้ปกครอง: การเมืองสมัยพระนารายณ์-พระเจ้าเสือในสายตาฝรั่ง