มาตรการทางเลือกในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก

มาตรการทางเลือกในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก

ปัจจุบันสินค้าพลาสติกกลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ เนื่องจากสิ่งของรอบตัวเราโดยส่วนมากต่างผลิต

หรือมีส่วนผสมมาจากพลาสติกทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น แก้วกาแฟ ขวดน้ำดื่ม ขวดเครื่องดื่มชาเขียว หรือกล่องใส่อาหารชนิดใช้ครั้งเดียว เป็นต้น สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นต่างอาศัยความมีประโยชน์ของพลาสติกเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคหรือแม้กระทั่งผู้ผลิตสินค้า เนื่องจากผู้บริโภคเป็นส่วนมากต่างเห็นว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกดังกล่าวข้างต้นมีความสะดวกในการใช้สอยมากกว่า ในขณะเดียวกันผู้ผลิตมีความจำเป็นต้องเสนอสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคเช่นเดียวกัน หาไม่แล้วผู้บริโภคอาจไม่ซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตได้

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างมีความเคยชินกับการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือมีส่วนผสมมาจากพลาสติกทั้งสิ้นด้วยเหตุผลเรื่องอรรถประโยชน์ อย่างไรก็ดีไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ข้างต้นจะกลายเป็นขยะพลาสติกในอนาคต ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนอีกด้วย ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง กรณีการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap seal) ซึ่งในอดีตผู้บริโภคทุกคนรวมถึงผู้เขียนต่างเคยชินกับการฉีกพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มก่อนที่จะดื่มน้ำจากขวดน้ำพลาสติก ไม่ว่าการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มจะมีขึ้นด้วยเหตุผลใด

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง มีความเห็นว่า ขวดน้ำดื่มที่มีการหุ้มฝาขวดด้วยพลาสติกมีรูปลักษณ์ทางผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าขวดน้ำที่ไม่มีการหุ้มฝาขวดด้วยพลาสติก และในขณะเดียวกันการเปิดขวดน้ำดื่มก็มีขั้นตอนยุ่งยากมากขึ้น อีกทั้งในบางกรณีแม้ผู้เขียนจะทิ้งพลาสติกหุ้มฝาขวดลงถังขยะแล้วก็ตาม แต่ด้วยแรงลมและสภาพแวดล้อมกลับทำให้ขยะดังกล่าวหลุดหล่นหรือปลิวกระจายไปได้ ซึ่งในที่สุดแล้วหลายฝ่ายต่างยืนยันตรงกันว่า การใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มน่าจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า ดังนั้นภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมลงนามความร่วมมือเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มดังปรากฏเป็นข่าวสารบ้านเมืองเมื่อไม่นานมานี้

จากกรณีดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าจะมีมาตรการที่หลากหลายในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกประเภทต่าง ๆ รวมถึงพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มก็ตาม แต่ภาครัฐได้ตัดสินใจแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการเลือกใช้มาตรการแบบสมัครใจ โดยขอความร่วมมือภาคเอกชนที่เป็นผู้ผลิตน้ำดื่มให้เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม แต่ในอีกทางหนึ่ง ภาครัฐสามารถบังคับใช้มาตรการในเชิงบังคับได้เช่นเดียวกัน เช่น การออกประกาศกำหนดห้ามใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม หากมีผู้ฝ่าฝืนจะต้องรับโทษตามกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งมาตรการเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตโดยตรง นอกจากนี้อีกหนึ่งมาตรการที่หลายฝ่ายมีความเห็นว่ามีประสิทธิภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามาตรการข้างต้นคือ มาตรการจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติก

มาตรการจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกมีเป้าหมายในการลดการใช้และลดการเกิดขยะพลาสติก โดยมีการจัดเก็บภาษีในขั้นตอนการผลิตจากผู้ผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์และมีการผลักภาระภาษีให้แก่ผู้บริโภค ผู้บริโภคจึงต้องรับภาระภาษีในที่สุด เนื่องจากเป็นผู้ใช้ปลายทางที่ก่อให้เกิดขยะพลาสติก หรือในบางกรณีมีการจัดเก็บภาษีจากผู้บริโภคปลายทางได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ภาษีถุงพลาสติก (Plastic shopping bag levy) หรือภาษีห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ (Packaging tax) เป็นต้น

ทั้งนี้ในกรณีพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มนั้น หากปรากฏว่าภาครัฐตัดสินใจบังคับใช้มาตรการในเชิงบังคับด้วยการออกประกาศกำหนดห้ามใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม หากมีผู้ฝ่าฝืนจะต้องรับโทษปรับหรือจำคุกตามกฎหมายนั้นดูจะไม่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตสินค้าเท่าใดนัก เนื่องจากการฝ่าฝืนใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มไม่ควรจะเป็นความผิดถึงขึ้นต้องจำคุกตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันหากภาครัฐตัดสินใจบังคับใช้มาตรการจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มแล้ว หลายฝ่ายคงมีความเห็นในทางที่ว่า ไม่ควรจัดเก็บหรือควรจัดเก็บภาษีหรือธรรมเนียมจากขวดพลาสติกมากกว่าพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ดังนั้นการใช้มาตรการแบบสมัครใจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกรณีข้างต้นจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

แต่อย่างไรก็ตามในอนาคตภาครัฐและประชาชนทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดจากขยะพลาสติกได้ ประกอบกับหากพิจารณาภาพกว้างในต่างประเทศแล้ว หลายประเทศมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการบังคับใช้มาตรการหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากผู้ก่อมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือแม้กระทั่งผู้บริโภค แต่สำหรับประเทศไทยแล้วการบังคับใช้มาตรการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายจะต้องมีการศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียให้ถี่ถ้วน เนื่องจากมาตรการเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้บริโภครวมถึงต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นกรณีการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มจึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการบังคับใช้มาตรการแบบสมัครใจเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก นอกเหนือจากมาตรการในเชิงบังคับรวมถึงมาตรการจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมซึ่งต้องอาศัยอำนาจของกฎหมาย ซึ่งในที่สุดแล้วผู้กำหนดนโยบายหรือภาครัฐจะต้องเลือกมาตรการที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

โดย... 

ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์