บางทีก็อยากเป็นคนขวางโลก

บางทีก็อยากเป็นคนขวางโลก

ช่วงนี้เขียนเรื่องสร้างบ้านพักตุลาการที่เชียงใหม่ติดๆ กันหลายวัน บางคนอาจสงสัยว่าจริงจังขนาดไหน เขียนอะไรไปก็ดูจะขวางโลกเขาไปหมด

จริงๆ แล้วไม่ได้จริงจังอะไรมากนักกับเรื่องสร้างบ้านพักตุลาการที่เชียงใหม่

แต่กลับมองว่าค่อนข้างไร้สาระ โลกในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่สมัยก่อนที่ข้าราชการไปทำงานต่างจังหวัดต้องขึ้นช้างลงม้าเดินทางข้ามวันข้ามคืน ผจญโรคไข้รากสาด โรคมาลาเรีย โรคอหิวาต์ กว่าจะถึงจุดหมาย

สมัยหนึ่งที่เรียนหนังสือที่สถาบันแถวท่าพระจันทร์ มีโอกาสได้ไปพักอาศัยอยู่กับอดีตอัยการมณฑล มีศักดินาเป็นพระยา ชื่อเรียกเต็มๆ ว่า พระยาอรรถพิทย์พิศาล ท่านอายุมากแล้วร่วม 90 ปี อยู่กับท่านก็ปรนนิบัติรับใช้ท่านที่เมตตาให้อาศัยอยู่บ้านหลังเล็กในบริเวณบ้านท่านแถวบางลำพู ใกล้กับสถาบันที่เรียนหนังสือ เรียกท่านว่า เจ้าคุณปู่ กับภรรยาท่านว่า เจ้าคุณย่า ว่างๆ ท่านก็เล่าเรื่องสมัยเป็นอัยการมณฑล อย่างที่พูดถึงนี่แหละ สมัยนั้นยังมีการปกครองแบบสมุหเทศาภิบาล มี เวียง วัง คลัง นา ข้าราชการทำงานต่างพระเนตรพระกรรณต้องไปประจำต่างจังหวัด ดูแลจังหวัดในหัวเมือง ท่านเป็นอัยการก็เหมือนกัน การเป็นอัยการมณฑลต้องดูแลคดีความในหลายจังหวัด การเดินทางไม่สะดวก ระบบเอกสารไม่ทันสมัย ยังไม่มีไฟฟ้า ประปา การทำหน้าที่อัยการมณฑลจึงมีความสำคัญ เพราะถ้าส่งมาให้ส่วนกลางพิจารณาคงใช้เวลานานกว่าเรื่องจะถึง จะส่งกลับคืน ศาลเองในสมัยโน้นก็เหมือนกัน จำเป็นต้องมีศาลมณฑลดูแลหลายจังหวัด รวมตลอดถึงงานด้านการศึกษาและสาธารณสุข และอื่นๆ ก็เหมือนกันหมด ต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงจากมณฑลเป็นเขต เป็นภาค ก็เรียกชื่อใหม่ตามที่ราชการตั้งขึ้น ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา การบริหารจัดการก็เหมือนเดิม ข้าราชการส่วนกลางถูกส่งไปกินเมืองตามหัวเมืองต่างๆ

นั่นมันเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ถามว่าเดี๋ยวนี้จำเป็นต้องเป็นอย่างนี้หรือไม่

ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่เกือบไร้ขีดจำกัด ด้วยพาหนะการเดินทางด้วยเครื่องบินแค่ลัดนิ้วมือ ด้วยการใช้เทเลคอนเฟอเรนซ์ประชุม ด้วยการส่งไฟล์เอกสารภายในชั่ววินาที ความรวดเร็วสะดวกสบายมหาศาลแบบนี้ จึงเป็นคำถามว่าจำเป็นที่เราต้องมีข้าราชการจากส่วนกลางไปนั่งทำงานที่ภาค ที่เขต ที่ต่างจังหวัดหรือไม่ เคยพูดหลายครั้งเมื่อเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงศึกษา กระทรวงสาธารณสุข ว่าถ้าเราใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เราก็ไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานการศึกษาพื้นที่ สำนักงานเขตสาธารณสุข สำนักงานภาค เพราะส่วนกลางสามารถประชุมกันได้ นอกจากบางครั้งที่ต้องลงตรวจงาน นั่งเครื่องบินแค่ชั่วโมงเดียวถึงหมด ค่าเครื่องบินก็ถูกมาก

กลับมาเรื่องศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่เชียงใหม่ ก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องมีที่ทำการศาลอุทธรณ์ที่นั่นเลย ศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นส่งขึ้นมาเมื่อคู่ความในคดีอุทธรณ์ การพิจารณาก็อ่านเอกสารหลักฐานที่นำสืบในศาลชั้นต้น ไม่ได้ลงไปสืบพยาน ไม่ได้ไปนั่งพิจารณา ไม่ได้ไปเดินเผชิญสืบ แล้วทำไมต้องมีศาลอุทธรณ์ภาคโน้นภาคนี้ให้เปลืองเงินค่าก่อสร้าง

ที่ตลกก็คือ ปัจจุบันยังมีศาลอุทธรณ์บางภาคที่ยังอยู่กรุงเทพฯ อยู่ที่เดียวกับอาคารที่ตั้งศาลแขวง ถนนรัชดาภิเษก เพราะยังคงหาพื้นที่ในต่างจังหวัดไม่ได้ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ก็แสดงว่าศาลอุทธรณ์ภาคไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ ถ้ามีสถานที่ทำงานที่ส่วนกลางก็ทำงานได้แน่นอน อยู่ส่วนกลางก็ไม่ต้องมีบ้านพัก ไม่ต้องเช่าบ้าน ไม่ต้องดูแลให้สวัสดิการอื่นๆ รวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เพราะอยู่ส่วนกลางต้องอยู่บ้านของตัวเอง จะซื้อหรือเช่าก็ว่าไป

โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่โครงสร้างการบริหารจัดการกระทรวง ทบวง กรมของราชการบ้านเรายังเหมือนสมัยเมื่อร้อยปี ไม่ได้พัฒนาอะไรเลย ปัจจุบันเมื่อมีเทคโนโลยีสื่อสารทันสมัย องค์กรก็ควรลดขั้นบังคับบัญชาลง ไม่ต้องเสนอเพื่ออนุมัติ สองสามขั้นตอน เพียงเพื่อกลั่นกรอง และไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มอะไรเลย รัฐบาลพยายามผลักดันประเทศไทยให้เป็น Thailand 4.0 เป็นประเทศ Hi Tech 4.0 แต่ระบบราชการเรายังเป็นเป็น Low Tech 1.0

ถึงได้แสดงความเห็นว่า เรื่องสร้างบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่เชียงใหม่นี่น่าจะยกเลิกไปทั้งหมด ไม่ต้องมีอาคารที่ทำการอะไรที่เชียงใหม่ ทำงานที่กรุงเทพก็ได้ ที่ศูนย์ราชการก็ได้ ส่วนพื้นที่ดินก็คืนเขาไป เขาจะรักษาป่าไว้เพื่อไปเก็บของป่า เก็บเห็ด บวชต้นไม้ สร้างแหล่งน้ำ อนุรักษ์ให้คนรุ่นหลัง ก็เป็นเรื่องของคนในพื้นที่ อย่าไปเสียเวลากับเรื่องไร้สาระเลย