จนกว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโต

จนกว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโต

เด็กๆ เล็กๆ สมัยนี้ ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับการขยายตัวของสื่อโซเชียล มีจำนวนไม่น้อยที่เรื่องราวชีวิตของพวกเขามีออนไลน์คอมมูนิตี้

ที่บรรดาพ่อแม่สร้างแบบเกาะกลุ่มกันไว้ สอดคล้องกับลักษณะร่วมกันบางอย่าง บ้างก็เป็นเดือน-ปีเกิด เช่น คลับมังกรน้อย (ต่อด้วย พ.ศ) เป็นเฟซบุ๊กหรือไลน์กรุ๊ปของเด็กที่เกิดเดือนมกราคม หรือบางทีก็เป็นการเจาะตามสถานที่ เช่น เด็กที่เกิด พ.ศ.เดียวกันในจังหวัดต่างๆ โดยความเคลื่อนไหวในช่วงแรกๆ มักจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงเด็กในวัยเดียวกัน ปรับทุกข์อย่างเข้าอกเข้าใจกันถึงความเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก และแชร์ความสุขจากการดูรูปลูกๆ ที่เติบโตอย่างมีพัฒนาการ บางกลุ่มเข้มแข็งถึงขนาดมีการพบปะสังสรรค์กันจริงๆ อย่างต่อเนื่อง

จนเมื่อเด็กๆ เริ่มเข้าสู่วัยอนุบาล กรุ๊ปใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นจากสังคมใหม่ๆ ที่ได้ไปสัมผัส เช่น กลุ่มห้องเรียนโรงเรียนอนุบาล,กลุ่มกิจกรรมตามความสนใจที่ไปเรียนเสริม เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ อย่างไรก็ตาม ที่สุดของกลุ่ม เพจ หรือชุมชนออนไลน์ที่พ่อแม่จำนวนมากมายเข้าไปคลุกคลีตีโมงมากขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นกลุ่มที่เน้นไปในแนวทางการศึกษาต่างๆ ที่พ่อแม่วาดหวังจะวางให้ลูก สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้พ่อแม่ทั้งหลายจะรักและหวังดีกับลูกของตัวเองเหมือนกัน แต่แนวทางของการศึกษาสมัยนี้ที่มีความแตกต่างและหลากหลายมาก ทำให้บางทีความเห็นต่างและสไตล์ที่ไม่เหมือนกันอันเนื่องมาจากค่านิยม เป้าหมาย และเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละครอบครัว

จริงอยู่ ทั้งความเหมือนและความต่าง ล้วนเป็นสิ่งธรรมดาประสาโลก ในแต่ละกลุ่มพ่อแม่ที่จับมือกันเป็นชุมชนออนไลน์ มักเป็นการรวมตัวของคนที่มีแนวทางความสนใจทางการศึกษาที่คล้ายคลึงกัน ยกตัวอย่างเช่น การเข้าเรียนชั้น ป.1อาจจะมีตั้งแต่แนววิชาการเน้นๆ,แนวบูรณาการ,แนวสาธิต,แนวทางเลือก,แนวโฮมสคูล,แนวสองภาษา,แนวอินเตอร์ ฯลฯ โดยแต่ละแนวเหล่าพ่อแม่ทั้งหลายผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน ก็จะมีการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารมากมาย ที่จะเป็นประโยชน์หรือส่งเสริมแนวทางที่แต่ละกลุ่มมุ่งมั่น เช่น แนววิชาการอาจมีการแชร์แนวข้อสอบของโรงเรียนดังต่างๆ ที่พ่อแม่อยากให้ลูกเข้าเรียน,แนวทางเลือก อาจแชร์เรื่องราวความสำเร็จของการเรียนการสอนจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ โดยไม่เน้นวิชการในช่วงวัยเด็กเล็ก เป็นต้น

เมื่อข้อมูลชุดหนึ่ง ถูกบรรจุและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ในกลุ่มของคนที่มีความคิดความเชื่อเดียวกัน แนวโน้มความ“เออออห่อหมก”ไปด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ ก็เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่หากข้อมูลชุดเดียวกัน เกิดอยู่ผิดที่ผิดกลุ่ม เช่น ออกไปสู่คนที่มีความนิยมแนวทางที่แตกต่าง ก็อาจนำมาสู่ความไม่เห็นดีเห็นงามด้วย หรือบางที เมื่อออกไปสู่กลุ่มมวลชนวงกว้าง ซึ่งย่อมมีความคิดความเชื่อและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ก็อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งขนาดย่อมๆ ได้ หรือบางทีอาจลุกลามกลายเป็นดราม่าเรื่องการศึกษาได้ และสิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นให้เห็นเป็นระยะๆ ในแวดวงโซเชียล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังเหตุการณ์ประกาศผลสอบต่างๆ ที่มีคนสนใจเป็นจำนวนมาเรื่องเด็กๆ จึงอาจไม่ใช่เรื่องเล็กๆหากการยอมรับความแตกต่างของแต่ละคน หรือแต่ละคอมมูนิตี้ ไม่กว้างพอ

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ไม่มีสิ่งใดดีพร้อม หรือไม่มีสิ่งใดเลวหมด ในดีมีด้อย นอกจากนี้ ตัวแปร เงื่อนไข โลกทัศน์ เป้าหมาย ของแต่ละครอบครัวก็มีไม่เหมือนกัน ข้อจำกัดบางอย่างมีมากน้อยต่างกัน เชื่อเหลือเกินว่าพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ย่อมมีความรักและปรารถนาดีกับลูกหลาน การสร้างเด็กคนหนึ่งให้เติบโตเป็นพลเมืองของชาติ และพลเมืองของโลกอย่างมีคุณภาพ และมีความสุขนั้น ต้องใช้เวลา พร้อมๆ กับต้องใช้หัวใจอันยิ่งใหญ่และเปิดกว้างของพ่อแม่ผู้ปกครองให้จงหนัก

เด็กๆ โตขึ้นทุกวัน และโลกของเราก็เปลี่ยนขึ้นทุกวัน